‘ภาพยนตร์คืออะไร?’ ในทรรศนะ ‘ไฉ้หมิงเลี่ยง’

คนมองหนัง
Tsai Ming-liang. Photo by Chang Jhong-Yuan.

“ไฉ้หมิงเลี่ยง” คือผู้กำกับภาพยนตร์เชื้อสายมาเลเซีย ซึ่งไปปักหลักทำงานที่ไต้หวันนานหลายทศวรรษ เขาถือเป็นหนึ่งในคนทำหนังรายสำคัญของทวีปเอเชียยุคร่วมสมัย ซึ่งเคยได้รับรางวัลใหญ่ๆ มามากมาย

อาทิ รางวัลสิงโตทองคำของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส จากหนังเรื่อง “Vive L’Amour” (1994) รวมทั้งรางวัลหมีเงินจากเบอร์ลิน รางวัลจากสหพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และรางวัลแกรนด์จูรีไพรซ์จากเวนิส

ไฉ้หมิงเลี่ยงได้รับยกย่องให้เป็น “ประพันธกร” ผู้โดดเด่น ซึ่งมุ่งมั่นกับแนวทางการสร้างสรรรค์ผลงานแบบ “ภาพยนตร์เนิบช้า” (slow cinema) ที่ใช้ภาวะยืดยาวและหยุดนิ่งมาขับเน้นให้ผู้ชมตระหนักถึงกิเลสตัณหา, ความโดดเดี่ยว, แรงปรารถนาที่ถูกขัดขวาง, อัตลักษณ์ทางเพศอันเลื่อนไหล, ภาวะเปราะบางของชนชั้นแรงงาน และความแก่ชราของมนุษย์

ล่าสุด ผู้กำกับฯ วัย 65 ปี เพิ่งเดินทางไปรับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จที่เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวาระดังกล่าว เขาได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ swissinfo.ch ซึ่งมีบทสนทนาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

 

: ทำไมเมื่อสมัยเยาว์วัย คุณจึงออกเดินทางจากมาเลเซียไปยังไต้หวัน? และอยากให้เล่าถึงช่วงขวบปีแรกๆ ที่คุณสั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์

ผมใช้ชีวิตวัยเด็กในเมืองกูจิง (เมืองหลวงของรัฐซาราวัก) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่เล็กมากๆ ผมอาศัยอยู่กับตายายที่รักการไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ตอนนั้นมันเป็นยุค 60 ซึ่งถือเป็นยุคทองของภาพยนตร์ เนื่องจากยังไม่มีสื่อโทรทัศน์

ดังนั้น ความบันเทิงหนึ่งเดียวที่ผู้คนจะเข้าถึงจึงได้แก่การไปดูหนัง ผมคิดว่าคุณสามารถบอกได้ว่านั่นคือสัญญาณแรกสุดของกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะในยุคสมัยดังกล่าว จะมีโรงหนังขนาดใหญ่กระจายไปในทุกที่ทั่วโลก แม้แต่ในที่เล็กๆ อย่างกูจิง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มหลงใหลในภาพยนตร์

หลังจบมัธยม ผมไม่ต้องการจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ผมคิดแค่ว่าตัวเองจะหางานทำที่บ้านเกิด แต่เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ของผมกลับเลือกจะไปไต้หวันกัน นั่นเป็นสาเหตุที่ผมตัดสินใจเดินทางไปที่นั่นด้วย

ที่ไต้หวัน ผมเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในสาขาการละคร ด้วยเหตุนี้ ในช่วงแรก ผมจึงไม่ได้เข้ารับการศึกษาที่คณะภาพยนตร์โดยตรง

สถานการณ์ในไต้หวันช่วงปลายทศวรรษ 1980 คือบรรยากาศที่ประชาธิปไตยเริ่มต้นเบ่งบาน เมื่อกฎอัยการศึกถูกยกเลิก จนทำให้เรามีเสรีภาพแท้จริงที่จะพูดจาและแสดงความคิดเห็น พร้อมๆ กันนั้น สื่ออย่าง “ม้วนวิดีโอเทป” ก็แพร่กระจายเข้ามาสู่ที่นั่นพอดี

ส่งผลให้ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะพวกหนังยุโรป ทั้งหนังแนวสัจนิยมใหม่จากอิตาลี หนังนิวเวฟฝรั่งเศส หนังเยอรมัน และหนังอาร์ตเฮาส์อื่นๆ

 

: คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่? มันมีสะพานที่จะเชื่อมโยงสองวัฒนธรรมนี้เข้าหากันบ้างหรือไม่? หรือว่าต่างฝ่ายต่างจะต้องเดินกันไปคนละทาง?

