เสียงเตือนจาก ‘สามารถ แก้วมีชัย’ อดีตรอง หน.พท. ฝากถึงคนในบ้านเก่า อย่าเล่นกับศรัทธาปชช.

“คนเราพอพูดไม่เหมือนเดิม นี่แสดงว่าบางทีไม่ได้พูดเพราะตัวเองนะ อาจจะเพราะโดนกำหนดให้ไปพูด ก็จะเสียคนเอาง่ายๆ นะแบบนี้”

“สามารถ แก้วมีชัย” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เชียงรายหลายสมัย เปิดเผยความในใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์”

สามารถระบุว่า การเมืองวันนี้ เดินมาถึงจุดที่เป็นปัญหา อันเกิดจากกติกา ถ้าเป็นประเทศอื่นเลือกตั้งเสร็จ ใครได้เสียงข้างมากก็จบเป็นรัฐบาล-ได้นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เนื่องจากเราต้องให้วุฒิสมาชิกมามีอํานาจในการตัดสินใจด้วย ซึ่ง ส.ว.ก็ไม่ได้ยึดโยง-ไม่ได้มาจากประชาชน เมื่อมันเป็นอย่างนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตของแต่ละพรรคนี้ก็ยาก ถ้าสมาชิกวุฒิสภาไม่เอาด้วย

ซ้ำร้ายการเมืองของเราวันนี้มีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง เป็นฝักเป็นฝ่าย ที่ถูกหล่อหลอมบ่มเพาะให้แตกแยกกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ก่อนจะถูกยึดอํานาจในปี 2549 จนกระทั่งยึดอํานาจ 2557 อีก

พรรคการเมืองทุกพรรคถูกแบ่งขั้ว เป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับเป็นฝ่ายอํานาจเก่า ฝ่ายเผด็จการ และเผด็จการซ่อนรูป

ทางออกประเทศ

สามารถบอกว่า เมื่อการเมืองวันนี้มาถึงทางตัน ถามว่าจะหาทางออกอย่างไร? จึงจะตั้งรัฐบาลได้ หลายคนก็บอกว่า ให้รอไป 10 เดือน ให้ ส.ว.หมดอายุ แล้วก็ค่อยว่ากันใหม่ ก็คงทําลําบากเหมือนกัน

อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเราควรจะสลายขั้ว ปรองดองกันให้ประเทศเดินไปได้ ก็เห็นความพยายามของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ที่จับมือกัน แม้ 2 พรรคนี้ตั้งใจจะสลายขั้ว ก็เกิดปัญหาวิกฤตศรัทธาจากประชาชน ที่ถูกหล่อหลอมบ่มเพาะมา ว่าให้เอาข้างนั้นข้างนี้ เขาก็จะมีความรู้สึกว่า ที่เขาให้คะแนนมา เขาโหวตให้เพราะว่าอุดมการณ์ เห็นว่าพรรคนั้นมีจุดยืนอยู่ซีกประชาธิปไตย ทําไมถึงมาบอกที่ผ่านมาให้ลืมซะ มาทํางานให้บ้านเมืองมันเดินต่อ

การพูดแบบนี้มันพูดง่ายนะ แต่ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนเขาจะคิดยังไง เนี่ยต้องตามดู

สมมุติว่าไม่สลายนะ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังอยู่มี 312 เสียง ก็ยันกันอยู่อย่างนี้ อีกฝ่ายมี 188 ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจจะตั้งได้เพราะเขามีบารมี มีพวกเป็น ส.ว.เยอะ แต่ก็อยู่ไม่ได้ แต่อยู่ไม่ได้ท่ามกลางที่ประชาชนเขาก็ยังไม่เกิดวิกฤตศรัทธา เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย พอกฎหมายสําคัญเข้า เขาไปต่อไม่ได้ ถึงตอนนั้นอาจจะไม่มี ส.ว.แล้ว

วันนี้เราจะฝ่าวิกฤตต่างๆ และเราจะเลือกทางไหน เราไปเลือกทางที่จะสลายขั้วแต่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนไปแล้ว ซึ่งไปรวมกับพรรคที่ต่อสู้กันมาทั้งนั้น

