ความรู้สึกนึกคิดของชาวอีสาน ครั้งปราบกบฏบวรเดช | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“เกล้าฯ เป็นเด็กหนุ่ม เป็นโสดและมีความจงรักภักดีต่อชาติประเทศ จึงมิได้สะทกสะท้านและห่วงใยในชีวิต ตายเถิด ถ้าได้ตายเพื่อล้างเสี้ยนหนามของรัฐธรรมนูญและศัตรูของบ้านเมือง”

(บุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิ, 2476)

 

สืบเนื่องจากการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 จากกลุ่มอนุรักษนิยมจวบจนก่อกบฏบวรเดช (2476) ที่มีการกระพือข่าวโจมตีและปล่อยข่าวลือเพื่อสร้างกระแสต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร

แต่รัฐบาลตอบโต้กลับด้วยการมอบให้ปรีดี พนมยงค์ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.วรรณไวทยากร พร้อมกองโฆษณาการรับบทต่อต้านข่าวลือ

เพื่อสร้างกระแสความเข้าใจที่ถูกต้อง ปลุกขวัญกำลังใจแก่สังคมและทหาร พร้อมทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายกบฏ (หจช.สร.0201.1.1/2)

อนุสาวรีย์เทิดรัฐธรรมนูญที่มหาสารคาม 2477

ความตื่นตัวของชาวอีสาน
ในการพิทักษ์ประชาธิปไตย

ท่ามกลางความสับสนของข่าวสารและการลือสะพัดของใบปลิว และการป่าวประกาศไปทั่วชุมชนพระนคร หลายแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันตก โดยฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานอันเป็นฐานกำลังของฝ่ายกบฏ

ทว่า ปรากฏพลเมืองอีสานอาสาสมัครปราบกบฏในจังหวัดขอนแก่นขึ้น เมื่อชาวขอนแก่นจำนวนหนึ่งทราบข่าวเรื่องการยกกองทัพออกจากนครราชสีมาไปยังพระนครจากชาวบ้านขอนแก่นที่เดินทางจากจังหวัดนครราชสีมา แต่ขณะนั้น ข่าวสารยังไม่ชัดเจนนัก

พลันที่สายโทรเลขระหว่างขอนแก่น-กรุงเทพฯ ถูกฝ่ายกบฏตัดขาดลง ข้าราชการและชาวขอนแก่นจึงไปรับฟังข่าววิทยุที่สโมสรข้าราชการจังหวัดขอนแก่น

พระณรงค์ฤทธี (ชาย ดิฐานนท์) ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเรียกประชุมข้าราชการชั้นหัวหน้า ข้าราชการต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ขอนแก่นต้องป้องกันตนเองมิให้ฝ่ายกบฏเข้ามายึดเป็นพื้นที่ต่อต้านรัฐบาลได้

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด บุรีรัยมย์ และขอนแก่น
เครดิตภาพ : The People

แต่เมื่อประเมินกำลังในการป้องกันตนเองแล้วมีกำลังจำนวนน้อย อีกทั้งกรมทหารที่ใกล้จังหวัดขอนแก่นมากที่สุด คือ ทหารจังหวัดอุดรธานีอยู่ไกลออกไปจากตัวจังหวัดมาก

ดังนั้น พระณรงค์ฤทธีมอบหมายในทางลับให้อุดม บุญประกอบ อัยการจังหวัด ซึ่งเป็นคนมีพรรคพวกมาก เป็นหัวหน้าจัดตั้ง “หน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏจังหวัดขอนแก่น” ขึ้นอย่างเงียบๆ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกไปทำลายรางรถไฟที่ติดต่อกับนครราชสีมา อีกส่วนไปทำลายรางรถไฟที่ติดกับอุดรธานีเพื่อมิให้ฝ่ายกบฏเข้าเมืองได้

จากนั้น เขาพยายามติดต่อกับรัฐบาลแต่สายโทรเลขถูกตัด เขาจึงให้คนถือจดหมายข้ามไปกงสุลไทยที่เวียงจันทน์ให้แจ้งไปยังสถานทูตไทยในฝรั่งเศสให้โทรเลขแจ้งความคืบหน้าในการต่อต้านกบฏกลับมาให้รัฐบาลทราบข่าวด้วยความยากลำบาก ต่อมารัฐบาลแต่งตั้งให้เขาเป็นแม่ทัพอีสาน ให้ทหารจังหวัดอุดรฯ ทั้งหมดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระณรงค์ฤทธี (นายอุดม บุญประกอบ, 2512, 21-22; พระณรงค์ฤทธี, 2511, 17-18)

