มากับ คำถาม จากไหน อย่างไร ไปไหน ‘คลื่นลูกใหม่’

บทความพิเศษ

 

มากับ คำถาม

จากไหน อย่างไร ไปไหน

‘คลื่นลูกใหม่’

 

ชีวิตคนเรานั้นจะมีค่าอะไรนักหนา ยิ่งในยุคของความสับสนและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้

ชีวิตที่มีค่าเท่ากับไม้ขีดไฟก้านเดียว

มีความหวังอยู่เพียงว่าคอยวันขีดให้ติดเพื่อเผาไหม้ตัวเอง และเพื่อคนที่เดินตามหลังมาจะได้มองเห็นหนทางบ้าง

ก็เท่านั้น

ถ้าขีดแล้วติดไฟ มีแสงสว่าง ก็เป็นคุณสำหรับการเกิดมามีชีวิตในยุคนี้แล้ว ถ้าขีดแล้วไม่ติด ก็ช่วยอะไรไม่ได้

เพราะไม้ขีดในโลกนี้ ขีดแล้วด้านนั้นมีมากมาย

 

ดูกร อาวุโส

เสียง “รุ่นใหม่”

คนรุ่นเก่าที่จะตายจากไป ทั้งไม้ขีดติดไฟ และไม้ขีดด้าน

คนรุ่นใหม่ และรุ่นใหม่กว่า ก็จะหนุนเนื่องกันเข้ามา ตามประสาสัตว์คน

สันดานของคนไทยนั้น ถูกอบรมสั่งสอนให้เคารพนับถือวัยวุฒิกันอยู่แล้ว และบัดนี้คุณธรรมของคนไทยในข้อนี้ก็ยังอยู่

มิได้ศูนย์หายไปไหน

แต่ดูกร อาวุโส นอกจากให้เคารพวัยวุฒิของท่านแล้ว ขอให้เราได้เคารพความคิดและสติปัญญาของท่านอีกด้วย

จะได้ไหม

 

ขรรค์ชัย บุนปาน

ผ่าน “นำร่อง”

นี่มิได้เป็น “คำประกาศ” อันมาจากปรากฏการณ์อย่างที่เรียกว่า “คณะราษฎร 2563” ทั้งมิได้เป็นของ “ด้อม” ทั้งหลายแห่งอนาคตใหม่ ก้าวไกล

ตั้งคำถามต่อ “ลุง” ตั้งคำถามต่อ “ป้า”

หากแต่เป็นข้อเขียนอันปรากฏในลักษณะ “นำร่อง” ในหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ชื่อ “คลื่นลูกใหม่” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2512

น่าสนใจก็ตรงที่

ขรรค์ชัย บุนปาน นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของเรื่อง “รอยบุญเราร่วมพ้อง”

คือ ผู้เขียน “นำร่อง” นี้ เป็น ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนัก “มติชน” เมื่อปี 2521 และดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ”

เขียนขณะเรียนอยู่คณะโบราณคดี กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วิทยากร เชียงกูล

นิพนธ์ จิตรกรรม

ความน่าสนใจเป็นอย่างมากของหนังสือ “คลื่นลูกใหม่” มิได้เป็นรวมเรื่องสั้นของคนเขียนหนังสือรุ่นใหม่

จากยุค วิทยากร เชียงกูล ถึง นิพนธ์ จิตรกรรม

หากแต่ยังเป็นยุค สุชาติ สวัสดิ์ศรี นิคม กอบวงศ์ ถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ประสานเข้ากับ เริง เอกราช นัน บางนรา สุรชัย จันทิมาธร

ที่ชวนให้แปลกตาตื่นใจเป็นอย่างมากอยู่ที่ปกหนังสือออกแบบโดย ช่วง มูลพินิจ

ภาพประกอบภายในเล่มอลังการอย่างยิ่ง เป็นของ พิจารณ์ ตังคไพศาล เป็นของ ทองเสน เจนจัด และรวมถึง ช่วง มูลพินิจ

หากมิใช่ “ศิลปากร” ก็ “ช่างศิลป์”

 

รอยบุญเราร่วมพ้อง

ขรรค์ชัย บุนปาน

เมื่อพลิกเข้าไปในแต่ละหน้า อ่านแต่ละเรื่อง ไม่เพียงแต่รู้สึกแปลกตา ตื่นใจกับท่วงทำนองการนำเสนอของ

