ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ณ ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ยังไม่รู้ผลการโหวตนายกฯ ว่าแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ และไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะสำเร็จดังที่หวัง
พร้อมๆ กับที่บุคลากรพรรคหลายคนทั้งแสดงท่าทีและทั้งประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องการยุติบทบาทกับพรรคเพื่อไทย และคนที่สำคัญที่สุดคือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการรับรู้ของสังคม ณัฐวุฒิ คือสัญลักษณ์ที่การันตีว่าพรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคที่ยืนเคียงข้างประชาธิปไตย ยังเป็นพรรคที่ยืนอยู่กับขบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
และในสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยพลิกขั้วไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม หรือที่รู้จักกันในนามของขั้ว “นั่งร้านเผด็จการ” สังคมก็จับจ้องว่า นักการเมือง “น้ำดี” นักการเมืองที่มีโปรไฟล์ ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาลุง อย่างณัฐวุฒิ หรือ จาตุรนต์ ฉายแสง จะตัดสินใจอย่างไร
และสำหรับฉันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่ท้ายที่สุดณัฐวุฒิต้องประกาศยุติบทบาทของตัวเองกับพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยและได้ให้สัญญากับประชาชนว่าพรรคเพื่อไทย “ไม่เอาลุง” ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ
ส่วนตัวฉันก็ถูกสังคมตั้งคำถามเยอะมากว่า “เมื่อไหร่จะเลิกแบกพรรค”?
ฉันคิดว่าคำถามนี้ตอบได้สองระดับ
ระดับที่เป็นอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ฉันคิดว่านี่คือจุดที่พรรคเพื่อไทยตกต่ำที่สุดในแง่ของกระแสความนิยม และการถูกต่อต้าน ด่าทอ ประณาม บอยคอตจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนผู้มีสติปัญญา อุดมการณ์ และมีกระดูกสันหลัง
ในฐานะปุถุชนคนหนึ่งที่ผูกพันกับพรรคการเมืองนี้ ฉันแค่รู้สึกว่า ฉันจะไม่มีวันทิ้งใครไปในวันที่เขาตกต่ำที่สุด ในวันที่มีคนรักเขาน้อยที่สุด ในวันที่เขาเหลือความชอบธรรมในสายตาสาธารณชนน้อยที่สุด
อาจจะฟังดูโง่ แต่มันเรียบง่ายแบบนั้น
ในระดับของหลักการและอุดมการณ์ ฉันมีคำตอบให้ตัวเองว่า ถึงที่สุดแล้ว ฉันก็ไม่ใช่คนที่ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์หรอก ฉันเป็นคนที่เล็งผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าจะยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรม
อ้าว แล้วที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 คืออะไร?
คําตอบง่ายๆ อีกเช่นกันคือ ฉันออกมายืนยันกับสังคมว่า นักการเมืองจะเลวแค่ไหน พรรคการเมืองจะเลวแค่ไหน เราจะไม่แก้ไขปัญหานั้นด้วยการรัฐประหาร
เราจะไม่เผาบ้านทั้งหลังเพื่อไล่หนูตัวเดียว เพราะสำหรับฉัน ประชาธิปไตยหมายถึงการอยู่กับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องแล้วเคารพเสียงข้างมาก ด้วยตรรกะที่ว่า เมื่อรัฐบาลมาจากประชาชนเขาย่อมมี accountability ต่อเสียงที่เลือกเขาเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะทำงานในฐานะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาเป็นพรรคเพื่อไทย อย่างน้อยที่สุด ไม่เคยมีประวัติสั่งฆ่าประชาชน ไม่เคยมีประวัติตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ไม่เคยมีประวัติแพ้เลือกตั้งแล้วออกมาก่อม็อบเรียกทหารออกมายึดอำนาจ
มิพักต้องพูดว่าเป็นพรรคที่ถูกรัฐประหาร ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ มาโดยตลอด
ไม่เพียงแต่เป็นพรรคที่ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจากอำนาจของระบอบและโครงข่ายกลุ่มการเมืองในปีกอนุรักษนิยมเดิม พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคที่ถูกเกลียดชังจากปัญญาชน นักคิด นักเขียน ปัญญาชนคนชั้นกลางมากที่สุดพรรคหนึ่งของไทย ถูกตราหน้าว่าเป็นพรรคที่มีแต่เรื่องปากท้อง ไม่มีอุดมการณ์ เป็นพรรค “ประชานิยม” เป็นเผด็จการรัฐสภา เรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ฝ่ายขวาก็เห็นเป็นขวากหนาม ฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าก็มองว่าเป็นอุปสรรคของพัฒนาการประชาธิปไตย
ส่วนตัวพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ตั้งใจจะมาเป็นพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ แค่อยากชนะการเลือกตั้งและมีอำนาจรัฐบริหารประเทศไปเรื่อยๆ
แต่ตกกระไดพลอยโจน ถูกรัฐประหารไปสองครั้งต้องสู้ และการลุกขึ้นมาสู้ก็ต้องสถาปนาสถานะพรรคฝ่าย “ประชาธิปไตย” ให้กับตัวเอง
และใช้สถานะนี้เพื่อชนะการเลือกตั้งและเข้าสู่อำนาจรัฐอีกครั้ง
ฉันต้องพูดอีกครั้งว่าเราควรดีใจที่การขับเคี่ยวกับ “เผด็จการ” ของสังคมไทยไม่ได้สูญเปล่าเลย เมื่อปัญญาชนปีกก้าวหน้าในประเทศไทยเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่คำตอบ ก็ได้ก่อร่างสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์ของตนเองขึ้นมาจนสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน นั่นคือ พรรคอนาคตใหม่ หรือก้าวไกลในวันนี้
เป็นห้วงเวลาที่สังคมไทยควรอนุญาตให้ตัวเองดีใจว่า วันนี้มีพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งทั้งจากปีกประชาธิปไตยนุรักษนิยมคือเพื่อไทย พรรคการเมืองจากปีกคนหัวก้าวหน้าคือก้าวไกล และพรรคการเมืองที่เป็นมรดกขององคาพยพของกลุ่มอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็น รวมไทยสร้าชาติ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และพรรค “ภูมิภาค” เช่น ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย – ถ้ามองเห็นตัวแทนของกลุ่มคนหลากหลายขนาดนี้ลงสู่สนามการเลือกตั้ง ฉันกลับเห็นว่ากระบวนการสร้าง หรือกลายเป็นประชาธิปไตยของเรามีหวัง
หากเราจะประคองให้เกิดการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง
ใช่ เราบอกว่าเราเกลียดภูมิใจไทย เกลียดพลังประชารัฐ เกลียดรวมไทยสร้างชาติ เราไม่อยากมีสองลุง แต่วิธีที่จะไม่มีสองลุง เมื่อ “ลุง” ลงเลือกตั้งคือ เฝ้าหวังว่า พรรคของสองลุงจะได้ ส.ส.เข้ามาสักสองคน สามคน
แต่ในเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ “ลุง” หนึ่งได้ ส.ส. 40 คน อีกลุง ได้ ส.ส. มา 36 คน ส่วนภูมิใจไทยได้มา 71 คน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มีคนเหล่านี้ที่เราเรียกว่า “นั่งร้านเผด็จการ” อยู่ในสมการ
และหากเราจะมองสิ่งที่เรียกว่า Transition to democracy หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือ Democratization กระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตย มันต้องเริ่มต้นจากการมี “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” เสมอ และฉันพูดและเขียนอยู่เนืองๆ ว่า สัญญาณที่ดีสำหรับประชาธิปไตยคือคือการที่
1. ประยุทธ จันทร์โอชา กับประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่อยู่ในเรือลำเดียวกัน และเพื่อจะมีชีวิตทางการเมืองต่อ ต้องเกาะเกี่ยวกับพรรคการเมืองและต้องพึ่งพิงพรรคการเมือง ไม่ใช่กองทัพ
2. ระบบบัตรเลือกตั้งที่เปลี่ยนมาเป็นบัตรสองใบ อย่างน้อย ส.ส.ที่เข้ามาทุกคน ไม่ใช่ ส.ส.ปัดเศษ และระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้เห็นเจตจำนงของประชาชนว่า อยากให้พรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาล
ในประเทศที่เผด็จการวางองคาพยพ กติกาเพื่อสืบทอดอำนาจไว้แน่นหนา การกลายมาเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เผด็จการออกแบบไว้ มีเงื่อนไขของความเป็นไปได้คือ
1. พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะแลนด์สไลด์
2. ทุกๆ พรรคได้เสียงมาไม่ต่างกันมาก และพรรคสืบทอดอำนาจมีคะแนนเสียงมากพอที่จะต่อรอง เช่น กรณีของประเทศไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้ เผด็จการจะยอมปล่อยอำนาจ ไม่กลับไปหา “วิธีพิเศษ” เช่น รัฐประหาร ใช้ตุลาภิวัฒน์ ยุบพรรคคู่แข่ง (แบบกัมพูชา) ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถเข้ามาแชร์อำนาจรัฐนั้นได้ ซึ่งเขาอาจจะใช้วิธีที่น่าเกลียด เช่น กรณีของไทยคือ ใช้เรื่อง ม.112 ผลักก้าวไกลออกไป เพื่อใช้พรรคเพื่อไทยเป็นหัว แล้วพ่วงเอาพรรคเหล่านั้นเข้ามาเป็นรัฐบาล
มองจากมุม “เผด็จการ” ด้วยหนทางนี้ พวกเขาใช้พรรคเพื่อไทยและการเลือกตั้งฟอกขาวให้ตัวเองให้ได้ชื่อว่า ต่อไปนี้ฉันไม่ใช่พรรคเผด็จการ ไม่ใช่พรรคนั่งร้านเผด็จการแล้วนะ ฉันเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยแล้ว
และถ้ามองจากมุมพรรคเพื่อไทยก็มองว่า ฉันเป็นพรรคอันดับสอง ฉันจะเป็นรัฐบาล ฉันจะเป็นนายกฯ พรรคที่เคยเป็นนั่งร้านเผด็จการต้องมาเจรจาต่อรอง เพื่อทำงานภายใต้การนำของฉัน รุกคืบไปทีละนิดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้นอกจากได้ชื่อว่า แน่วแน่เด็ดเดี่ยวในอุดมการณ์
ในฐานะประชาชน ฉันเห็นว่า พรรคเพื่อไทยได้รับเอา “ความผิด” ของการผสมพันธุ์ ข้ามขั้วนั้นไว้กับตัวเองไปเต็มๆ
ส่วนประชาชนอย่างเรา ยืนอยู่ข้างนอกจะด่าทอ สาปแช่งพรรคอย่างไรก็ย่อมเป็นสิทธิ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยก็ไปรับความเสี่ยงกับคะแนนนิยมเอาเอง มิหนำซ้ำยังต้องพยายามทำงาน สร้างผลงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือ และเพื่อเอามาอธิบายกับประชาชนให้ได้ว่าทำไมต้องข้ามขั้ว
ในแง่นี้ฉันเห็นว่าประชาชนมีแต่ได้ ไม่เสีย
ถ้าเราอยู่กับประยุทธ์และประวิตรมาแปดปีเก้าปีได้ รัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น สมมุติว่าเป็นนายกฯ ที่มาจากเพื่อไทย อย่างน้อย accountability ที่มีต่อประชาชนก็มากกว่านายกฯชื่อประยุทธ์
ครม.ใหม่ อย่างน้อยก็มีสัดส่วนของเพื่อไทยเข้าไปอยู่ในนั้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นขั้วเดิมๆ เพิ่มเติมคืองูเห่า
โจทย์ต่อไปสำหรับคนที่เห็นว่าเพื่อไทยตระบัดสัตย์ ทรยศต่ออุดมการณ์ ก็คือลงมือปิดสวิตช์เพื่อไทย และทุกคนที่เราไม่ชอบผ่านการเลือกตั้ง
Democratization คือการทำให้ทุกคนเข้ามาเล่นในเกม ประยุทธ์ ประวิตรเคยทำรัฐประหาร เป็นความจริง
ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์เคยเป็นนั่งร้านเผด็จการ เป็นความจริง
แต่ประยุทธ์ ประวิตร ตั้งพรรคการเมือง และลงเลือกตั้งก็เป็นความจริงเช่นกัน
กลุ่มเครือข่ายเผด็จการเดิมใช้พรรคเพื่อไทยฟอกขาวตนเองเข้ามาเป็นรัฐบาลก็เป็นความจริง
แต่รัฐบาลที่เราได้มา อย่างน้อยก็เป็นรัฐบาล นี่ก็เป็นความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน
ประชาธิปไตยคือกระบวนการทางการมืองที่ไม่มีที่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็ไม่การันตีผลลัพธ์ที่สวยงาม ท้องฟ้าไม่เป็นสีทองผ่องอำไพ แม้จะเป็นประชาธิปไตยไปแล้วหลายทศวรรษ เศษซาก องคาพยพที่เคยข้องแวะกับเผด็จการก็มีโอกาสกลับมามีอำนารัฐผ่านการเลือกตั้งเสมอ
การด่าทอ โจมตีของพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างเผ็ดร้อนไม่เผาผีกันก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย
ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในแทรกนี้ ไม่มีนายกฯ “คนนอก” ไม่มีการรัฐประหาร ก็ถือว่าสังคมไทยเรามาไกลพอสมควรแล้ว
ถามต่อว่า แล้วทำไมก่อนหน้านี้ฉันไม่พูดแบบนี้
คำตอบง่ายๆ คือ ฉันไม่คิดว่าทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.มาเยอะขนาดนี้ และมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับคำว่าแลนด์สไลด์ ไปจนถึงเชื่อว่า 312 เสียงขั้วเดิม จะทำให้ ส.ว.โหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ
ขอยอมรับว่า ผิดไปแล้ว
และเมื่อเลยเถิดมาถึงขนาดนี้ฉันก็เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลดีกว่าไปเป็นฝ่ายค้าน และหวังใจให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในสมัยหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022