พระณรงค์ฤทธีเล่าให้ลูกหลานฟังว่า “ข้าฯ เป็นเจ้าเมือง เหตุการณ์อย่างนี้จะไปปรึกษาใครที่ไหนกัน เพราะว่าขบถเข้าถึงเมืองเราก็เจ๊งกันเท่านั้น ข้าฯ จะเอากำลังที่ไหน มีแต่พลเรือนหรือจะไปสู้กับทหารได้ และการสู้กับขบถนั้น ถ้าเราตายก็ยังได้ชื่อเสียงว่า สู้กับขบถจนตัวตาย…” (พระณรงค์ฤทธี, 18)

จากนั้น มีการเรียกระดมอาสาสมัครชาวขอนแก่นได้จำนวนมาก มีทั้งข้าราชการเจ้าหน้าที่รถไฟ และชาวขอนแก่น โดยอุดมสั่งให้อาสาสมัครจัดเตรียมอาวุธปืนให้พร้อมในการต่อสู้ และให้อาสาสมัครที่เป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างทางรถไฟนำดินปืนที่ใช้ระเบิดหินสร้างทางรถไฟมาเก็บไว้ในที่ปิดลับ นอกจากนี้ พระณรงค์ฤทธีรวบรวมกระสุนปืนจากร้านค้าในตลาดมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อแจกจ่ายให้อาสาสมัครเตรียมการต่อต้านฝ่ายกบฏ (ศิลปวัฒนธรรม, 26; 7, 2548, 64-67; นายอุดม บุญประกอบ, 2512, 21-22)

พระณรงค์ฤทธี ผวจ.ขอนแก่น ประดับเหรียญปราบกบฏ และอุดม บุญประกอบ อัยการขอนแก่น

สำนึกของคนอีสาน
ในกระแสความเปลี่ยนแปลง

ในร่างปาฐกถาของเวทย์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ข้าราชการกองไฟฟ้า และปัญญาชนเชื้อสายเจ้าเมืองมหาสารคาม เขาเสนอตัวช่วยเหลือรัฐบาลด้วยปาฐกถาชี้แจงระบอบรัฐธรรมนูญและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับกบฏบวรเดชให้ชาวบ้านมหาสารคาม กาฬสินธุ์และขอนแก่นได้รับฟัง เนื้อความกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิวัติที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเขาได้เป็นอย่างดี ความว่า

“ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ก็คือการแบ่งชั้นวรรณะ การถือยศถาบรรดาศักดิ์ การพึ่งใบบุญจากผู้มีอำนาจวาสนาอันสมมุติตนเป็นเทวดาคอยปกปักษ์รักษาคนชั้นต่ำ แต่ความจริงบรรพบุรุษของคนชั้นต่ำ ก็ได้อาบเหงื่อต่างน้ำ ยอมพลีชีพเพื่อชาติมาด้วยกันทั้งนั้น…มาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475…คณะราษฎร…ได้สามัคคีกันยึดอำนาจการปกครอง เหตุทั้งนี้ เพื่อลดอำนาจบุคคลบางพวกและพวกบูชายศศักดิ์เพื่อให้คนไทยทุกคนเป็นอิสระแก่ตัวจริงๆ สมชื่อกับคำว่าไทย…ทุกสิ่งทุกอย่างได้สัมฤทธิผลสมดั่งปรารถนากระทั่งพวกชาวเราได้รัฐธรรมนูญ แปลอย่างภาษามนุษย์ให้เข้าใจกันก็ว่า กฎหมายเสมอภาค”

น้ำเสียงของเวทย์ สะท้อนการปลุกเร้าให้ชาวอีสานตระหนักว่า กบฏบวรเดชนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติ ทำให้พี่น้องชาวโคราชและชาวไทยต้องมาฆ่ากันเอง จึงเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อระบอบรัฐธรรมนูญ สมควรที่พี่น้องทั้งหลายจะต้องร่วมกันต่อต้านและช่วยกันพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญนี้ให้มั่นคง (ประวิทย์ สายสงวนวงศ์, 240)

