ไม่มีความบังเอิญในความเหลื่อมล้ำ : รัฐพันลึกที่ปฏิเสธความเท่าเทียม

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

ไม่มีความบังเอิญในความเหลื่อมล้ำ

: รัฐพันลึกที่ปฏิเสธความเท่าเทียม

 

ผมมักมีคำถามกับตัวเองอยู่เสมอที่เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ พูดถึงความไม่เท่าเทียม อันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อันเป็นสิ่งที่ทุกคนยังเบือนหน้าหนีเวลาพูดถึงมัน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวหรือคนรู้จัก

เป็นสิ่งที่เราอยากให้พัดผ่านหลังคาบ้านของเราไป ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง

แต่ในโลกนี้อย่างน้อยที่สุดในหลายสิบปีที่ผ่านมาทุกอย่างมันดูตรงกันข้าม

ถ้าสิ่งที่เราไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้นและรังเกียจมัน แต่มันกลับทวีคูณมากขึ้น ใหญ่โตมากขึ้น และคร่าชีวิตของผู้คนมากขึ้น

มันน่าที่เราจะกลับมาตั้งคำถามว่า ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมเรามันเป็นอุบัติเหตุ

เป็นความบังเอิญ หรือแท้จริงมันเป็นความตั้งใจ

ในบทความนี้จะฉายเหตุผลให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติในสังคมไทยว่าไม่ได้เป็นความบังเอิญ ไม่ได้เป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขาดความเข้าใจ

แต่ล้วนเป็นความตั้งใจ เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำอนุรักษนิยม ชนชั้นนำทางการเมือง หรือว่าชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ต้องการจะรักษาความเหลื่อมล้ำตัวนี้ไว้

 

ความบังเอิญที่ประเทศไทยยังไม่พร้อม

หรือความตั้งใจในการประดิษฐ์วาทกรรม

คําว่าไม่พร้อมกับการมีชีวิตที่ดี เป็นวาทกรรมสำคัญที่ถูกสร้างมาโดยตลอดโดยชนชั้นนำทุกยุคทุกสมัย

ตั้งแต่ยุคทาส ทาสก็ถูกอธิบายว่าไม่พร้อมที่จะมีชีวิตอิสระ

ยุคเกษตรกรรมก็มีคำอธิบายว่าชาวนาไม่พร้อมที่จะเก็บดอกผลในที่นาของตนเอง

ยุคอุตสาหกรรมก็บอกว่าผู้ใช้แรงงานไม่สามารถกำหนดค่าจ้างเองได้

จนอยู่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเราก็จะพบว่าก็มีคำว่าไม่พร้อมต่างๆ อยู่เช่นเดิม

แต่ในจักรวาลคู่ขนานของความไม่พร้อมนั้นเราจะพบว่า ก็มีหลายพื้นที่ที่มีความพร้อมต่อการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชีวิตที่ดีได้

ในกรณีล่าสุดเราจะเห็นได้ว่า การที่สังคมไทยเดินหน้าต่อการสืบทอดอำนาจ กับขั้วอำนาจที่พยุงความเหลื่อมล้ำมากว่าทศวรรษ ก็ถูกสร้างคำอธิบายว่า คนไทยไม่พร้อม คนไทยไม่เข้าใจความซับซ้อนของระบบการเมือง

ทั้งๆ ที่พวกเขาร่ำรวยขึ้นมากมายมหาศาลภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาดที่ปล่อยให้คนจำนวนมากยากจน สิ้นหวัง ทำงานหนักและเป็นหนี้

พวกเขาพร้อมกับความมั่งคั่ง พร้อมกับการสืบทอดอำนาจอยุติธรรมข้ามภพข้ามชาติ พร้อมกับการคงค่านิยมเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์

แต่พวกเขากลับบอกว่าคนไทยไม่พร้อมอะไรเลยกับการมีชีวิตที่ดี

 

ความบังเอิญที่มีเรื่องอื่นสำคัญกว่าเสมอ

บางครั้งชนชั้นนำอาจสนใจต่อความเหลื่อมล้ำพอเป็นพิธีกรรม สนใจเหมือนเป็นนาฏกรรมของละครหลังข่าว จัดงานเสวนาวิชาการ จัดสัมมนา ศึกษาวิจัย อภิปรายในสภา แต่พอมีความยากจน ความเหลื่อมล้ำวางอยู่ตรงหน้าจริงๆ พวกเขาทำอะไรกับมันบ้าง

