ต้นตอข้าวขาดแคลน ทำราคาพุ่งทั่วโลก

ตอนนี้ ดูเหมือนโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่แพงมากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง สำนักข่าวเอพีได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ว่า ที่ประเทศเคนยาตอนนี้ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาปุ๋ยที่เพิ่งสูงขึ้น และภาวะแห้งแล้งที่ยาวนานในจะงอยแอฟริกา หรือแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีกำลังการผลิตที่ลดลง

โดยมีการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการนำเข้าข้าวราคาถูกจากประเทศอินเดีย ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของการขาดแคลนข้าว ที่ช่วยชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ในสลัมของกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือไม่ถึง 70 บาทต่อวัน!!

แต่ตอนนี้ ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป เพราะราคาข้าวกระสอบ 25 กิโลกรัม ได้ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ใน 5 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จาก 14 ดอลลาร์สหรัฐ พุ่งสูงขึ้นเป็น 18 ดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งผู้ค้าส่งเองก็ยังไม่ได้รับสต๊อกข้าวมาใหม่ นับตั้งแต่อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกมาแจ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จะจำกัดการส่งออกข้าวในบางส่วน

ทั้งนี้ ถือเป็นความพยายามของอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในการควบคุมราคาข้าวในประเทศ ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวดังกล่าว ทำให้ข้าวในตลาดโลกหายไปราว 9.5 ล้านเมตริกตัน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกข้าวทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศเคนยา ที่กำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร แต่วิกฤตดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลมาตั้งแต่รัสเซียระงับข้อตกลงที่อนุญาตให้ยูเครนสามารถส่งออกข้าวสาลี และยังมีเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตข้าว

ทำให้ตอนนี้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามที่พุ่งสูงขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่งผลให้กลุ่มคนเปราะบางในบางประเทศที่ยากจนที่สุด ตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากขาดแคลนอาหาร

ก่อนหน้าการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย หลายประเทศก็มีการแห่ซื้อข้าวอย่างบ้าคลั่ง เนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้ผลผลิตข้าวน้อยลง การแห่ซื้อข้าวดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอุปทาน และส่งผลทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น

และสิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ก็คือ หากอินเดียแบนส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ที่ทำให้ประเทศอื่นทำตาม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว เพื่อรักษาสต๊อกข้าวในประเทศเอาไว้

 

อีกหนึ่งภัยคุกคาม ก็คือสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ที่จะทำลายพืชพันธุ์ข้าวในประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นภาวะโลกร้อนตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นชั่วคราว และเป็นครั้งคราว ในมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกให้มีความรุนแรงมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น จะขยายไปสู่ระดับที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่แล้งสุด จนถึงอุทกภัยใหญ่

ผลกระทบเหล่านี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยการบริโภคข้าวในทวีปแอฟริกา ได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวเป็นส่วนมาก ขณะที่ประเทศที่มีประชากรเพิ่มขึ้น อย่างเซเนกัล ก็พยายามที่จะหันมาปลูกข้าวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่กำลังดิ้นรนแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ ประเทศเซเนกัลนำเข้าข้าวจากประเทศอินเดีย คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของข้าวที่นำเข้าทั้งหมด ซึ่งข้าวจากอินเดียตอนนี้ก็แพงขึ้นมากในเซเนกัล ชาวบ้านต้องเริ่มหันมากินข้าวที่ปลูกกันเอง ซึ่งมีราคาราว 2 ใน 3 ของราคาข้าวที่ซื้อจากอินเดีย

ตอนนี้ เซเนกัลจึงต้องเตรียมหันไปพึ่งคู่ค้ารายอื่นๆ อย่างเช่น ไทย หรือกัมพูชา เพื่อนำเข้าข้าวแทน

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชีย ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตข้าวและกินข้าว คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการผลิตข้าวเช่นกัน

อย่างฟิลิปปินส์เองก็กำลังพยายามบริหารจัดการน้ำในประเทศ อันเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาน้อย เนื่องจากผลกระทบเอลนีโญ ขณะที่ตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ในการปลูกข้าวแหล่งใหญ่ ถูกไต้ฝุ่นทกซูรีพัดถล่มจนสร้างความเสียหายให้กับพืชพันธุ์ข้าว เสียหายไปราว 22 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด

ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอีกประเทศหนึ่ง หวังว่าจะได้ประโยชน์จากการที่อินเดียจำกัดการส่งออกข้าว และราคาส่งออกข้าวของเวียดนามตอนนี้ก็สูงสุดในรอบ 15 ปี และคาดว่าการผลิตต่อปีน่าจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย และขณะที่ต้องพยายามรักษาราคาข้าวในประเทศให้คงที่เอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมการส่งออกข้าวด้วย

โดยฟิลิปปินส์กำลังเจรจากับเวียดนาม เพื่อพยายามให้ได้ข้าวในราคาที่ถูกลง

ส่วนประเทศไทยเองก็มีการคาดการณ์ว่า จะสามารถส่งออกข้าวได้มากกว่าปีที่แล้ว โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 15 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การขาดความชัดเจนที่ว่า อินเดียจะทำอะไรต่อไป และความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้ทำให้ผู้ส่งออกของไทยไม่เต็มใจที่จะรับคำสั่งซื้อเท่าไหร่ เนื่องจากราคาที่มีความผันผวน

และไม่รู้ว่าต้องเสนอราคาเท่าใด เนื่องจากราคาที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก