เขียว สัมพัน : ‘จุดยืนกัมพูชา’ กับ ‘คำพิพากษาครั้งสุดท้าย’

อภิญญา ตะวันออก

เกริ่น

เขาคือ มรดกเขมรแดงลำดับสุดท้ายที่ยังมีชีวิตและพยายามทำสิ่งที่เหลืออยู่ให้บรรลุเป้าหมาย…ต่อภารกิจสุดท้ายสำหรับเขียว สัมพัน (สมพอน) ผู้กลายเป็นนักโทษคดีอาญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนของระบอบเขมรแดง บัดนี้ถูกย้ายไปอยู่ ณ เรือนจำแห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล

หลังสิ้นสุดการไต่สวนอันยาวนานของศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงพนมเปญเมื่อปลายปีที่แล้ว เขียว สัมพัน ในวัย 92 ปี (2474) สุขภาพแม้จะทรุดโทรมไปตามวัย แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ละทิ้งความใฝ่รู้เหมือนสมัยหนุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปัญญาชนคนหนึ่ง

ด้วยเหตุนั้น เมื่อทนายความเขียว สัมพัน ยื่นเรื่องต่อทางการว่าลูกความของตนต้องการ “คอมพิวเตอร์” เครื่องเก่าที่เคยใช้งานสมัยขึ้นศาลอาญาเขมรแดง จึงสร้างความประหลาดใจแก่ผู้คน รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวเขมรบางฝ่าย

ที่เห็นว่า แม้ขณะต้องโทษและทรุดชรา แต่เขียว สัมพัน มีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตในเบื้องปลายสุดท้ายอย่างสุดกำลัง ด้วยเหตุว่า คอมพิวเตอร์พกพาที่เขาร้องขอต่อทางการนั้น เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับ

งานเขียนเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา!

1.เกิดจังหวัดสวายเรียงในปี ค.ศ.2474 ฉลาดเฉลียวเกินอายุจนได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Montpellier กรุงปารีส ฝรั่งเศส ด้วยวิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์ที่สร้างชื่อเสียงในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยขอกล่าวว่า วิทยานิพนธ์ของเขียว สัมพัน นั่นคือ “เศรษฐกิจกัมพูชาและการพัฒนาอุตสาหกรรม” ในช่วงต้นศตวรรษที่ 60 ซึ่งถูกพูดถึงในฝรั่งเศสและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศที่นำไปแปลรวมทั้งประเทศไทย

เขียว สัมพัน หนุ่มขณะนั้น ได้เสนอมุมมองต่อการพัฒนาประเทศของตนตามทฤษฎีสังคมนิยมใหม่ที่สร้างความตื่นรู้ต่อประเทศเพื่อนบ้านในขณะนั้น

นัยว่า “เป็นงานเขียนที่เร้าใจเชิงวิเคราะห์ทฤษฎีเศรษฐกิจสมัยใหม่”

ศิษย์หนุ่มแห่งสำนัก “มองต์เปลิเยร์” ยังเป็นที่พูดถึงในหมู่อาจารย์ทั้งสายเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา ทว่า อาจารย์ที่ใกล้ชิดบางคนกลับทำนายล่วงหน้าว่า “เขาจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อนำทฤษฎีนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติ”

ในปีแรก 2505 เมื่อเขียว สัมพัน ได้รับการเชื้อเชิญให้ร่วมงานกับระบอบสีหนุ ความปรารถนาจะปฏิรูปเศรษฐกิจก็คุโชน ทว่า มันกลับล้มเหลวไม่เข้ากับสังคมเขมรที่มีแต่ระบบพรรคพวกเส้นสายและคอร์รัปชั่น

เขียว สัมพัน ยังพยามยามเข้าสู่การเมืองผ่านระบบรัฐสภาและสามารถเป็นผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

แต่ในที่สุดเขาก็พ่ายแพ้กับระบอบที่ผิดปกตินั่น กระทั่งมุดลงได้ดินในปี 2511 และแต่นั้นมา เขียว สัมพัน ก็กลายเป็น 1 ในคณะกัมพูชาประชาธิปไตยในอีก 7 ปีต่อมา

“สมัครมิตร” หรือ “สหาย” บางคนของเขา ตั้งแต่สมัยศึกษาในปารีส ไม่ว่าจะเป็น ซอน เซน, เอียง ซารี, เก่ง วันสัก หรือแม้แต่ “พล พต” ก็ถูกรับรู้กล่าวขานกันอย่าง “คลุมเครือ” ในความสัมพันธ์ที่มีต่อ “สหายเหม” แห่ง “คณะกัมพูชาประชาธิปไตย”

เขียว สัมพัน จึงปฏิเสธมาตลอดว่าตนไม่เคยเป็นสมาชิก “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” และนี่คือสิ่งที่เขาต่อสู้ในศาลเขมรแดงแม้จนวันสุดท้ายที่พ่ายแพ้คดีนั้น

ตอนนั้นเอง ที่ฉันรำลึกว่า ราวปีที่เขียว สัมพัน จะถูกควบคุมตัวขึ้นศาลอาญาเขมรแดง-สิ้นอิสรภาพนั้น วันหนึ่งเขาได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงฉัน

ตามคำเชื้อเชิญนี้ ฉันได้ไปที่กรุงพนมเปญ โดยหาได้เฉลียวใจเลยไม่ว่า เราจะไม่ได้เจอกันอีก

รวมทั้งสิ่งสุดท้ายที่เขาอยากเห็นและฝากฝัง นั่นคือ ผลงานเล่มที่ 2 หลังจาก “เขียว สัมพัน : ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า” (สนพ.มติชน, 2549) ได้รับความสนใจในหมู่นักอ่านเขมร

ทว่า งานชิ้นนี้ เหมือนถูกวางยา ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศกัมพูชา รวมทั้งงานของเขาต่อมาก็ถูกเก็บคืนจากสำนักพิมพ์?

เขียว สัมพัน ได้เรียนรู้ถึงอำนาจแฝงเร้น ที่ไม่แน่ใจว่ามาจากศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือระบอบของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน? แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ คือความมุ่งมั่นต่องานเขียนเชิงนี้ แม้ในที่สุดในปี 2550 เขาจะสูญเสียอิสรภาพ จนไม่มีโอกาสกลับมาเขียนงานได้อีก!

2.อย่างไรก็ตาม ฉันเองตอนที่พบเขาราวปีใกล้ๆ นั้น ฉันได้มอบเงินแก่เขียว สัมพัน จากน้ำพักน้ำแรงส่วนตัวของฉัน ซึ่งมากโขเมื่อเทียบกับค่าแรงเงินเขมรเวลานั้น ตะแรกเลย เขียว สัมพัน ปฏิเสธ แต่เมื่อเห็นความกระตือรือร้นของฉัน ในที่สุดเขาก็รับไว้

ตอนนั้น เขียว สัมพัน มีอายุราว 76 ปี ยังมีความกระตือรือร้นต่องานเขียนเล่มที่ 2 ของเขา และวาดไว้ในโปรเจ็กต์ว่า ฉันจะสนใจ แต่ในมุมโลกนักแปลที่ฉันหมดแรงบันดาลใจและไม่รู้จักตัวเอง

ฉันปฏิเสธ เขียว สัมพัน!

เขียว สัมพัน คาดหวังว่า ฉันจะนำมันไปแปลภาษาไทย ขณะที่ฉันไม่รู้สึกอยากทำอะไรซ้ำ (ในสิ่งที่ผ่านมาแล้ว) หลายปีต่อมา ฉันเพิ่งเรียนรู้อาการ “ซินโดรม” ในตัวเอง จากความอ่อนล้าสะสม จนไม่อาจทำงานต่อเนื่องได้ มันคือภาวการณ์เจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับภาวะอื่นๆ

เช่น “พร่องขาดการสื่อสาร?” ซึ่งฉันไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด และไปสู่วิธีใด? ระหว่างฉันกับภาคี ไม่ “เขา” หรือใคร-นอกเหนือไปจากการทำต้นฉบับอันเป็นมิติที่ต้องมีแรงบันดาลใจ