ผมก็เป็นห่วงว่าตั้งรัฐบาลได้ แต่ความวุ่นวายก็จะเกิด แม้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพเพราะองค์ประกอบของรัฐบาลมันผสมผสานมาจากหลายฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายที่เข้ามา ต่างมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน

มันอาจจะเป็นบุฟเฟ่ต์คาบิเนตเหมือนที่เคยเป็นมา ก็จะแย่งกันตั้งแต่ใครจะดูกระทรวงไหน มาแย่งตําแหน่งทางการเมืองกัน มาแย่งงบประมาณกัน ทํางานร่วมกันไปเมื่อไหร่สมประโยชน์ก็อยู่ต่อ เมื่อไหร่ไม่สมประโยชน์ก็ขัดแย้งกัน แล้ววงก็จะแตก ในที่สุดนายกฯ ก็ต้องยุบสภา อยู่ก็ไปไม่รอด

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิด หาทางออกให้บ้านเมืองว่าอันไหนที่จะเป็นทางเดินที่น่าจะดีที่สุด

แต่สิ่งที่ผมห่วงที่สุด คือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในฐานะที่สัมผัสกับพี่น้องประชาชนมา ในเมื่อเขาเลือกไปแล้ว เขาเทใจให้แล้ว คําว่าศรัทธามันเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเขาหมดศรัทธาหรือเขาสิ้นศรัทธา เขาสิ้นหวัง บ้านเมืองมันก็ไปลําบากครับ

ในฐานะอดีตคนเคยอยู่พรรคเพื่อไทย ผมก็เห็นใจว่าบางทีการบริหารจัดการ การตัดสินใจอะไร อาจจะไม่ได้ระดมความคิดเห็นอะไรกันมากเท่าที่ควร แล้วทุกวันนี้ คนที่เป็นคนรับหน้าเสื่อ เป็นหนังหน้าไฟที่จะต้องคอยมาสื่อสารถึงประชาชน มานั่งคิดเหตุคิดผล ผมก็สงสารนะ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน “เขาก็บอกไม่รู้จะตะแบงกันไปยังไงต่ออ่ะ”

ส่วนญาติวีรชนทั้งหลายที่เขาเคยไปให้กําลังใจพรรคเพื่อไทยนะ แต่เขามีเงื่อนไขห้อยท้ายว่า หวังว่าคงไม่ไปเอาพรรคที่เขาคิดว่ามีส่วนที่ทําให้ลูกหลานเขาบาดเจ็บล้มตายมาร่วมรัฐบาลด้วย

ทีนี้เมื่อมันไม่มีทางไปที่อื่น ฝ่ายเพื่อไทยก็ย้ำนักย้ำหนาว่าเรากําลังจะสลายขั้วเพื่อให้บ้านเมืองมันเดินต่อไปได้ ก็แปลได้ว่าไม่สนใจแล้วที่ผ่านมา ใครจะอยู่ข้างไหนก็จะเอามาร่วมเพื่อจะให้รัฐบาลเดินไปได้

มันก็จะวนกลับมาอย่างที่ผมบอกไง ปัญหาที่มีต่อความรู้สึกประชาชน กับปัญหารัฐบาลมันจะไม่มีเสถียรภาพเพราะมาจากหลายเผ่าพันธุ์ หลายพวกหลายกลุ่ม ผลประโยชน์หลายก๊วน

คําเตือนถึงเพื่อไทย

“เล่นอะไรไม่เล่น อย่าเล่นกับศรัทธาประชาชน ถือเป็นเรื่องอันตราย” คือสิ่งที่สามารถเตือน และบอกว่า ยกตัวอย่างย้อนหลังสมัยพรรคไทยรักไทย ปี 2544 ก็โอเคเป็นเสียงข้างมาก แต่ยังไม่ใช่ข้างมากเด็ดขาด พอบริหารไปสักพักก็เอาพรรคนู้นพรรคนี้มายุบรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นพรรคที่มีเสียงมาก ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพ เสียงข้างมากเด็ดขาด 377 เสียง เข้มแข็งมากจนตรวจสอบไม่ได้ เพราะการมีเสียงมากแล้วก็ไปรวมจากไหนต่อไหนมาเนี่ยมันก็มีปัญหาภายใน

