ผีบรรพชนเมือง ‘อโยธยา’ และ ‘ทวารวดี’ ที่ ‘เมืองร้อยเอ็ด’ ในตำนานอุรังธาตุ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพถ่ายรวมอุรังคธาตุในหอสมุดแห่งชาติ /ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

ผมเคยเขียนถึงเรื่องของชื่อ “อโยธยา” (และ “ทวารวดี”) ที่ปรากฏอยู่ใน “ตำนานอุรังคธาตุ” (คือ ตำนานพระธาตุพนม ซึ่งมีผู้เสนอว่า ควรเริ่มเรียบเรียงขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2181-2184 ในช่วงต้นรัชกาลของพญาสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งล้านช้าง แต่มีการต่อเติมเพิ่มอีกในสมัยหลัง) เอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งในคอลัมน์นี้ ที่มีชื่อยาวเหยียดว่า “ชื่อ ‘ร้อยเอ็ด’ ไม่ได้มาจากเมืองมี 11 ประตู แต่แสดงความเป็น ‘จักรพรรดิราช’ ของผู้ครองเมืองร้อยเอ็ด” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 14-20 เมษายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้

ในข้อเขียนชิ้นนั้น ผมได้อธิบายถึงคำว่า “อโยธยา” หรือที่ในตำนานอุรังคธาตุเรียก อโยธิกา” เอาไว้ โดยได้ยกข้อความในตำนานดังที่มีข้อความระบุว่า

“ชื่อว่า ศรีอมรณีแลโยธิกา (เข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก ศรีทวารวดีอโยธยา) นั้น เป็นชื่อแห่งพญาทั้งสองอันกินเมืองตามชื่อต้นไม้อันเป็นยาที่เจ้ารัสสี (คือ ฤๅษี) แต่งไว้ให้

ชื่อว่า อโยธิกา นั้น เจ้ารัสสีใส่ชื่อไว้ก่อน พญาร้อยเอ็ดเมืองจึงว่าสืบความแล…

…ชื่อว่า ทวารวดี เหตุมีผีเสื้อเมืองรักษาปักตู (คือ ประตู) เวียงร้องดังเสียง ลวา นั้นแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ในตำนานอุรังคธาตุท่อนที่ปรากฏข้อความที่ผมได้ยกมาข้างต้นนั้น เป็นส่วนที่ต่อเนื่องกับช่วงที่เล่าถึงชื่อเก่าดั้งเดิมของเมืองร้อยเอ็ดในยุคสมัยของอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ดังมีข้อความที่ว่า

“ชื่อว่า กุรุนทะนคร นั้น ตามชื่อแต่ปฐมกัป เมืองอันนี้เมื่อปางศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันธเจ้านั้น

ชื่อว่า เมืองกุรุฏฐะนคร (บางสำนวนว่า กุรุรัฐนคร) เมื่อปางศาสนาพระเจ้าโกนาคมเจ้า

ชื่อว่า เมืองพาหละนคร (บางสำนวนว่า เมืองหัตถนคร, พาหาระนคร, พาหระนคร) เมื่อปางศาสนาพระเจ้าพระกัสสปะเจ้า”

 

ดังนั้น ผมจึงได้สรุปลงไปข้อเขียนชิ้นนั้นว่า ชื่อ “อโยธยา” ที่ปรากฏอยู่ในข้อความตอนดังกล่าวในตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นการเขียนถึงเพื่ออธิบายเหตุสืบย้อนว่า ทำไมเมืองร้อยเอ็ดจึงเคยมีชื่อเดิมว่า อโยธยา เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า เมืองร้อยเอ็ดนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สาเกตุนคร”

และตามปรัมปราคติของพุทธ ของพราหมณ์-ฮินดู (และรวมถึงศาสนาเชนด้วย) ชื่อ “สาเกต” หรือ “สาเกตุ” ก็คือชื่อเก่าของเมือง “อโยธยา” หรือ “อยุธยา” ดังนั้น ถ้าจะเคยมีใครเรียกชื่อเมืองสาเกตุนคร สลับแทนด้วยชื่อ “อยุธยา” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ข้อความตอนนี้จึงควรที่จะเป็นการผูกตำนานขึ้นเพื่ออธิบายเหตุของการที่มีผู้เรียกชื่อเมืองอย่างนี้มาแต่โบราณ โดยในคนชั้นหลังที่ได้เรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุขึ้นมานั่นเอง

(ส่วนการที่ต้องอ้างถึงชื่อเก่าอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูนัก ว่าเป็นชื่อเก่าของเมืองร้อยเอ็ดในกัปป์ของพระอดีตพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ก็เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้กับการที่มีร่องรอยว่า เมืองร้อยเอ็ด หรือเมืองสาเกตุนั้น เคยมีชื่อเก่าว่า อโยธยา มาก่อน อันเป็นเรื่องที่มีอยู่ในเฉพาะปรัมปราคติจากชมพูทวีป เพียงแต่ยังตกค้างมาจนถึงในไทย ซึ่งทำให้ผู้แต่งตำนานอุรังคธาตุนั้นจับต้นสายปลายเหตุไม่ได้ จนต้องแต่งเรื่องราวตอนนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการอธิบายถึงสาเหตุของความเชื่อดังกล่าว ที่ตนเองก็ไม่รู้ที่มาที่ไปเช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุบังเอิญให้ผมต้องพูดคุยกับนักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนกับสิ่งที่ตัวเองคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียใหม่ ซึ่งก็เห็นว่ามีข้อบกพร่องอยู่จริงๆ จึงต้องนำมาเขียนอธิบายใหม่ จนกลายมาเป็นข้อเขียนชิ้นที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี่แหละครับ