กล่าวโดยสัตย์จริง ผมไม่มีความเห็นอะไรในประเด็นนี้ (หัวเราะ) ผมมักคิดว่า จนมาถึงศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปมากแล้ว ทำไมจึงยังมีผู้คนที่ใส่ใจกับเรื่อง “รัฐ-ชาติ” และ “ลัทธิชาตินิยม” อย่างมากมายเหลือเกิน

ผมยังสงสัยด้วยว่า ในขณะที่ระดับการศึกษาของผู้คนสูงขึ้น แต่ทำไมจิตใจของพวกเขากลับคับแคบลง อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาต้องการเป็นหมายเลขหนึ่งของโลก พวกเขาต้องการจะมีอำนาจครอบงำเหนือผู้อื่น

ผมไม่เข้าใจวิธีคิดแบบนี้เอาเสียเลย ผมไม่ได้มีความคิดในทำนองนั้น

เมื่อตอนยังเป็นเด็กที่เดินไปตามท้องถนนในประเทศมาเลเซีย เราสามารถได้ยินเสียงบทสวดของศาสนาอิสลาม ในขณะที่ตัวเราเองเป็นชาวพุทธ เมื่อเดินผ่านวัดฮินดูพร้อมๆ กับยายของผม ยายจะบอกให้ผมแสดงความเคารพต่อศาสนสถานแห่งนั้น

ดังนั้น ผมจึงชอบไต้หวัน เพราะผมชอบระบบคุณค่าที่พวกเขายึดถือ

ภาพประกอบ : Tobias SCHWARZ / AFP

: มาคุยเรื่องห้องน้ำกันบ้าง หนังของคุณมักเล่าถึงตัวละครโดดเดี่ยวที่เชื่อมโยงเข้ากับมนุษย์คนอื่นไม่ได้ ดังนั้น โรงหนังจึงกลายเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ตัวละครเหล่านั้นได้สื่อสารกับคนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม โรงหนังก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่แปลกประหลาด เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ผู้คนซึ่งมารวมตัวกัน จะไม่ได้สื่อสารถึงกันโดยตรง แต่ทั้งหมดกำลังสื่อสารอยู่กับภาพเคลื่อนไหวในจอใหญ่เบื้องหน้าพวกตน

และในหนังบางเรื่องของคุณ กลับกลายเป็นว่าห้องน้ำในโรงภาพยนตร์คือพื้นที่แห่งเดียว ที่เปิดโอกาสให้บรรดาตัวละครผู้โดดเดี่ยวได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน

ภาพยนตร์ของผมประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องพื้นที่ องค์ประกอบทุกอย่างในหนังจะมีที่มาจากวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งมักไม่ค่อยถูกถ่ายทอดโดยนักทำหนังรายอื่นๆ

ผมชอบคิดเรื่องพื้นที่ เพราะว่าผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ตั้งแต่พื้นที่ของห้องนอน, ห้องน้ำ, ห้องนั่งเล่น รวมถึงพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้สนิทสนมใกล้ชิดกันอย่างเซาน่า

ปัจจุบัน พื้นที่ของเซาน่าหรือเซาน่าเกย์นั้นเหลือน้อยลงทุกที เพราะตอนนี้ พวกคุณมีอินเตอร์เน็ตและคนเป็นเกย์ก็หันไปพบปะกันในโลกออนไลน์แทน พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องไปพบกันตามเซาน่าอีกแล้ว

ผมคิดว่าทุกคนพยายามที่จะแสวงหาความรู้สึกที่ทำให้พวกเขายึดโยงอยู่กับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ผ่านการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เหล่านี้

 

: หลังทำหนังมาสามทศวรรษ ถูกสัมภาษณ์มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณสามารถล่วงรู้คำตอบของคำถามส่วนใหญ่ในบทสัมภาษณ์ได้แล้วหรือยัง? หรือมันยังคงมีบางคำถามที่เซอร์ไพรส์คุณได้และทำให้คุณต้องครุ่นคิดอย่างจริงจัง?

หนังยาวเรื่องแรกของผมออกฉายในปี 1992 หลังจากผมทำหนังยาวเรื่องที่ห้า ผมก็ชักรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการให้สัมภาษณ์ (หัวเราะ) แต่ผมกลับรู้สึกช็อก เมื่อหนังเรื่อง “Goodbye, Dragon Inn” ของตัวเองเข้าฉายในสายการประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิสปี 2003

คราวนั้น ผู้กำกับฯ จากทวีปยุโรปและโลกตะวันตกแทบทุกคนล้วนถามผมในคำถามเดียวกัน นั่นคือ “ภาพยนตร์คืออะไร?”

คำถามดังกล่าวปลุกผมให้ตื่นขึ้น

 

: แล้วสำหรับคุณ ภาพยนตร์คืออะไร?

ผมไม่ได้ตอบคำถามไปอย่างฉับพลันทันที แต่ผมมักใช้กลยุทธ์หลบเลี่ยง ด้วยการโยนคำถามดังกล่าวกลับไปให้พวกเขาลองตอบบ้าง ว่าสำหรับพวกคุณแล้ว ภาพยนตร์คืออะไร?

ตอนนั้น สื่อมวลชนหญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งให้คำตอบกับผมว่า “ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ฉันดูภาพยนตร์มามากมาย ฉันร้องไห้และหัวเราะไปกับภาพยนตร์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ฉันยังรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ เพราะฉันคิดว่าการดูภาพยนตร์ก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ แต่กลับมีใครบางคนคอยมาพลิกหน้าหนังสือให้ฉันอยู่ตลอดเวลา ทว่า เมื่อดูภาพยนตร์ของคุณ ฉันรู้สึกได้ว่ามันไม่มีใครมาคอยพลิกหน้าหนังสือให้ฉัน”

พอได้ฟังคำตอบ ผมก็กล่าวขอบคุณเธอ •

 

ข้อมูลจาก https://www.swissinfo.ch/eng/culture/director-tsai-ming-liang—films-art-bathrooms-saunas-cinema-taiwan–queerness/48717230

ภาพประกอบ : Tobias SCHWARZ / AFP

 

| คนมองหนัง