ชื่อ ‘ร้อยเอ็ด’ ไม่ได้มาจากเมืองมี 11 ประตู แต่แสดงความเป็น ‘จักรพรรดิราช’ ของผู้ครองเมืองร้อยเอ็ด

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
อุรังคนิทาน /ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

ชื่อ ‘ร้อยเอ็ด’ ไม่ได้มาจากเมืองมี 11 ประตู

แต่แสดงความเป็น ‘จักรพรรดิราช’ ของผู้ครองเมืองร้อยเอ็ด

 

ในคำขวัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ด มีประโยคขึ้นต้นด้วยข้อความที่ว่า “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม” โดยมีนัยยะว่า ชื่อจังหวัด “ร้อยเอ็ด” หมายถึงจำนวน “สิบเอ็ด” ซึ่งหมายถึงจำนวนของ “ประตูเมือง” ที่มีมาแต่โบราณ

ส่วนที่อยู่ๆ คำว่า “ร้อยเอ็ด” กลายมาเป็น “สิบเอ็ด” ได้นั้น เกิดจากที่อดีตประธานรัฐสภา ควบตำแหน่งอดีตประธานวุฒิสภา และ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น 5 สมัยอย่างคุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ (พ.ศ.2463-2527) ได้เคยหล่นทัศนะเอาไว้ในบทความของท่านที่ชื่อ “ประวัติบางเรื่องเกี่ยวกับอีสาน” ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมบทความที่ชื่อ “อีสานคดี” อันเป็นหนังสือที่คณะอาจารย์จากคณะโบราณคดี ตีพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกในงานการละเล่นพื้นบ้านอีสาน ณ โรงละครแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ดังมีข้อความว่า

“การเขียนและการอ่านภาษาอีสานโบราณนั้น สิบเอ็ดต้องเขียน 10 เสียก่อนแล้วจึงจะเขียนเลข 1 ต่อท้าย เมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองคงจะอ่านตามภาษาเขียนของทางภาคกลางจึงเพี้ยนไปเป็น 101 อ่านว่าร้อยเอ็ดคนภาคกลางมักจะเข้าใจภาษาทางภาคอีสานคลาดเคลื่อนบ่อยๆ”

และในบทความชิ้นเดียวกันนี้ คุณจารุบุตรยังเขียนย้ำไว้ด้วยว่า “นครสาเกตุ หรือ 101 ประตู (สิบเอ็ดประตู) อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน”

ดังนั้น นี่จึงเป็นที่มาให้มีคนนำข้อมูลชุดนี้ไปขยายผล จนกลายเป็นที่มาของประโยคท่อนดังกล่าวในคำขวัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงการนำข้อมูลชุดนี้ไปเรียน ไปสอนกันอยู่ในโรงเรียนต่างๆ ภายในจังหวัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ.2537 ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ของกรมศิลปากรอย่าง อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้เคยตรวจสอบเอกสารต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติแล้วเขียนเป็นบทความลงนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม มีใจความโดยสรุปว่า ชื่อเมือง “ร้อยเอ็ด” เขียนด้วยตัวอักษร ไม่ใช่ตัวเลข

ดังนั้น คนโบราณท่านจึงเปรียบเปรยเมืองแห่งนี้ไว้ว่า มีความยิ่งใหญ่ขนาดที่มีประตูเมืองถึง 101 ประตู ไม่ใช่ด้อยค่าว่ามีเพียง 11 ประตู

แถมเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด ในกำกับของกรมศิลปากรก็เคยจัดแสดงนิทรรศการ โดยนำเอาสมุดข่อย ที่ถูกจารด้วยอักษรธรรมว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” เป็นตัวอักษร ไม่ใช่ตัวเลข เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวร้อยเอ็ดได้เห็นหลักฐานด้วยตาของตัวเองมาแล้วด้วยซ้ำไป

 