การชุมนุมของชาวอุดรธานีที่สถานีรถไฟ 2484

ด้านบุญเรือง จุลรักษา ชาวจังหวัดชัยภูมิ เขียนจดหมายไปยังรัฐบาล ตั้งข้อสังเกตและรายงานพฤติกรรมของข้าราชการผู้ใหญ่ในชัยภูมิที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจว่า พระยากาธรพายัพทิศ เจ้าเมืองชัยภูมิและข้าราชการคนอื่นๆ เป็นผู้ฝักใฝ่ในระบอบเก่า นอกจากนี้ ข้าราชการบางคนมีพฤติกรรมสนับสนุนพระองค์เจ้าบวรเดชอย่างชัดแจ้งด้วยการช่วยจัดพิมพ์ใบปลิวแจกจ่ายให้กับราษฎรด้วย

เขาเสนอความเห็นให้จัดการกับบุคคลเหล่านี้อย่างเด็ดขาด หรืออย่าให้มาเกี่ยวข้องงานของรัฐบาล เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสคิดการใหญ่จนอาจเป็นภัยต่อระบอบรัฐธรรมนูญได้ เขาได้รายงานความรู้สึกของชาวนครราชสีมาว่า ชาวนครราชสีมายังมีความเชื่อมั่นในพระองค์เจ้าบวรเดชอยู่ พวกเขาเห็นว่า รัฐบาลเป็นคอมมิวนิสต์จริงตามข้อกล่าวหาของกบฏบวรเดช

ความคลางแคลงใจของบุญเรืองนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ข้าราชการรุ่นเก่าในจังหวัดชัยภูมิเท่านั้น แต่เขายังเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาต่อรัฐบาลว่า ลึกๆ แล้วเขาคิดว่า “…ของเรา ปรารถนาดีต่อรัฐธรรมนูญแน่หรือ?” เนื่องจากไม่แสดงอย่างเปิดเผยที่จะสนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญอย่างใดเลย (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

บุญเรืองกล่าวต่อไปว่า ตนเอง “ในฐานะผู้เป็นพลเมืองของประเทศสยามผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในร่มธงของรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้หย่อนความเคารพแต่อย่างใด ตราบที่มิเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญ บุญเรืองทิ้งท้ายด้วยภาษาอันดุดันซึ่งสะท้อนความคาดหวังและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของคนรุ่นใหม่อย่างเขาว่า “เกล้าฯ เป็นเด็กหนุ่ม เป็นโสดและมีความจงรักภักดีต่อชาติประเทศ จึงมิได้สะทกสะท้านและห่วงใยในชีวิต ตายเถิด ถ้าได้ตายเพื่อล้างเสี้ยนหนามของรัฐธรรมนูญและศัตรูของบ้านเมือง” (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

เขาเล่าต่อไปว่า หลังกบฏพ่นแพ้แล้ว เขาเคยกลัดเข็มรัฐธรรมนูญ เข้าในจังหวัดนครราชสีมา แต่เขาโดนคนนครราชสีมารังเกียจ นอกจากนี้ เขาตั้งข้อสังเกต แสดงความห่วงใยรัฐบาลว่า “คณะรัฐบาลควรระมัดระวังให้จงหนักในคณะเจ้าซึ่งรวมถึงคนของเจ้าด้วย”

อย่างไรก็ตาม เขาลงท้ายในจดหมายว่า “เกล้าฯ เป็นเด็กหนุ่ม เป็นโสด และมีความจงรักภักดีต่อชาติประเทศ จึงมิได้สะทกสะท้านและห่วงใยชีวิตตนเอง ตายเถิด ถ้าได้ตายเพื่อล้างเสี้ยนหนามของรัฐธรรมนูญและศัตรูของบ้านเมือง” (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

เรื่องราวเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ชาวอีสานในระดับข้าราชการและปัญญาชนที่สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 ตระหนักดีถึงสิ่งตกค้างจากระบอบเก่าที่ดำรงอยู่ในการปกครองที่ใกล้ตัวเขา และพวกเขาจึงให้การสนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรปราบกบฏครั้งนั้น

บุญเรือง จุลรักษา ชาวชัยภูมิเข้าร่วมปรากบฏบวรเดชและผลงานของเขา
เข็มกลัดรัฐธรรมนูญ