ก้าวสู่ยุคใหม่ ‘อัลไซเมอร์’ รักษาได้? | จักรกฤษณ์ สิริริน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เนื่องจากมีการสะสมของโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองมากเกินไป

เมื่อโปรตีนทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เข้าไปจับกับ Cell สมองจะเกิดเป็นหินปูน ส่งผลให้ Cell สมองเสื่อม และฝ่อลง จนสมองไม่สามารถทำงาน (ส่งสัญญาณไฟฟ้าด้วยเคมี) ตามปกติได้

ทำให้ระบบสื่อสารภายใน Cell สมองได้รับความเสียหาย จากการลดลงของสารสื่อประสาท Acetylcholine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความจำ

การที่สมองมีโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau มากเกินไปทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วน Hippocampus ซึ่งมีหน้าที่จดจำข้อมูล เมื่อ Cell สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำระยะสั้น

จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆและส่งผลต่อการเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดภาษาและพฤติกรรมนำไปสู่อาการอัลไซเมอร์

 

ข้อมูลจากหลายแหล่งวิจัย ชี้ตรงกันว่า ความสามารถในการจดจำของมนุษย์นับจากอายุ 19 ปีเป็นต้นไปจะค่อยๆ เสื่อมลงตามวัย และจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ทุกๆ ปี

จากความทรงจำที่แม่นยำ 95% ในช่วงอายุ 19 ปี จะลดเหลือ 45% เมื่อถึงวัย 75

อัลไซเมอร์จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดนั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชุกของโรคที่จะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ซึ่งจะพบความชุก 10-15% ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และจะพบความชุก 20-30% ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปี

ล่าสุดมีการเปิดตัวยารักษาอัลไซเมอร์ตัวใหม่

เป็นของ Eli Lilly ซึ่งใช้ได้ผลในรูปแบบเดียวกับยาอัลไซเมอร์ของ Eisai and Biogen ที่เคยเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ในฐานะยารักษาอัลไซเมอร์ตัวแรกของโลกซึ่งพิสูจน์แล้วว่า สามารถชะลออาการอัลไซเมอร์ได้จริง!

แม้ยาทั้งสองจะถือเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติทว่าทั้ง 2 ตัว ยังไม่สามารถรักษาอัลไซเมอร์ได้อย่างสิ้นเชิง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงในการใช้

อาทิเคยมีอาสาสมัคร 2 คน เสียชีวิตจากอาการบวมในสมอง เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยารักษาอัลไซเมอร์อีกตัวหนึ่ง เคยถูกสหภาพยุโรปปฏิเสธการใช้ จากความกังวลด้านความปลอดภัย และขาดหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ายาใช้ได้ผล

ยาอัลไซเมอร์ล่าสุดเป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อขจัดปัจจัยสำคัญซึ่งนำมาสู่การเป็นอัลไซเมอร์นั่นคือ โปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมอง

เป็นการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดที่สามารถช่วยชะลออาการของอัลไซเมอร์ได้ในช่วงแรกเริ่มแสดงอาการ และแม้ตัวยาจะใช้กับอัลไซเมอร์ได้ดี ทว่า ไม่สามารถนำไปใช้กับภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ได้ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง

ล่าสุดมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยของยานี้ในวารสารวิชาการ JAMA ที่พบว่า สามารถชะลออาการสมองเสื่อมได้ถึง 1 ใน 3

นี่จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการรักษาอัลไซเมอร์ของโลกเลยทีเดียว!

 

สําหรับเบื้องหลังกระบวนการพัฒนายาอัลไซเมอร์ที่ว่านี้ นักวิจัยของ Eli Lilly เริ่มต้นด้วยการตรวจอาการของประชาชน 1,736 คน อายุระหว่าง 60-85 ปี ที่กำลังป่วยด้วยอัลไซเมอร์ระยะแรกเริ่ม

โดยกำหนดระยะเวลาในการทดลองจำนวนทั้งสิ้น 18 เดือน ซึ่งจะให้ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งจะได้รับยาอัลไซเมอร์ เดือนละหนึ่งครั้ง ส่วนผู้ป่วยอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับยาหลอก

ผลการทดลองพบว่า

1. ยานี้มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยก็กับผู้ป่วยบางคน

2. จากการสแกนสมองเพื่อตรวจสอบ ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกเริ่ม และมีโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองน้อยกว่า จะได้รับประโยชน์มากกว่า เพราะพบว่าโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองหายไปมากกว่า