ที่สำคัญก็คือ เอกสารที่มีชื่อเมือง “ร้อยเอ็ด” เขียนด้วยตัวหนังสือ ไม่ใช่ตัวเลขดังกล่าวนี้ก็คือ “ตำนานอุรังคธาตุ” (คือ ตำนานพระธาตุพนม ซึ่งมีผู้เสนอว่า ควรเริ่มเรียบเรียงขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2181-2184 ในช่วงต้นรัชกาลของพญาสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งล้านช้าง แต่มีการต่อเติมเพิ่มอีกในสมัยหลัง ซึ่งคงจะหมายรวมถึงความตอนที่กล่าวอธิบายถึงเมืองร้อยเอ็ดด้วย) นั้น ก็ให้ความสำคัญกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดเสียจนมีข้อความเขียนอธิบายเสียยาวยืด

กล่าวโดยสรุป เรื่องของเมืองร้อยเอ็ดที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุนั้นมีความว่า พญาติโคตรบูร ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเมืองศรีโคตรบอง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองแห่งนั้น สิ้นชีวิตลงเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานลงได้ 3 ปี แล้วไปเกิดเป็น “พญาสุริยวงศาสิทธิเดช” แห่ง “เมืองสาเกตนคร”

เนื่องจากที่เคยทำบุญกับพระพุทธเจ้าจึงมีบารมีมาก พืชผลอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และพระพุทธศาสนารุ่งเรือง เจ้าเมืองต่างๆ ทั้ง “ร้อยเอ็ดเมือง” จึงพากันมาทำพิธี “พระราชมุรธาราชาภิเษกอดิเรกมงคล” ให้เป็นใหญ่เหนือพวกตน

โดยได้ชื่อว่า “พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเมืองร้อยเอ็ดปักตู” (ปักตูคือ ประตู)

คำว่า “ร้อยเอ็ด” ในความตอนนี้ของตำนานอุรังคธาตุนั้น ไม่ได้เขียนเป็นตัวเลข แต่เขียนด้วยตัวอักษรทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ได้หมายถึงจำนวน “สิบเอ็ด” และอาจจะสังเกตได้อย่างไม่ยากเย็นนักด้วยว่า คำว่า “ร้อยเอ็ด” ในที่นี้ ไม่ใช่ชื่อเมืองจริง แต่เป็นการขนานนามว่า มีอำนาจเหนือเมืองอื่นๆ อีกร้อยเอ็ดเมือง โดยใช้คำว่า “ประตู” แทน “เมือง”

ภาพถ่ายรวมอุรังคธาตุในหอสมุดแห่งชาติ /ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

ดังนั้น คำว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” จึงเป็นการขนานนามว่าเป็นเมืองของ “พระจักรพรรดิราช” (ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “ธรรมิกราชาธิราช”) คือราชาผู้อยู่เหนือราชาทั้งร้อยเอ็ดเมือง (ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นจำนวนจริงๆ แต่เป็นภาษาสัญลักษณ์ว่า มีจำนวนมาก) ตามปรัมปราคติในศาสนาพุทธนั่นเอง ดังปรากฏข้อความต่อไปว่า

“ตั้งแรกแต่นั้นไปภายหน้า เถิงเมื่อฤกดูกาลออกวัสสาแลสังขารนั้นมาเถิง ท้าวพญาร้อยเอ็ดเมืองก็แต่งดอกไม้เงินคำนำบรรณาการมา สั่งอำมาตย์ราชทูตแห่งตนว่า เจ้าทั้งหลายจงนำเครื่องบรรณาการฝูงนี้ไปที่พญาศรีอมรณี (คือ พ่อของพญาสุริยวงศาสิทธิเดช) พญาโยธิกา (เจ้าเมืองกุรุนทะนคร เพื่อนสนิทของพญาศรีอมรณี ที่ร่วมสละราชบัลลังก์ แล้วร่วมกับพญาศรีอมรณีทำพิธีราชาภิเษกมอบเมืองกุรุนทะนครให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดช แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองสาเกต) อาชญาอันรักษาปักตูและเป็นหูเมืองร้อยเอ็ดปักตูนั้นก่อน แล้วจึงให้พญาทั้ง 2 แต่งนายแนบเข้าไปถวายแก่พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเจ้าตนเป็นใหญ่นั้นเทอญ ท้าวพญาทั้งหลายร้อยเอ็ดเมืองเป็นสั่งดังนี้ซุปี (คือ ทุกปี)” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า เจ้าเมืองทั้งร้อยเอ็ดเมือง ซึ่งอยู่ใต้ร่มจักรพรรดิราชของพญาสุริยวงศาสิทธิเดชนั้น ต้องส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ (คือดอกไม้ทอง) และเครื่องบรรณาการไปมอบให้เมืองสาเกตุ คือเมืองร้อยเอ็ดทุกปี โดยมอบผ่านหูเมือง (โดยปกติสำนวนนี้หมายถึง ราชทูตของเมือง) ผู้เป็นอาชญารักษาเมือง (ซึ่งแทนที่ด้วยคำว่า ปักตูเมือง คือ ประตูเมือง) ทั้งสองคนคือ พญาศรีอมรณี และพญาโยธิกา

