อาหารมื้อนั้น… | เรื่องสั้น : วัชรินทร์ จันทร์ชนะ

เรื่องสั้น | วัชรินทร์ จันทร์ชนะ

อาหารมื้อนั้น…

 

“ฉันยังไม่เคยเห็นผู้บัญชาการคนไหนเป็นคนหนุ่ม

ฉันเห็นแต่ผู้บัญชาการเป็นคนแก่

ให้คนหนุ่มออกรบฆ่ากันให้ตาย

เพื่อให้คนแก่เหล่านั้นจะได้อยู่นานต่อไปอีก

ฉันไม่เคยเห็นผู้หวงอาหารเป็นคนหนุ่ม

ฉันเห็นแต่ผู้หวงอาหารเป็นคนแก่

ให้คนหนุ่มออกหาอาหารแล้ว

คนแก่ก็กักตุนอ้างเป็นของตนเอง…”

 

บทกวี “คนไม่ดี” ของ จ่าง แซ่ตั้ง เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2513 ที่เพื่อนคนหนึ่งเอามาโพสต์ในเฟซบุ๊กเปิดบาดแผลในชีวิตจนผมไม่เป็นอันทำอะไร รบกวนความคิดและทรมานจิตใจ

ความสิ้นศรัทธาในตนเองเป็นความทุกข์ทรมานที่สุดของชีวิต

เพื่อไม่ให้ว่างและฟุ้งซ่าน ผมพยายามนึกย้อนและสืบค้นข้อมูลว่า ปี พ.ศ.2513 เหตุการณ์บ้านเมืองสมัยนั้นเป็นอย่างไร อะไรดาลใจให้เกิดบทกวีนี้

จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี พ.ศ.2506-2516

ปี พ.ศ.2513 กุมภาพันธ์-โรงแรมดุสิตธานี เริ่มเปิดดำเนินกิจการ มีนาคม-สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรก สิงหาคม-จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ย้อนไปปี พ.ศ.2512 มกราคม-พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งปี พ.ศ.2485 ไม่เคยจดทะเบียนตามกฎหมาย แต่เคยมี ส.ส.สังกัดพรรคอยู่ช่วงหนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ.2508-2526 เป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจับอาวุธสู้รบกับรัฐบาลไทย

ย้อนไปปี พ.ศ.2496 จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านเผด็จการทหารและเป็นสาราณียกรของหนังสือ “มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496” เป็นหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรุ่นพี่คลั่งระบบ SOTUS ตั้งศาลเตี้ยและจับโยนบกลงจากเวทีที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยต่อหน้านิสิต 3,000 คน ตอนนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2508 จิตร ภูมิศักดิ์ เดินทางเข้าป่าที่สกลนคร และโดนทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนล้อมยิงเสียชีวิต ในปี พ.ศ.2509

ปี พ.ศ.2510 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เรียนจบมัธยมปลาย เข้าศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทุนไปอเมริกาหนึ่งปี กลับมาปี พ.ศ.2511 และปี พ.ศ.2516 เป็นแกนนำนักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

ช่วงปี พ.ศ.2512-2515 เป็นช่วงที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาล และเข้ามามีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นยุคของศิลปะและวรรณกรรมเพื่อชีวิต

กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2513 มีการจัดตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผลเนื่องมาจากการจัดสัมมนานิสิตนักศึกษาในหัวข้อ “บทบาทนักศึกษาในการพัฒนาประเทศ” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปี 2513 “จ่าง แซ่ตั้ง” มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะและบทกวี มีการสัมภาษณ์นิตยสารและสำนักข่าวต่างประเทศ มีการเผยแพร่ผลงานไปทั่วโลก…

 

วิถีชีวิตราชการทำให้ผมต้องไขว่คว้าตำแหน่งและอำนาจ ด้วยคิดว่าคือความมั่นคง แต่ผลกลับตรงข้าม ตำแหน่งยิ่งสูงยิ่งถูกสั่งย้ายได้ตลอดเวลา ไม่คุ้มกับที่ต้องแลกมาด้วยการห่างบ้าน ห่างลูก ครอบครัวแตกแยก

และบางครั้งยิ่งต้องเจ็บปวดกับการที่ไม่อาจรักษาอุดมการณ์เก่าๆ ไว้ได้

“ชีวิตคนเราควรรักษาไว้ 2 อย่าง คือ อุดมการณ์กับความรักดีๆ” ผมเคยบอกใครต่อใครไปแบบนั้น

โดนสั่งต้องทำ ไม่ทำก็โดนย้าย

ทุกวันนี้ทุกเรื่องมีกฎระเบียบป้องกันการทุจริตต่างๆ ไว้อย่างแน่นหนา แต่คนเขียนกฎจะเป็นคนสั่งให้ทำผิดกฎเอง ต้องหาช่องทางและแบกรับความเสี่ยงเอาเอง คนสั่งลอยตัว

คนสั่งก็ถูกสั่งมาอีกที

 

“ตากลับมาเลือกตั้งมั้ย” เสียงของหลานยังก้องอยู่ในหู

การเลือกตั้ง ส.ส.รอบนี้ซื้อเสียงกันแทบทุกพรรค และน่าจะมากสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง

ผมตัดสินใจวันสุดท้ายหลังจากโทรหาเพื่อนให้ช่วยติดต่อหัวคะแนนและได้เงินมา 2,500 บาท ซึ่งเพียงพอกับตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เพราะอยากกลับไปหาลูกหลาน แม้ในใจจะเชียร์พรรคการเมืองหนึ่ง แต่ผมคิดว่าหนึ่งเสียงไม่มีความหมาย การเลือกตั้งภายใต้กติกาฉ้อฉลพรรคที่ชนะอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล สถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ปกติ

ผมลงเครื่องและนั่งแท็กซี่ นัดเจอกันที่ห้าง หลานสาวโผเข้ากอด ลูกสาวอุ้มลูกชายคนเล็กอายุใกล้ครบขวบ บอกลูกชายให้สวัสดีตา ก่อนไปกินอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่างด้วยกัน

ผมไม่ได้ถามถึงลูกเขย ไม่มาทำให้เสียบรรยากาศก็ดีอยู่แล้ว ปกติไม่ค่อยมองหน้ากัน

ลูกสาวเลือกแบบบุฟเฟ่ต์หัวละ 799 บาท เพราะมีอาหารหลากหลายและรู้สึกว่าคุ้มค่า

หลานสาวเล่าเรื่องการเรียนที่โรงเรียนและการวางแผนศึกษาต่อมหาวิทยาลัย หลานเข้าใจระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ซึ่งมีความซับซ้อนดีกว่าผม มั่นใจว่าหลานไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดของมหาวิทยาลัยที่แย่งนักศึกษากัน ผมเพียงบอกหลานว่า เดี๋ยวนี้ตอนสัมภาษณ์ กรรมการบางคนเขาดูทัศนคติจากเฟซบุ๊ก โพสต์อะไรที่สุ่มเสี่ยงก็ลบๆ เสียบ้าง

ตอนจ่ายเงินผมใช้วิธีสแกนผ่านแอพพลิเคชั่นและแวบหนึ่งของความคิดทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยดี

เงิน 2,500 บาท เมื่ออยู่ในบัญชีเรามันแยกไม่ออกว่าเป็นค่าเครื่องบิน ค่าอาหาร หรือค่าอะไร

ผมไม่อยากใช้เงินสกปรกเลี้ยงลูกหลาน เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมระมัดระวังมาก มีคนเคยบอกว่า ถ้าเลี้ยงลูกหลานด้วยเงินสกปรก ลูกหลานก็จะสกปรก มันเป็นเวรเป็นกรรม ผลกรรมจะตกกับลูกหลาน มองหน้าหลานสาวแล้วผมรู้สึกใจคอไม่ดี

ผมขอโทษหลานสาวในใจ

 

ประมาณสองทุ่ม เพื่อนโทร.เข้ามาสอบถามเรื่องคะแนนเสียงในครอบครัว บอกสถานการณ์สูสีกันสามคน ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ซื้อกันหัวละ 3,000-4,000 บาทแล้ว

ผมบอกว่าผมไม่กล้าคุย แต่ละคนคงมีคนในใจ

ผมขับรถพาลูกสาวและหลานสาวไปเลือกตั้งด้วยกัน แต่ไม่ได้คุยกัน ว่าใครเลือกใคร และเพื่อความสบายใจของทุกคน

หลังส่งลูกสาวที่สำนักงานเพื่อสะสางงานที่คั่งค้าง จึงมีโอกาสได้คุยกับหลานสาว

“การเลือกตั้งรอบนี้ซื้อเสียงกันทุกพรรค” ผมเปรย

“เพื่อนบอกว่าบ้านเขาขายยกครอบครัวได้หมื่นหนึ่ง” หลานสาวบอก

“ทำไมไม่บอกให้มาซื้อที่บ้านเรา ตั้งสี่เสียง” ผมแกล้งพูด

“เราไม่ขายเสียงดีแล้วแหละตา” หลานสาวบอก

“ทำไม” ผมถาม “ก็ซื้อกันทุกพรรค”

“ถ้าเราขายเสียง เขาก็ยิ่งต้องลงทุนสูง เขาก็ยิ่งต้องถอนทุนเยอะ” หลานสาวบอก “เราช่วยให้เขาโกงน้อยลง”

 

“ฉันไม่เคยเห็นคนหนุ่มหวงสวนดอกไม้

ฉันเห็นแต่คนแก่ที่ไม่ดีเอาดอกไม้

ไปขายเป็นเงินเป็นทอง แล้วใส่ประเป๋าของตน…”

บางส่วนของบทกวี “คนไม่ดี” ของ จ่าง แซ่ตั้ง ยิ่งตอกย้ำบาดแผล

“ถ้าเราขายเสียง เขาก็ยิ่งต้องลงทุนสูง เขาก็ยิ่งต้องถอนทุนเยอะ”

“เราช่วยให้เขาโกงน้อยลง”

เสียงของหลานสาว อาหารมื้อนั้น… •