3. ผู้ป่วยที่ได้รับยา สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน รับโทรศัพท์ หรือทำงานอดิเรกได้

4. จากการสังเกตการณ์สิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ในแต่ละวัน ประเมินได้ว่าอาการอัลไซเมอร์ชะลอลง 20-30% และอาจถึง 30-40% สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่ยาใช้ได้ผลมากกว่า

5. การใช้ยานี้มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ และผู้ป่วยจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในการรักษา

6. ผู้ป่วยที่ได้รับยา ครึ่งหนึ่งสามารถยุติการรักษาได้หลังรับยาต่อเนื่อง 1 ปี เพราะตัวยาได้ขจัดโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว

7. ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองเป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดอาการของอัลไซเมอร์เท่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า การรักษาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง หากรักษาในระยะยาวต่อไปได้หรือไม่

8. ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แม้ผลของยาอาจจะไม่มากนัก แต่ผลลัพธ์สำคัญก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า การขจัดโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมอง อาจชะลอพัฒนาการของอัลไซเมอร์และจะช่วยผู้ป่วยหายจากอัลไซเมอร์ได้ หากได้รับการรักษาในช่วงเวลาที่ถูกต้อง

ซึ่งก็คือผู้ที่กำลังป่วยด้วยอัลไซเมอร์ระยะแรกเริ่มนั่นเอง

 

ศาสตราจารย์ ดร. Giles Hardingham จากสถาบันวิจัยโรคสมองเสื่อมแห่งสหราชอาณาจักรบอกว่า น่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผลลัพธ์ที่ตีพิมพ์อย่างละเอียดในวารสาร JAMA

พวกเราเฝ้าคอยยาแบบนี้มานานแล้ว มันจึงเป็นความสมหวังที่ได้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แน่นอนว่า เรากำลังอยู่ในจุดที่น่าตื่นเต้นมาก และการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญต่อแนวทางรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเสี่ยงกับภาวะสมองเสื่อมศาสตราจารย์ ดร. Giles Hardingham กระชุ่น

เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ดร. Susan Kohlhaas จากสถาบันวิจัยอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักรที่กล่าวว่า บทความใน JAMA นี้ เป็นอีกก้าวย่างสำคัญ

นี่คือผลจากการวิจัยนานหลายสิบปี ในที่สุด มุมมองต่อภาวะสมองเสื่อม และผลกระทบต่อผู้คน และสังคม กำลังเปลี่ยนแปลงไป เรากำลังก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่อัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาได้ศาสตราจารย์ ดร. Susan Kohlhaas เผย

สอดคล้องกับ Kate Lee จากสมาคมอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งระบุว่า ข่าวเกี่ยวกับยาอัลไซเมอร์ล่าสุด ถือเป็นสถานการณ์สำคัญต่อการวิจัยภาวะสมองเสื่อม

แต่ฉันคิดว่า การรักษาแนวใหม่นี้ อาจจะไปไม่ถึงคนไข้ได้ทันเวลา หากเรายังไม่สามารถพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยโรคให้ดีกว่าเดิม และเร็วกว่าเดิม” Kate Lee สรุป

 

ทั้งนี้ ประชากรในสหราชอาณาจักรจำนวน 720,000 คน อาจได้รับประโยชน์จากแนวทางรักษาอัลไซเมอร์ตัวใหม่ มากขึ้นจากในอดีต ที่กว่าจะเข้ารับการรักษาได้ จะต้องมีการตรวจสอบแบบเฉพาะทาง ว่าผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะที่จะเข้ารับการรักษาหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้นยาอัลไซเมอร์ตัวเก่าๆกำหนดไว้ว่าต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับยาและสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องซึ่ง National Health Service หรือ NHS (ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร) ยังไม่พร้อมแบกรับภาระในระดับนี้

สำหรับยารักษาอัลไซเมอร์ตัวแรก ที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้รักษาในสหรัฐ มีราคาต่อคอร์สการรักษาที่ 900,000 บาท

ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าราคาของยาอัลไซเมอร์ล่าสุดจะอยู่ที่เท่าไหร่และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนเพื่ออนุมัติการใช้รักษาในสหราชอาณาจักร

แต่ผู้เชี่ยวชาญอัลไซเมอร์มองว่า การมีตัวยาที่ใช้ได้มากกว่า 1 ตัว จะช่วยทำให้เกิดการแข่งขัน จนทำให้ราคาลดลง และผู้คนสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น