โดยน่าสังเกตด้วยว่า ตำนานอุรังคธาตุได้ผูกชื่อของทั้งสองคนนี้เข้าด้วยกัน ดังปรากฏความเล่าต่อไปว่า

“คนทั้งหลายจึงเอาความอันนั้นมาว่า เมืองศรีอโยธิกา (คือ ศรีอมรณี+โยธิกา) ตามชื่ออันนั้น เล่าซ้ำติ่มขึ้น ชื่อว่า ศรีทวาราวัตตินคร ตามอันผีเสื้อรักษาปักตูเมือง ร้องเป็นเสียง ลวา นั้นก็มีแล”

 

น่าสนใจนะครับว่า ตามปรัมปราคติของพุทธ ของพราหมณ์-ฮินดู (และรวมถึงศาสนาเชนด้วย) ชื่อ “สาเกต” หรือ “สาเกตุ” ก็คือชื่อเก่าของเมือง “อโยธยา” หรือ “อยุธยา”

ดังนั้น ถ้าจะเคยมีใครเรียกชื่อเมืองสาเกตุนคร สลับแทนด้วยชื่อ “อยุธยา” หรือที่ตำนานรังคธาตุเรียก “ศรีอโยธิกา” ก็เป็นไปได้

ข้อความตอนนี้จึงควรที่จะเป็นการผูกตำนานขึ้นเพื่ออธิบายเหตุของการที่มีผู้เรียกชื่อเมืองอย่างนี้มาแต่โบราณ โดยในคนชั้นหลังที่ได้เรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุขึ้นมา

และในอุษาคเนย์นั้น ชื่อ “อยุธยา” ยังมักปรากฏคู่กับชื่อเมือง “ทวารวดี” เช่นคำว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เป็นต้น โดยจะสังเกตได้ว่าเป็นการผูกชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียคือ เมืองอยุธยาของ “พระราม” และเมืองทวารวดี (หรือทวารกาก็เรียก) ของพระกฤษณะเข้าไว้ด้วยกัน (น่าเชื่อว่า การใช้คำว่า “ปักตู” แทนเมืองนั้น เกี่ยวข้องกับชื่อเมืองทวารวดี ซึ่งตามปรัมปราคติว่า เป็นมหานครที่มีประตูมาก) ซึ่งก็คงเคยปรากฏขึ้นที่ร้อยเอ็ดด้วย จึงมีข้อความต่อจากนี้ในตำนานเรื่องเดียวกันนี้ด้วยว่า

“ชื่อว่า ศรีอมรณีแลโยธิกา (เข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก ศรีทวารวดีอโยธยา) นั้น เป็นชื่อแห่งพญาทั้งสองอันกินเมืองตามชื่อต้นไม้อันเป็นยาที่เจ้ารัสสีแต่งไว้ให้

ชื่อว่า อโยธิกา นั้น เจ้ารัสสีใส่ชื่อไว้ก่อน พญาร้อยเอ็ดเมืองจึงว่าสืบความแล…

…ชื่อว่า ทวารวดี เหตุมีผีเสื้อเมืองรักษาปักตูเวียงร้องดังเสียง ลวา นั้นแล”