ขณะเดียวกันปัญหาภายนอกก็เกิดกลุ่มมวลชนทั้งหลาย เกิดมวลชนอีกข้างหนึ่งขึ้นมา เคลื่อนไหวตั้งแต่ 2548 จนนําไปสู่การปฏิวัติปี 2549 ในที่สุดก็มีปัญหา จนทหารยึดอํานาจ

นี่ขนาดความรู้สึกประชาชนตอนนั้นยังไม่ใช่ว่าเขาคิดเองนะ เขาอาจจะถูกปลุกกระแสต่อเนื่องมานาน ขนาดไม่มีปัญหาเรื่องวิกฤตศรัทธาที่เกิดจากใจของประชาชน

อย่างในปัจจุบันมันไม่มีใครไปชี้นําอะไรนะ มันเห็นชัดๆ อะ

 

ซื้อคําว่าสลายขั้วไหม?

“คืองี้ ผมต้องถามว่าทําไมถึงต้องพยายามขนาดนั้น ต้องถามตรงนี้ก่อน มันจําเป็นเหรอ ทําไมเพิ่งมาคิดได้ ช่วงเลือกตั้ง คุณไม่ได้คิดเลยเหรอ ความปรองดองสามัคคี อะไรนี่ก็หวดกันเต็มที่ จนมีคําขวัญไล่หนู ตีงูเห่าเต็มที่ แต่ถึงเวลามานั่งอยู่บนเวทีด้วยกันก็บอกไม่มีอะไร ก็ว่ากันไปเป็นการหาเสียงเพื่อหาคะแนน”

“ดูแล้วถามว่า ข้ามขั้วมันเป็นยังไง แสดงว่ามันมีเบื้องหลังอะไรที่เราอาจจะยังไม่เห็น ถึงได้พยายามขนาดนั้น พยายามจะเป็นให้ได้ ถ้าไม่เป็นไม่เห็นเป็นอะไรเลยครับ ขั้วประชาธิปไตยก็อยู่กับประชาธิปไตย ถึงเวลาอีกขั้วมันเสียงข้างน้อยมันก็ไปไม่รอดอยู่แล้ว ให้ทุกอย่างมันเดินไปตามครรลองของมัน ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยันกันไว้อย่างนี้”

ทางออกจึงควรคิดว่า ทํายังไงที่เราจะต้องหาทางทํากติกาโดยเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ทําให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ก็ต้องให้ทุกอย่างมันยึดโยงกับประชาชน ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท มีอํานาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งวันเดียวเสร็จแล้วจบทุกอย่าง

คุณเอาอํานาจเขามาทําอะไรก็ไม่รู้ มีองค์กรตรวจสอบทั้งหลายที่เจตนาตั้งมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล แทนที่จะสุจริตโปร่งใสก็กลับกลายไปเป็นคนของอีกฝ่าย แล้วก็ใช้อํานาจที่เป็นองค์กรทั้งหลายที่มีมาเป็นเครื่องมือทําลายฝ่ายตรงข้าม

คงจะต้องหาทางออกให้บ้านเมืองโดยการให้มีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เห็นด้วย จนมีเสียงเรียกร้องว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็ตาม มติ ครม.มติแรก ที่น่าจะทําคือเรื่องประชามติ ถามประชาชนว่า สมควรจะจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหม ด้วยมีองค์กรจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ เช่น ส.ส.ร. โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ฉะนั้น เมื่อเราสามารถที่จะแก้ไขกติกานี้ให้มันเป็นกติกาที่เป็นประชาธิปไตยสากลแล้ว หลังจากนั้นก็ยุบสภาคืนอํานาจให้กับประชาชนรีเซ็ตกันใหม่ทั้งหมด ทุกคนก็ต้องยอมรับกติกาแล้วก็ดําเนินกระบวนการตามที่กติกาเขาเขียนไว้