 

ส่วนที่ผมต้องเปลี่ยนความคิด จนกระทั่งต้องเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ก็เพราะในตำนานอุรังคธาตุยังมีข้อความบางส่วนระบุไว้ด้วยว่า

“ตั้งแรกแต่นั้นไปภายหน้า เถิงเมื่อฤดูกาลออกวัสสาแลสังขารนั้นมาเถิง ท้าวพญาร้อยเอ็ดเมืองก็แต่งดอกไม้เงินคำนำบรรณาการมา สั่งอำมาตย์ราชทูตแห่งตนว่า เจ้าทั้งหลายจงนำเครื่องบรรณาการฝูงนี้ไปที่พญาศรีอมรณี (คือ พ่อของพญาสุริยวงศาสิทธิเดช) พญาโยธิกา (เจ้าเมืองกุรุนทะนคร เพื่อนสนิทของพญาศรีอมรณี ผู้ซึ่งร่วมสละราชบัลลังก์ แล้วร่วมกับพญาศรีอมรณีทำพิธีราชาภิเษกมอบเมืองกุรุนทะนครให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดช แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองสาเกต) อาชญาอันรักษาปักตู (คือ ประตู) และเป็นหูเมืองร้อยเอ็ดปักตูนั้นก่อน แล้วจึงให้พญาทั้ง 2 แต่งนายแนบเข้าไปถวายแก่พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเจ้าตนเป็นใหญ่นั้นเทอญ ท้าวพญาทั้งหลายร้อยเอ็ดเมืองเป็นสั่งดังนี้ซุปี (คือ ทุกปี)”

หากจะแปลออกมาให้อ่านกันง่ายๆ ด้วยสำนวนภาษาไทยภาคกลางปัจจุบันก็คือ พญาศรีอมรณี และพญาโยธิกา ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองสาเกตุนคร และเมืองกุรุนทะนคร ตามลำดับ ได้สละราชสมบัติของตน แล้วร่วมกันทำพิธีราชาภิเษกให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดชขึ้นเป็นกษัตริย์แทน จากนั้นตนเองก็ได้กลายเป็น “อาชญาอันรักษาปักตูเมืองร้อยเอ็ดปักตู” คือ “อาชญารักษาเมืองร้อยเอ็ด”

และก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ตำนานเรียกว่า “ผีเสื้อรักษาปักตูเมือง” เพราะคำว่า “ผีเสื้อ” นั้นก็คือ “ผีเชื้อ” คือ “ผีบรรพชน” ผู้ปกปักรักษาเมือง

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ตำนานอุรังคธาตุระบุไว้ว่า “ผีเสื้อเมืองรักษาปักตูเวียงร้องดังเสียง ลวา” เพื่อใช้เป็นตำนานแอธิบายเหตุของการที่มีร่องรอยเก่าแก่ว่า บางทีเมืองร้อยเอ็ดก็ถูกเรียกว่า “ทวารวดี” (ซึ่งแปลว่า “เมืองที่ประกอบไปด้วยประตู”) นั่นแหละครับ

 

เอาเข้าจริงแล้ว ข้อความตอนนี้ในตำนานอุรังคธาตุ จึงไม่ใช่เพียงความพยายามในการสร้างตำนานอธิบายว่า ทำไม “เมืองร้อยเอ็ด” จึงเกี่ยวข้องกับ “อโยธยา” และ “ทวารวดี” เท่านั้น แต่ยังเป็นการอ้างว่า “ผีประจำเมืองร้อยเอ็ด” นั้นก็คือ ผีบรรพชนของเมืองศักดิ์สิทธิ์ในปรัมปราคติของชมพูทวีปทั้งสองเมืองดังกล่าว

ในอินเดียนั้น การสร้างความเกี่ยวพันระหว่าง “กษัตริย์” กับ “เทพเจ้า” ผู้ยิ่งใหญ่ ทำได้ด้วยการอ้างสายสกุล ดังปรากฏมีความเชื่อเรื่อง “สุริยวงศ์” กับ “จันทรวงศ์” ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์ประเภทปุราณะ และมหากาพย์ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ทั้งชื่อ และความศักดิ์สิทธิ์ ของทั้งสองราชวงศ์นี้ก็ปรากฏอยู่ในปกรณ์ของศาสนาในชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาเชนด้วย

