‘รัฐบาลวาระพิเศษ’ ต้องประกบด้วย ‘รัฐบาลเงา’ ที่เข้มข้น | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

หากเราเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นการผสมผสานของพรรคเพื่อไทยกับหลายฝ่ายของพรรครัฐบาลผสมชุดเดิม ก็ยังน่าสงสัยว่านโยบายของรัฐบาล “วาระพิเศษ” ที่ว่านี้จะมีหน้าตาอย่างไร

เพราะหากเราฟังการแถลงข่าวของหลายพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ก็ยอมรับว่าอะไรที่หาเสียงเอาไว้นั้นเป็นเพียง “เทคนิค” การสร้างความนิยมเท่านั้น

แต่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ว่าเมื่อได้อำนาจรัฐมาแล้ว จะต้องทำตามที่นำเสนอไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง

เหมือนที่คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ตอบคำถามนักข่าวว่า

ที่เพื่อไทยหาเสียง “ไล่หนูตีงูเห่า” นั้นเป็นเพียง “เทคนิค” การหาเสียงเท่านั้น มิได้มีเนื้อหาสาระจริงจังที่ใครควรจะต้องใส่ใจอะไรมากเลย

ทำให้ผู้ใช้สิทธิหย่อนบัตรครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะลงให้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไหนก็จะต้องตื่นจากภวังค์เก่า เลิกเชื่อในคำพูดของนักการเมืองไปอีกนาน

แต่การที่ประเทศชาติจะก้าวไปข้างหน้าได้ คุณภาพของนักการเมืองจะต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม

หากเราหวังพึ่งนักการเมืองรุ่นเก่าไม่ได้ เราก็ต้องให้นักการเมืองรุ่นใหม่ได้สำนึกว่าหากยังเดินตามเส้นทางการเมืองแบบเดิมก็จะสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

ผมจึงหวังว่าหากพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ฝ่ายค้านในฐานะที่ได้คะแนนเสียงมาอันดับหนึ่งจะได้สร้างมาตรฐานการเมืองใหม่

ด้วยการตั้ง “คณะรัฐมนตรีเงา” หรือ Shadow Cabinet ขึ้นมาประกบกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล

โดยมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง, นักวิชาการและทีมงานของฝ่ายผู้บริหารเท่านั้น

หากแต่ยังมีบทบาทที่ก้าวหน้ากว่าความหมายของ “พรรคฝ่ายค้าน” แบบเดิมที่รอจังหวะอภิปรายในสภาเพื่อ “แสดงโวหาร” และความสามารถในการ “โต้วาที” หรือเพื่อ “แสวงหาแสง…และเสียง” แบบที่นักการเมืองรุ่นก่อนๆ เคยยึดเป็นหลักปฏิบัติมาตลอด

แต่ฝ่ายค้านต้องประกาศตั้งทีมงานที่เป็นเสมือน “คณะรัฐมนตรีทางเลือก” ที่สามารถจะสื่อสารกับประชาชนได้ตลอดเวลาว่า

ในประเด็นที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนและต้องการคำตอบจากรัฐบาลนั้น หากรัฐบาลทำเช่นนี้แล้วยังไม่ตอบโจทย์ของประชาชน พรรคฝ่ายค้านมีแนวทางที่แตกต่างไปจากรัฐบาลอย่างไร

ฝ่ายค้านที่มีคุณภาพต้องมีทั้งข้อมูล, แนวทางวิเคราะห์ และนำเสนอทางออกที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าทุกปัญหามีทางออกมากกว่าที่รัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ

นั่นย่อมแปลว่าฝ่ายค้านจะต้องประกาศตั้ง “คณะรัฐมนตรีเงา” ที่ทำงานประกบกับ “คณะรัฐมนตรีวาระพิเศษ” ในนโยบายสำคัญๆ

หากคณะรัฐมนตรีทางการประชุมทุกวันอังคาร คณะรัฐมนตรีเงาก็จะควรจะต้องมีการประชุมจะจัด “วาระ” การประชุมล้อไปกับของคณะรัฐมนตรีจริง

โดยจะมีการสื่อสารกับประชาชนว่าในแต่ละประเด็นที่รัฐบาลตัดสินใจทำนั้น “รัฐมนตรีเงา” มีทางออกที่ดีกว่าหรือไม่อย่างไร

เริ่มด้วยการประกาศแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรีเงา” ที่อาจจะเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในสภาด้วยหรือไม่ก็ได้

ตามมาด้วย “รัฐมนตรีเงา” กระทรวงต่างๆ ที่เกาะติดเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นไปตามนโยบายหลักๆ ของพรรคที่เคยเสนอประชาชนไว้

 

ในกรณีพรรคก้าวไกล ก็จะต้องมีรัฐมนตรีเงาด้านเศรษฐกิจ, สังคม, ความมั่นคงและนวัตกรรมที่นอกจากจะติดตามสิ่งที่รัฐมนตรีจริงทำแล้ว ก็ยังต้องบอกด้วยว่ารัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร

นอกจาก “นายกรัฐมนตรีเงา” แล้ว ก็ควรจะมีรองนายกฯ เงาที่ดูแลด้านเศรษฐกิจที่สามารถจะจัดระบบการทำงานของกระทรวงทบวงกรม (เงา) ต่างๆ ให้มีการทำงานอย่างมีเอกภาพเพื่อการบูรณาการอย่างไร้รอยตะเข็บ

เพราะค่อนข้างจะแน่ชัดว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่นี้ก็คงจะยังเป็นการจัดสรรกระทรวงทบวงกรมในลักษณะเดิม

