สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ยุทธศาสตร์ระดับชาติ ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ยุทธศาสตร์ระดับชาติ ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ก่อนท่านจะพ้นตำแหน่ง) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้เสนอ

หลายคนอาจสงสัยว่ายุทธศาสตร์ชื่อนี้มีอยู่ในสังคมไทยด้วยหรือ?

บางคนถึงกับเอ่ยปากเชิงต่อว่าทำไมถึงไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเอาเสียเลย

แต่อีกหลายๆ คนรู้และได้ใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ชื่อนี้มาตั้งแต่ ฉบับที่ 1 และ 2 โดยนำเอาทิศทางและสาระไปขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน รวมถึงการแพทย์ทางเลือกในพื้นที่ของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม

หากย้อนไปสัก 10 ปี สมัยนั้นประเทศไทยมีการตื่นตัวและยอมรับการใช้สมุนไพรกันมากพอควร แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติในการนำทิศทางการพัฒนาเลย

ยุคนั้นทั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก) และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติทั้ง 2 แห่งที่จัดตั้งขึ้นได้ไม่นานนัก ต่างเห็นความสำคัญและความจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาตินำทิศทาง จึงร่วมมือกันจัดทำ

และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกับฉบับที่ 3 ที่เพิ่งคลอดออกมานี้

พูดถึงยุทธศาสตร์ชาติแล้วก็ต้องพูดถึง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่จัดทำตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ธรรมนูญนี้เรียกชื่อย่อกันทั่วไปว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” คล้ายๆ รัฐธรรมนูญที่เป็นการวางกรอบและแนวทางใหญ่ๆ ของประเทศ

แต่ธรรมนูญสุขภาพนี้มองมาที่แนวทางและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ ที่มีด้วยกันหลายเรื่อง

ตั้งแต่เรื่องสิทธิด้านสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค (ซึ่งในปัจจุบันรวมถึงป้องกันปัจจัยที่คุกคามต่อสุขภาพด้วย) ด้านการเงินการคลัง การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ

และที่ธรรมนูญสุขภาพกล่าวถึงไว้ให้ชัดเจนด้วยคือ การส่งเสริม สนับสนุน การใช้ และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ

ธรรมนูญสุขภาพและยุทธศาสตร์ชาติฯ ทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านมา ได้ช่วยสร้างรูปธรรมความสำเร็จหลายประการ

เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบ ซึ่งช่วยให้โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท เกิดขึ้นจริง หรือแม้แต่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยแถวถนนยศเส แขวงป้อมปราบฯ กทม. ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก็ได้แนวยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปขับเคลื่อนจนจัดตั้งและดำเนินการมาถึงทุกวันนี้

ตัวอย่างถัดมา คือ การร่วมมือจากหลายภาคส่วนจนสามารถจัดทำและประกาศใช้บัญชียาหลักแห่งชาติเกี่ยวกับสมุนไพรเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีถึง 76 รายการ ช่วยให้การใช้ยาไทยกว้างขวางขึ้น และตัวอย่างรูปธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เห็นความสำคัญในการหันกลับมามีนโยบายและทำงานในชุมชนตนเองด้วยการฟื้นฟู ส่งเสริมการใช้สมุนไพร

รวมไปถึงการช่วยกันอนุรักษ์ป่าซึ่งเป็นแหล่งพันธุกรรมพืชสมุนไพรที่สำคัญ

สําหรับยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินงานปี 2560-2564 ตลอด 5 ปีข้างหน้าแม้ว่าเพิ่งมีมติเห็นชอบจาก ครม. เมื่อใกล้ผ่านปีแรกไปแล้วก็ตาม แต่สาระสำคัญยังคงหนักแน่นและเป็นกรอบและทิศในการช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมการใช้สมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน

ดังสรุปมติของ ครม. ว่ามีเป้าประสงค์ ดังนี้

1. ประชาชนเข้าถึงและใช้บริการระบบการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ประสิทธิผล ปลอดภัย และใช้อย่างสมเหตุสมผล

2. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านคุณภาพ การแพทย์แผนไทย ยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพ และการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

3. เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกระดับใช้เป็นกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทย ร่วมกัน

คณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์ระดับชาตินี้ได้ใช้ความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชาวบ้าน โดยจัดเวทีรับฟังหลายครั้งและจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นมีผู้เกี่ยวข้องเข้ารวมทุกภาคส่วน

และเห็นชอบกันว่าถ้าจะให้เป้าประสงค์ข้างต้นสำเร็จนั้น จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนซึ่งใช้อักษรย่อให้จำง่ายว่า WIC มาจากภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ

1) Wisdom คือใช้ความรู้ ปัญญา และงานศึกษาวิจัยนำการเปลี่ยนแปลง

2) Integration of Health Service Systems ข้อนี้สำคัญเพราะถ้าบูรณาการระบบบริการ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และระบบยาจากสมุนไพรกับระบบการแพทย์อื่นๆ ได้สำเร็จ ประชาชนก็จะเข้าถึงและได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

และ 3) Capacity Building ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเลยก็ว่าได้ คือเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน บุคลากร และเครือข่าย เป็นการลงทุนกับมนุษย์ที่จะสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องได้ดี

ยังมีมาตรการในการขับเคลื่อนให้งานสำเสร็จด้วยหากแต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ ขอประชาสัมพันธ์ให้มิตรรักสมุนไพรได้โปรดติดตามเอกสารฉบับเต็มที่จะเผยแพร่ฟรีผ่านเว็บไซต์มูลนิธิสุขภาพไทย (www.thaihof.org)

และในวันที่ 20-22 ธันวาคมนี้ ทางมูลนิธิจัดนิทรรศการเผยแพร่รณรงค์ยุทธศาสตร์นี้ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2560 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ใครสะดวกเชิญไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันส่งเสริมพัฒนาร่วมกัน