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ฉันปฏิเสธแปลงานเล่มที่ 2 ของเขียว สัมพัน ครั้งนี้นอกจากจะเป็นช่วงที่โลกสิ่งพิมพ์กำลังเปลี่ยนแล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือ ฉันคิดว่า ไม่มีอะไร “ใหม่” หรือ “ต่าง” ไปจากงานเล่มแรกอีกแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ที่ให้โลกรับรู้อีกต่อไปสำหรับระบอบเขมรแดง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การลุกฮือของฝ่ายต้านพล พต ในภาคตะวันออก, ความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ผู้คนอยากรู้! และปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกับนโยบายอันสุดโต่งของระบอบพลพต ที่นำมาสู่วันนี้ คือความวินาศ

และหลายปีต่อมา เมื่อได้ฟังคำไต่สวนในศาลอาญาระหว่างประเทศ ฉันก็พลางคิดว่า ฉันน่ะคิดถูกแล้ว

“จุดยืนที่ผ่านมา” ของเขียว สัมพัน ไม่ดูจะเป็นจุดยืน “เดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลง” และนั่นไม่ใช่สิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น “คำให้การ!” หรือแม้แต่ “ในงานเขียน!”

 

กระนั้น แค่ได้ยินคำว่า เขียว สัมพัน ต้องการเครื่องมือเพื่อทำงานเขียนเท่านั้น พลัน ความวิตกบางอย่างก็มาเยือน

เป็นความจริงที่บัดนี้กัมพูชาปกครองด้วยระบอบฮุนเซนที่มั่นคงเชิงอำนาจ

กระนั้น เขียว สัมพัน ที่แม้บัดนี้ปาเข้า 92 ปีแล้ว ซ้ำเวลานี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เคยปกป้องเขาตลอดมา ในฐานะอดีตสมาชิกของระบอบพลพตที่จีนเคยมีสัมพันธ์อันดีกันมา ต้องไว้เช่นนั้น

ดังนี้ หลานชายคนหนึ่งของเขาจึงได้ทุนไปศึกษาต่อที่จีน และเป็นที่รู้กันว่า การเดินเกมของฮุน เซน ในอดีตที่มีต่ออดีตเขมรแดงกลุ่มเมืองไพลินคือการปรองดอง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ระบอบฮุนเซนจะยินดีหากชายแก่คนหนึ่งที่เหมือนไร้เรี่ยวแรงคนนี้ จะใช้มิติสุดท้ายของเขาในการเขียนประวัติศาสตร์บางตอนของเขมรซึ่งเป็นระบอบพลพต แต่คนของระบอบฮุนเซนก็ร่วมด้วย

ไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่แค่งานเขียนสุดท้ายแบบเดียวกับงานเล่มชุดที่ 2 ของเขียว สัมพัน ที่ถูก “ห้ามพิมพ์” จำหน่ายก่อนที่เขาจะถูกควบคุมตัวในศาลเขมรแดงของกรุงพนมเปญเมื่อปี พ.ศ.2551

และไม่มีใครแน่ใจว่ายังเป็นหนังสือเล่มเดิมที่เขาเอามาแก้ไข หรืออาศัยเขียนเป็น “ประวัติชีวิต?” ขึ้นใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ นอกเสียจากว่า มันคือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน

โดยในท้ายที่สุดนั้น เขียว สัมพัน ก็ไม่ต่างจากนักโทษโตลสแลงของสมัยพลพตหรือตนเอง ตรงที่ถูก “บองทม” สูงสุดพิจารณาอย่างเข้มงวดที่จะอนุญาตให้เขามีอิสรภาพในเรือนจำเมืองกันดาลนั้นหรือไม่?

เขียว สัมพัน ก่อนขึ้นศาลเขมรแดง จึงไม่ได้สร้างแรงสะเทือนอะไรในงานเขียนของเขา โลกเคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาแล้ว เว้นเสียแต่ว่า บนขนบชีวิตที่ร่างกายและจิตใจกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย ทว่าบัดนี้ เขียว สัมพัน กลับวิ่งเข้าหาอิสระแห่งความคิดและจิตใจ ซึ่งมันอยู่ที่การเขียนหนังสือเล่มนั้น

ไม่ว่าวันเวลาอันยาวนานในศาลอาญาเขมรแดง อาจทำให้เนื้อหางานเล่มนี้ มีทำนองเชิงที่เปลี่ยนไปตามกาล ในที่สุด เขียว สัมพัน ก็ค้นพบความจริงว่า

“จุดยืนของเขา” กับ “ประวัติศาสตร์กัมพูชา” มันได้ขนานกันมา 92 ปีแล้ว!