รอยบุญเราร่วมพ้อง

ประเมินจากชื่อเรื่องเหมือนกับมีแรงบันดาลใจมาจาก “นิราศนรินทร์” โบราณ

แต่เมื่ออ่านเข้าไปในแต่ละบรรทัด ก็ย่อมตระหนกกับกระบวนการนำเสนอไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมื่ออ่าน “มาจากไหน มาอย่างไร จะไปไหน”

รอยบุญเราร่วมพ้อง สะท้อนอิทธิพล “วรรณคดีโบราณ” ของไทย

“มาจากไหน มาอย่างไร จะไปไหน” ฉายให้เห็นความสัมพันธ์กับนามแห่งจิตรกรรมของปารีเซียงที่ไปแสวงหายังตาฮิติ

ขณะที่ “นิยายของชาวมหาวิทยาลัย” ชวนให้ติดตามยิ่ง

 

กังวาน น้ำเสียง

เด็ก “หลังห้อง”

ฉันนิ่งอยู่หลังสุดของห้องฟังคำบรรยาย ฉันชอบมัน เพราะมักจะเป็นที่ที่ไม่มีใครต้องการ

คนอื่นๆ มักจะเลือกเอาที่หน้าๆ

เพราะเขาเชื่อว่ามันจะทำให้เขาฟังคำบรรยายได้ดีขึ้น เพื่อที่จะจดถ้อยคำอมตะที่อาจารย์พูดออกมาได้โดยไม่ตกหล่น

เพื่อที่จะสอบได้คะแนนงามๆ และเพื่อจะได้จบออกไปหาเงินได้แพงๆ

ฉันชอบนั่งข้างหลังไม่ใช่เพราะฉันไม่เชื่อในเรื่องเหล่านั้น แต่ฉันคร้านที่จะต้องคอยไปแย่งที่นั่งกับใคร

ฉันมาที่นี่ ฉันมาหาความหมาย ฉันไม่ได้มาหากิน นอกจากนั้นฉันก็ยังมักคิดอะไรเล่นเพลินๆ ว่า มันเป็นที่ที่เดียวเท่านั้นในโลกที่เราจะมองเห็นด้านหลังของคนอื่นได้

โดยไม่ต้องเป็นฝ่ายถูกเห็น

อาจารย์กำลังบรรยายคำบรรยาย เขาไม่เคยเกิดมาเพื่อทำหน้าที่อื่น

“อาดัม สมิธ มองเห็นความประสานกลมกลืนของโลก

เขาจึงเชื่อในข้อที่ว่า กลไกต่างๆ ของธรรมชาติจะนำไปสู่ความเจริญงอกงาม แต่มาร์กมองไม่เห็น”

แน่ละ มาร์กมองไม่เห็น เขาจะเห็นได้อย่างไรในเมื่อสิ่งที่รุมล้อมเขาอยู่ คือ ความคับแค้น ลองให้เขาเกิดมาในตระกูลขุนนางสิ เขาก็จะเห็นอย่างที่ อาดัม สมิธ เห็น

เขาไม่มีเวลาว่างพอสำหรับจะเขียน “เงินทุน” หรือแถลงการณ์ฉบับที่พวกเขาโฆษณาสาปแช่งกันอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ

 

มากับ คำถาม

ต้องการ คำตอบ

ไม่ว่า “มาจากไหน มาอย่างไร จะไปไหน” ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น “รอยบุญเราร่วมพ้อง” ของ ขรรค์ชัย บุนปาน

ไม่ว่าจะเป็น “นิยายของชาวมหาวิทยาลัย” ของ วิทยากร เชียงกูล

ไม่ว่าจะเป็น “อีกสามสิบปี, ใครจะสอนเขา” ของ นัน บางนรา ไม่ว่าจะเป็น “หลวงพ่อ แม่เฒ่ากับใบ้หวย” ของ เริง เอกราช

ไม่ว่าจะเป็น “นกสีเหลือง” ของ สุรชัย จันทิมาธร

ไม่ว่าจะเป็น “นิยายจากป่าช้า” ของ นิพนธ์ จิตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น “มากับลมฝน” ของ นิคม กอบวงศ์

ไม่ว่าจะเป็น “ลอยลมไปตามเสียงซึง” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ล้วนกึกก้องไปด้วย “คำถาม” จำนวนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล้วนกระหายอยากได้ “คำตอบ”