สิ่งที่พวกเขาจะอ้างอยู่เสมอคือ “บังเอิญมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า”

ในชีวิตของการขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการกว่า 20 ปีของผม น่าคิดอยู่เสมอว่า “ทำไมถึงมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าอยู่เสมอ”

ล่าสุดเราจะเห็นได้ว่า กระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พูดเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” มาอย่างยาวนาน จัดเสวนาหลายครั้ง ประชุมหลายวาระ

แต่พอมีเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่วางอยู่ตรงหน้าพวกเขากลับเมินเฉย ไฟล์ตารางงบประมาณของพวกเขานิ่งเงียบไม่เอ่ยอะไร และพูดสั้นๆ ว่าประเทศนี้มีอย่างอื่นที่ต้องทำ

จากประสบการณ์ของผม คนที่ต่อต้านการดูแลแรงงานข้ามชาติ ก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่ต่อต้านการดูแลชีวิตแรงงานไทย

คนที่ต่อต้านการดูแลผู้สูงอายุก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่ต่อต้านการดูแลเด็ก

กลุ่มที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศก็คือคนกลุ่มเดียวกันกับที่ต่อต้านสิทธิลาคลอด เพราะฉะนั้น ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับประชาชนที่สำคัญกว่ากันในสายตาของพวกเขา เพราะอะไรที่เกี่ยวกับกับประชาชน “ล้วนไม่สำคัญทั้งนั้น”

ดังจะเห็นได้ว่า นโยบายตัดเบี้ยผู้สูงอายุ ไม่เคยเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใด แต่กลับกลายเป็นนโยบายแรกที่ได้ทำก่อนมีรัฐบาลเสียอีก

 

ความบังเอิญที่ตัวเลขและข้อมูล

เพียงพอสำหรับความมั่นคง

และไม่เพียงพอสำหรับชีวิตประชาชน

ความบังเอิญสำคัญพวกเขามักจะพร่ำบอกว่าพวกเราโชคร้ายที่ฐานข้อมูลต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการลดความเหลื่อมล้ำ นับเป็นความบังเอิญที่ผมได้ยินมามากกว่าสิบปี จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่ความคิดนี้เป็นความคิดที่ประหลาดมาก เพราะหากปรีดี พนมยงค์ ต้องคอยฐานข้อมูลความไม่พอใจและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หรือหลายประเทศที่พัฒนาระบบสวัสดิการก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก

เรากำลังพูดถึงอะไรที่ว่าเราไม่พร้อมสำหรับการทำสังคมที่เท่าเทียม ในยุคที่การเก็บข้อมูลต่างๆ ล้วนก้าวหน้าอย่างมาก

เรากังวลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนคน

กังวลกับเบี้ยผู้สูงอายุ หลักร้อยหลักพัน ว่าเรายังขาดข้อมูลเพียงพอ

แต่เรากลับมีทหารประจำการและตำรวจปาไปครึ่งล้านคน มาหลายทศวรรษโดยที่ไม่ได้มีข้อมูลอะไรรับรอง

มันจึงไม่ใช่เรื่องข้อมูล หรือความไม่พร้อม มันก็เพียงแค่ว่าเรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง

 

โดยสรุปแล้วสิ่งที่เราจะเห็นคือ มันไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใดสำหรับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

มันมีคนที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้

ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางสังคม

ผลประโยชน์จากอำนาจทางการเมือง

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

มันล้วนคือความตั้งใจที่สะท้อนความปรารถนาในการรักษาสภาพนี้ต่อไป

ดังนั้น เมื่อมันไม่ใช่อุบัติเหตุ หรือความบังเอิญ ประชาชนธรรมดาก็สามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเหล่านี้ได้เช่นกัน

เราแค่ตะโกนดังๆ ว่าเราพร้อมสำหรับสังคมที่ดีกว่านี้ เท่าเทียมกว่านี้ และบอกอภิสิทธิ์ชนให้เลิกคิดแทนพวกเรา