ไฮไลต์ พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

การที่ “คณะตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญ” นัดประชุม เพื่อพิจารณากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีที่รัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ พร้อมกับมีคำขอให้ชะลอการเลือกนายกฯ ออกไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ผลการพิจารณา “ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นเป็นอันตกไป”

คำสั่งของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นำสิ่งสำคัญอย่างยิ่งมาสู่สมรภูมิการเมือง นั่นก็คือ การโหวตเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การพิจารณาให้ความเห็นชอบให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่ถูกพักเบรกไว้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ในการโหวตครั้งที่ 2 จะได้เดินหน้าต่อ สุดซอยซะที

เมื่อเป็นเช่นนี้ โฟกัสไปที่การโหวตเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ที่ชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตเลือก “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับเสียงสนับสนุน 311 เสียงจาก 8 พรรคพันธมิตร ปรากฏว่า มี ส.ว.มาร่วมแจมเพียง 13 เสียง มีผู้สนับสนุนให้ความเห็นชอบเพียง 324 เสียง จึงไม่ผ่านเกณฑ์กึ่งหนึ่ง 376 เสียงของสองสภารวมกัน

ขั้วการเมืองที่นิยามตัวเองว่า “ประชาธิปไตยทางตรงจากประชาชนพลเมือง” เลยแพแตก เมื่อ “เพื่อไทย” พรรคอันดับ 2 สวมบทโดดเดี่ยวผู้น่ารัก กระโดดค้ำถ่อขึ้นเกาะ ไปชักตะพานแหงนรออยู่ไม่กี่อึดใจต่อมา “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” พายเรือข้ามไปรับจากทะเลสาบอีกฝั่ง

ประกาศมัดข้าวต้มเข้าด้วยกัน ภายใต้สมการสารตั้งต้น 212 เสียง “เพื่อไทย” คุยนักคุยหนาว่า เกมพายเรือรับพระของ 2 พรรคในคาบนี้ ค่อนข้างเวิร์กมาก ตรงที่ฝั่งอนุรักษนิยมที่จับมือกันอยู่เหนียวหนึบๆ 188 เสียง แพ็กเกจเลยแตกกระจุยกระจาย “ขั้วสลาย” ลงโดยอัตโนมัติ

แต่เรื่องของการเมืองมันไม่ง่ายเหมือนลวกก๋วยเตี๋ยว “เพื่อไทย” จับมือกับ “ภูมิใจไทย” ได้แค่ 212 เสียง ระหว่างร่องทะเลลึก จับกุ้งฝอย ปลาซิว ปลาสร้อย และหอยเสียบ คือ พรรคขนาดจิ๋ว กับขนาดเล็ก มาเสริมทัพอีกจำนวนหนึ่ง แต่แค่จิ๊บๆ 9 พรรครวม 238 เสียง

อย่าอุตริ อวดศักดา ไปผ่าทางตัน “บทเฉพาะกาล” แห่งมาตรา 272 ที่ระบุว่า “มติเห็นชอบ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” คือ 376 เสียงเลย

แค่ครึ่งหนึ่งของ “สภาผู้แทนราษฎร” สภาเดียว 250 เสียง ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ดันทุรังไป จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

 

ครั้น “สมการสารตั้งต้น” “ภูมิใจไทย” งัดเกม “จับพระขึ้นเขียง” พายเรือนำ “ขุนพลเพื่อไทย” กลับมาทอดสมอ จอดป้ายขึ้นฝั่งเดิม ที่บ้านเลขที่ 188

ซึ่งก่อนหน้านี้ “เพื่อไทย” เคยประกาศผางมาตลอดว่า ไม่ร่วมสังฆกรรมกันหัวเด็ดตีนขาด โดยเฉพาะกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ” แต่การเมืองไม่มีสิ่งแน่นอน อยู่อย่างรู้จักอยู่ เล่นอย่างรู้จักเล่น หนทางแห่งชัยชนะเมื่อมันยากก็ทำให้ง่าย

“พรรคสองลุง” ที่คิดว่าเป็นปีศาจหลายตน ยักษ์ขมูขีหลายตัว ก็กลับกลายเป็นกัลยาณมิตรกับเพื่อไทยไปโดยปริยาย และไม่รู้กินยาผิดซองมาหรืออย่างไร มาประกาศวาทกรรมเด็ดว่าเป็นการ “สลายขั้ว” ทั้งๆ ที่ตัวเอง “ข้ามขั้ว” มาชัดๆ

ทีนี้มาดูไฮไลต์ประจำสัปดาห์นี้

1. พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา-ประชาชาติ-8 พรรคเล็ก” ฐานเสียง 314 ที่นั่ง

2. ดัน “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

3. สัดส่วนที่แต่ละพรรคจะได้รับโควต้ารัฐมนตรี เพื่อไทย 7 ต่อ 7 ภูมิใจไทย 4/4 “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” 2/2

4. เหตุที่เพื่อไทยต้องเขี่ยทิ้งก้าวไกลลงกลางทาง เพราะดันทุรังต่อไปไม่ไหว เนื่องจากถูกล็อกกระดานทั้งจากสภาล่างและสภาสูง ไม่เอา “ก้าวไกล”

5. ที่ต้องเอา “พรรคพลังประชารัฐ” มี ส.ส.ในสังกัด 40 เสียง แต่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มีอิทธิพลมากในองค์กรอิสระ และมี ส.ว.ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 50 คน

6. “รวมไทยสร้างชาติ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แม้จะมีเพียง 36 เสียง แต่มีบารมีใน ส.ว.มากที่สุด กุมสภาพอยู่ราว 100 เสียง

7. การโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 สิงหาคม เพียงแค่ ส.ว.ที่อยู่ใต้ร่มเงาของ “สองลุง” เทคะแนนเพียงคนละครึ่งเดียว ก็จะเกิดนายกฯ แลนด์สไลด์ เสียงทะลุ 400 เสียงแล้ว

 

สำหรับบุคคลที่คาดว่าจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

1. “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้โควต้าเพื่อไทย แต่เป็น “คนกลาง”

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อาทิตย์ นันทวิทยา” เต็งหนึ่ง ตามด้วย “ประสงค์ พูนธเนศ” เต็งสอง

4. “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

5. “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

6. “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

7. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หรือ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

8. “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ

9. “นายณอคุณ สิทธิพงศ์” หรือ “นายผยง ศรีวณิช” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พอหอมปากหอมคอแค่นี้ก่อน