“เจ้ารัสสี” ที่ตำนานว่าคือ “ฤๅษี” ที่เหาะมาจากป่าหิมพานต์เป็นผู้ทำราชาภิเษก พญาศรีอมรณี และพญาโยธิกาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาเกตุนคร และเมืองกุรุนทะนคร ตามลำดับ โดยน่าสังเกตด้วยว่า ตำนานเล่าว่าก่อนที่พญาทั้งสององค์นี้จะทำพิธีราชาภิเษกให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดชขึ้นเป็นกษัตริย์นั้น ก็ได้สำเร็จวิชาจากเจ้ารัสสี จนเหาะเหินเดินอากาศได้ เรียกว่าได้ว่าอยู่ในฐานะผู้วิเศษ มีอำนาจเหนือมนุษย์มาก่อนสละราชย์ แล้วกลายเป็น “อาชญาอันรักษาปักตูเมืองร้อยเอ็ดปักตู” คือ “อาชญารักษาเมืองร้อยเอ็ด” และก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ตำนานเรียกว่า “ผีเสื้อรักษาปักตูเมือง” เพราะคำว่า “ผีเสื้อ” นั้นก็คือ “ผีเชื้อ” คือ “ผีบรรพชน” ผู้ปกปักรักษาเมืองนั่นแหละ

อนึ่ง ในปัจจุบันนี้เมืองร้อยเอ็ดก็ยังมีแนวคิดเรื่องผีผู้ปกปักเมืองคือ “เจ้าพ่อมเหศักดิ์” ซึ่งคือผีอารักษ์ประจำเมือง ดังปรากฏศาลอยู่ที่บริเวณวัดบูรพาภิราม มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

ข้อความในตำนานอุรังคธาตุยังมีคำอธิบายชื่อต่างๆ ของเมืองร้อยเอ็ดเดิมอยู่อีก โดยนำไปอธิบายในทำนองที่ว่า เป็นชื่อของเมืองในที่เรียกต่างกันในแต่ละยุคของพระอดีตพุทธเจ้า ดังที่มีข้อความว่า

“ชื่อว่า กุรุนทะนคร นั้น ตามชื่อแต่ปฐมกัป เมืองอันนี้เมื่อปางศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันธเจ้านั้น

ชื่อว่า เมืองกุรุฏฐะนคร (บางสำนวนว่า กุรุรัฐนคร) เมื่อปางศาสนาพระเจ้าโกนาคมเจ้า

ชื่อว่า เมืองพาหละนคร (บางสำนวนว่า เมืองหัตถนคร, พาหาระนคร, พาหระนคร) เมื่อปางศาสนาพระเจ้าพระกัสสปะเจ้า”

เอาเข้าจริงแล้ว นอกจากตำนานอุรังคธาตุจะเขียนคำว่า “ร้อยเอ็ด” ด้วยตัวอักษร ไม่ใช่ตัวเลขแล้ว ก็ยังมีร่องรอยหลักฐานความสำคัญของเมืองร้อยเอ็ดในอดีต ผ่านชื่อเก่าแก่ต่างๆ ที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในตำนานเรื่องนี้ รวมทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ชื่อร้อยเอ็ดนั้น เป็นสัญลักษณ์ความเป็นจักรพรรดิราช เหนือพญาร้อยเอ็ดประตูเมือง ของกษัตริย์ที่มีชื่ออยู่ในตำนานอย่าง พญาสุริยวงศาสิทธิเดช อีกด้วย

จังหวัดร้อยเอ็ดจึงควรที่จะเลิกด้อยค่าตนเองว่า มีประตูเมืองเพียง 11 ประตู เพราะซอฟต์เพาเวอร์ของชื่อร้อยเอ็ดที่ปรากฏอยู่ในตำนานอุรังคธาตุนั้น สร้างมูลค่าให้กับจังหวัดได้มากกว่านั้นอีกมากเลยทีเดียว •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