ประชาธิปไตยนี่ความงดงามมันก็อยู่ที่ 4 ปีก็เลือกใหม่ได้ ก็รอกันได้ อย่าไปบอกว่า เฮ้ย เราแพ้ไม่ได้อะไรแบบนี้ ไม่ได้ ให้ทุกอย่างมันเดินตามครรลองของมัน จะดีกว่าที่จะไปเพิ่มปัญหา กลายเป็นคนที่บอกว่าจะมาแก้ปัญหากลับไปเพิ่มปัญหา อาจจะหนักกว่าเก่าด้วยซ้ำ

ผมก็อยากเตือนในฐานะคนนอก

 

ฝากไปถึงบ้านเก่า

สามารถส่งท้ายว่า เพื่อไทยอยู่มา 20 กว่าปี ทําไมแพ้ก้าวไกล วันนี้ต้องยอมรับนะ ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป ความคิดก็เปลี่ยนไป ผมก็มีโอกาสคุยกับเพื่อนฝูงที่ยังอยู่เพื่อไทย ก็บอกกันว่า “เราก็เหมือนกินทุนเก่าที่ท่านทักษิณ ชินวัตร สร้างไว้สมัยรุ่นแรก ที่บอกว่าเรามี 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังไม่มีอะไรใหม่ขึ้นมา ทุนเก่านี้มันก็หมดไปพร้อมๆ กับโหวตเตอร์เก่าๆ ที่ร่วงโรยไปแล้ว

วันนี้โหวตเตอร์ใหม่ๆ ที่เขาเข้ามา เขาก็คิดไม่เหมือนเดิม เราต้องยอมรับว่า เราต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับทัศนคติ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น มันก็เป็นธรรมดา อะไรที่มันอยู่มานานมันก็ต้องเหี่ยวเฉาไป ก็ต้องร่วงโรยไป

วันนี้ถ้าสมมุติจะสลายขั้ว จะปรองดองกัน ก็ต้องชวนก้าวไกลเข้ามาร่วมทํางาน ทํางานโดยมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อไม่ให้ก้าวไกลเขาเสียหายหรือผู้สนับสนุนเขาเข้าใจผิด

ถามว่าเป้าคืออะไร เราก็มาช่วยกันจัดทํากติกาของบ้านเมืองใหม่ และมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่มีอยู่และกําหนดเงื่อนเวลาให้ชัดเจนที่จะคืนอํานาจให้กับประชาชน อย่างนี้ก็ไปได้

ประชาชนเขาก็จะบอกว่า ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ใช่ปากจะสลายขั้ว แต่ถามว่าทําไมไปทิ้งอีกพรรคซึ่งเขามีเสียงมากที่สุด 14 ล้านเสียงทิ้งไว้เฉยๆ ก็ไม่ใช่ไหม มันเป็นการเลือกปฏิบัติแล้วมีลับลมคมในอะไรหรือไม่

ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาที่คนเขาเคลือบแคลงสงสัย ขณะเดียวกันอยากย้ำนะ วันนี้เราต้องยอมรับว่าก้าวไกลเขาคือตัวแทนแห่งยุคสมัยของคนรุ่นใหม่

ฉะนั้น คนรุ่นที่ผ่านมารุ่นแบบพวกผม จะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นนี้

เขาอาจจะมีสิ่งที่ขาดตกบกพร่องบ้าง อาจจะขาดประสบการณ์ ก็เอามาประสานกัน มาให้คําแนะนําปรึกษาเพื่อให้เดินเคียงข้างกันไปได้ จนกระทั่งเราสามารถที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

ไม่ใช่ไปกันเขาออก มันก็ยังอยู่ในวังวนเดิม และในที่สุดปัญหามันไม่จบ อันนี้คือทางออกที่ดีที่สุดที่จะทํา

อย่าไปละเลยเสียงของคนรุ่นใหม่เหล่านี้

ชมคลิป