คือการ “แบ่งเค้ก” กระทรวงทั้งหลายในแบบเดิมที่ยังเป็นการจัดชั้นกระทรวงเกรดเอ, บี, ซี

เป็นการจัดชั้นกระทรวงตามผลประโยชน์ที่นักการเมืองคาดหวังว่าพึงจะได้จากการมีอำนาจสั่งการในกระทรวงนั้นๆ

อันเป็นวิธีคิดและการบริหารงานรัฐที่ล้าสมัย, เทอะทะ และอ่อนไหวต่อการฉ้อฉลและโกงกิน

“รัฐบาลเงา” ในความหมายของผมคือการที่ฝ่ายค้าน (ซึ่งก็จะนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ต่างๆ มากมายหลายชุดพร้อมๆ กันไปด้วย) สามารถจะที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการบริหารประเทศในยุคดิจิทัลนั้นสามารถสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสได้ดีกว่าการบริหารแบบนักการเมืองเดิมมากมายหลายเท่า

เมื่อฝ่ายค้านนั่งอยู่ในคณะกรรมมาธิการสภาได้มาก (เพราะพรรคก้าวไกลมีจำนวน ส.ส.ถึง 151 คน จึงนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการได้กว่า 10 ชุด) จึงอยู่ในฐานะที่จะเข้าถึงข้อมูลและเข้าถึงกระบวนการวางนโยบายของรัฐบาล

อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้, การเชิญผู้เกี่ยวข้องมาไต่ถามขอข้อมูล และรับรู้ความคืบหน้า (หรือไม่คืบหน้า) ของโครงการของรัฐบาลได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย

 

วันก่อน ผมถามคุณศิริกัญญา ตันสกุล, รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ว่าทางพรรคมีนโยบายเรื่อง “คณะรัฐมนตรีเงา” อย่างไรหรือไม่

ได้รับคำตอบว่า “ที่ผ่านมาในฐานะฝ่ายค้าน เราติดตามการทำงานของรัฐบาลด้วยการเกาะติดเป็นเรื่องๆ เป็น issue เพราะเห็นว่าหนึ่งกระทรวงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้อีกต่อไป

“เราจึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะตั้งรัฐมนตรีเงา…เราตามติดเป็นเรื่องๆ ซึ่งน่าจะตรงประเด็นมากกว่า

“กลไกภาครัฐนี่มีสารพัดสารพัน นอกจากกระทรวงทบวงกรมแล้ว ยังมีคณะกรรมการของรัฐอีก 200 กว่าชุดที่นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องไปนั่งเป็นประธาน ซึ่งก็มีอำนาจมากตามกฎหมาย…”

คุณศิริกัญญาเล่าว่าตอนที่เตรียมตั้งรัฐบาลนั้น ไม่ได้เพียงแค่พิจารณาเรื่องใครดูแลกระทรวงไหน ยังต้องดูว่าใครจะไปนั่งคณะกรรมการไหนอีกมากมาย…

อีกทางหนึ่ง ฝ่ายค้านยุคใหม่นี้อาจจะมีการ “แถลงนโยบายจากฝ่ายค้าน” เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภากับที่ฝ่ายค้านจะนำเสนอต่อประชาชนเป็นแนวขนานไปด้วย

 

นี่คือการเมืองแบบใหม่ที่จะทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงข้อมูล, แนววิเคราะห์, การจัดสรรงบประมาณและการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาที่หนักหนาสาหัสของประเทศ

ยกตัวอย่างนโยบายพลังงาน, ค่าจ้างขั้นต่ำ, ปฏิรูประบบราชการ, ปฏิรูประบบการศึกษาที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงเอาไว้กับที่พรรคฝ่ายค้านถือเป็นพันธกรณีกับประชาชน

หากมี “คณะรัฐมนตรีเงา” ที่เห็นการแก้ปัญหาเป็นเรื่องจริงจัง มิใช่เพียงแค่เพื่อคัดค้านสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ก็จะยกระดับการเมืองไทยให้เป็นเรื่องของการเน้นสาระและการแก้ปัญหา

มิใช่เป็น “ละครการเมือง” ที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่รอเป็นรัฐบาลด้วยกลเกมการเมือง

หากแต่เป็นการแข่งขันกันทางความคิด…และวิธีการแก้ปัญหาที่ยิ่งวันยิ่งจะมีความสลับซับซ้อนผิดแผกแตกต่างไปจากที่คนไทยเคยประสบพบเห็นมาก่อน

 

นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องไม่ทำแค่เลียนแบบรุ่นพี่รุ่นพ่อที่พิสูจน์ความนิยมชมชอบของประชาชนด้วยความสามารถในการ “ตำหนิติเตียน” หรือเป็นเพียง “ตัวตึง” ในเวทีอภิปรายเท่านั้น

หากแต่ต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อ “นำเสนอทางออก” ให้กับประเทศชาติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เราต้องไม่ให้คนไทยเชื่อเหมือนที่ผมได้ยินจากปากของปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนชนบทแห่งหนึ่งว่า

“ผมไม่เชื่อนักการเมือง เพราะผมไม่เชื่อว่าพอพวกเขาได้อำนาจแล้ว จะไม่ต้องประนีประนอมจนหมดความเชื่อในอุดมการณ์เดิมที่พวกเขารับปากกับเราไว้…”

หากจะสร้างศรัทธาประชาชนต่อความเป็นนักการเมืองคุณภาพของยุคสมัยนี้ก็ต้องพิสูจน์ว่า “ศรีธนญชัย” เป็นเพียงนิยายโบราณที่ไม่บังควรนำมาเป็นแบบอย่างใดๆ ทั้งสิ้น!