“สุริยวงศ์” นั้นคือ วงศ์ของ “พระราม” ผู้เป็นอวตารหนึ่งของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างพระนารายณ์ และเมืองที่พระรามปกครองนั้นมีชื่อว่า “อโยธยา” กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองอโยธยาทุกคน จึงไม่ใชคนธรรมดา แต่เป็นเชื้อสายของพระราม หรือพระนารายณ์ไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ส่วน “จันทรวงศ์” นั้นก็คือ วงศ์ของ “พระกฤษณะ” อีกหนึ่งอวตารที่ยิ่งใหญ่ระดับมหากาพย์ของพระนารายณ์เป็นเจ้าเช่นกัน ดังนั้น กษัตริย์ผู้ที่ปกครองเมืองของพระกฤษณะคือ ทวารวดี จึงกลายเป็นวงศ์วานว่านเครือของพระกฤษณะไปด้วย

และนี่ยังไม่นับว่า อันที่จริงแล้วตามความเชื่อของบรรดาพ่อพราหมณ์นั้น ก่อนหน้าที่พระนารายณ์จะอวตารมาปกครองที่ทั้งเมืองอโยธยา และทวารวดี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองทั้งสองแห่งดังกล่าวก็คือ ผู้มีเชื้อสายสืบทอดมาจาก “พระสุริยะ” และ “พระโสมะ” (พระจันทร์) มาก่อนแล้วอีกต่างหาก

การผูกโยงชื่อ “อโยธยา” และ “ทวารวดี” ให้เข้ามาเป็นเป็นส่วนหนึ่งของเมืองร้อยเอ็ด จึงเป็นการนำเอาความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่จากปรัมปราคติของชมพูทวีป มาผสมผสานเข้าความเฮี้ยนดั้งเดิมในศาสนาผีพื้นเมืองของร้อยเอ็ดเอง ดังจะสังเกตได้ว่าในตำนานอุรังคธาตุได้ระบุด้วยว่า

“ปางนั้นแล ให้เป็นใหญ่ ขึ้นชื่อว่า พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเมืองร้อยเอ็ดปักตู หั้นแล แล้วจึงคืนเมือสู่เมืองแห่งตน ให้ทำนวยมาจึงสร้างพุทะศาสนาชูเมือง”

แปลง่ายๆ ว่า ข้อความตอนนี้นอกจากจะอ้างว่ามีการบรมราชาภิเษกพญาสุริยวงศาธรรมิกราชให้เป็นราชาธิราชาเหนือกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ จนนำมาเป็นชื่อเมืองของตนเองคือ “ร้อยเอ็ด” และสถาปนาอาชญรักษาปักตูเมือง คือผีเสื้อเมืองแล้ว ก็ยังเป็นช่วงที่เมืองร้อยเอ็ดเริ่มยอมรับนับถือในศาสนาพุทธด้วย

แต่ร้อยเอ็ดจะรับเอาพุทธศาสนามาจากไหนกันล่ะครับ?

 

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ย่อหน้าแรกแล้วว่า ตำนานอุรังคธาตุนั้นควรจะแต่งขึ้นในรัชสมัยของพญาสุริยวงศาธรรมิกราช คนเดียวกับที่ผนวกเอาความศักดิ์สิทธิ์ของทั้ง “อโยธยา” และ “ทวารวดี” มาเป็น “อาชญรักษาปักตูเมือง” คือ “ผีบรรพชน” ของเมือง และรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาพร้อมๆ กัน

ดังนั้น เมื่อรับเอาความศักดิ์สิทธิ์ของ ทั้ง “อโยธยา” และ “ทวารวดี” มา ก็น่าจะรับเอาพุทธศาสนามาจากรัฐใหญ่ที่อ้างตนว่าสืบสายมาจากทั้งสองเมืองศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวในยุคที่พญาสุริยวงศาธรรมิกราชมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือ “กรุงศรีอยุธยา” ที่เรียกรัฐของตนเองด้วยชื่อศักดิ์สิทธิ์ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” นั่นแหละ

ในยุคสมัยของพญาสุริยวงศาธรรมิกราช อยุธยานั้นถือเป็นรัฐใหญ่ที่เก่าแก่ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบเถรวาท และถูกเผยแพร่ด้วยภาษาไทย ที่สำคัญก็คือ ในเอกสารทางการของอยุธยาเรียกอยุธยาว่า “อโยธยา” เมื่อพูดถึงรัฐที่มีอยู่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของ พระรามาธิบดีที่ 1 (ซึ่งมักจะถูกแปะป้ายว่าเป็นคนเดียวกับกษัตริย์ในตำนานที่ไม่มีตัวตนอยยู่จริงอย่าง พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อเรือน พ.ศ.1893 แต่เรียกตนเองว่า “อยุธยา” หลังการสถาปนาในครั้งดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่ในตำนานอุรังคธาตุจะเรียก “อยุธยา” ด้วยชื่อเก่าว่า “อโยธิกา” ที่เพี้ยนมาจาก “อโยธยา” โดยเฉพาะเมื่อเรียกเพื่อผนวกตนเองเข้ากับผีบรรพชนของเมืองอยุธยา

เอาเข้าจริงแล้ว ตำนานอุรังคธาตุ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งใน “มรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยองค์การยูเนสโกในปีนี้เองนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งในร่องรอยสำคัญของการมีอยู่ “เมืองอโยธยา” ยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