ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
เป็นอันว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในโลก ถือเป็นสถิติใหม่ล่าสุด นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติฟันธงแล้วว่าวันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” (Global boiling)
สอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สรุปตรงกันว่าอากาศร้อนสุดสุดเวลานี้คือ “ร้อนมรณะ” ( Killer Heat)
และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
เชื่อว่า ผู้คนเกือบทั้งโลกพากันยอมรับเหมือนนักวิทยาศาสตร์และเลขาฯ ยูเอ็นว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
เปลี่ยนเป็นร้อนมากร้อนโหด แม้อยู่ในที่ร่มก็รู้สึกเหมือนอยู่ในเตาอบ เครื่องปรับอากาศจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น
ร้อนโหดๆ ทำให้ผู้คนเครียดมากขึ้น เครียดจากร่างกายเหนียวเหนอะรู้สึกไม่สบายตัว
บางคนมีอาการคลุ้มคลั่งเพราะร่างกายปรับสภาพอุณหภูมิที่เพิ่มสูงไม่ได้
เมื่อถึงสิ้นเดือน หลายคนเครียดมากขึ้นไปอีกเมื่อใบแจ้งหนี้การไฟฟ้ามาถึงบ้านเพราะค่าไฟแพงกระฉูด
อาการเครียดเพราะอากาศร้อนไม่ใช่มีแค่ผู้คนเท่านั้น แต่บรรดาสัตว์ทั้งหลายก็พากันประสบปัญหาเดือดร้อนไปด้วย
นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมของฉลาม เป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามมากที่สุดจากเหตุการจับประมงมากเกินขนาด และแหล่งที่อยู่อาศัยเปลี่ยนสภาพไป สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ หรือ IUCN ขึ้นทะเบียนสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะปริมาณฉลามลดลงเหลืออยู่ในโลกเพียง 37 เปอร์เซ็นต์
“ฉลาม” มาเจอภัยคุกคามชนิดใหม่นั่นคือน้ำทะเลร้อนขึ้นและเกิดปฏิกิริยากลายเป็นทะเลกรด (ocean acidification) เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศร้อนจัด
ตลอด 8 ปีตั้งแต่ปี 2558-2565 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิในมหาสมุทรขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เป็นมา และเดือนเมษายนปีนี้ เห็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างชัดเจน
มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า สาเหตุทะเลร้อนเพราะการเพิ่มขึ้นของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก จากการศึกษาพบเมื่อ 273 ปีที่แล้วระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกมีความเข้มข้นอยู่ที่ 280 ส่วนต่อล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (part per million)
มาในปี 2556 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มเป็น 400 พีพีเอ็ม ถ้าชาวโลกไม่ช่วยกันหยุดการปล่อยก๊าซพิษภายในปี 2643 ปริมาณก๊าซพิษจะอัดแน่นในชั้นบรรยากาศมากถึง 940 พีพีเอ็ม
แค่ 400 พีพีเอ็ม โลกก็ร้อนระอุขนาดนี้ หากคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกเป็น 940 พีพีเอ็ม ชาวโลกจะอยู่ในขุมนรกร้อนระอุชั้นไหน?
ตามวัฏจักรธรรมชาติ คลื่นความร้อน ไฟป่า ภัยแล้ง เกิดขึ้นอยู่แล้ว เกิดก่อนชาวโลกจะเผาถ่านหิน ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ไม่ได้เกิดบ่อยถี่เหมือนที่เห็นในปัจจุบัน
ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คลื่นความร้อนในจีนเกิดขึ้นเฉลี่ย 250 ปีต่อครั้ง แต่ปัจจุบัน การเกิดคลื่นความร้อนในจีนกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อปีที่แล้ว คลื่นความร้อนเกิดนานถึง 72 วัน ทำลายสถิติเก่า 62 วันเมื่อปี 2556
สำนักงานบริหารอุตุนิยมวิทยาของจีนบอกว่า คลื่นความร้อนเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ บางแห่งอุณหภูมิทะลุ 43 องศาเซลเซียส ใครใส่รองเท้ายางเดินบนทางเท้าที่ร้อนระอุ พื้นรองเท้าหลอมละลายได้เลย
ความร้อนระอุได้แผ่ลงสู่พื้นผิวน้ำทะเลซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมโลกราว 3 ใน 4
นอกจากความร้อนแล้ว น้ำทะเลยังดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทะเลกลายเป็นกรด
อัตราการเปลี่ยนเป็นทะเลกรดเร็วมากเมื่อย้อนไปเทียบกับอดีต 650,000 ปีที่แล้ว
ทะเลเป็นกรดมีผลต่อสัตว์กระดูกอ่อนและกัดกร่อนปะการังจนละลายสิ้น
เมื่อไม่กี่วันมานี้ นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบทุ่นลอยน้ำติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิในมหาสมุทรแอตแลนติก แถวๆ รัฐฟลอริดา สหรัฐ พบตัวเลขพุ่งสูงปรี้ดถึง 38 องศาเซลเซียส
ตัวเลขดังกล่าวสร้างความตระหนกตกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันอย่างมากเพราะเป็นสถิติใหม่ที่เพิ่งเกิด ลบสถิติเก่าจากอ่าวคูเวต เมื่อปี 2563 วัดได้ 37.61 องศาเซลเซียส ปกติแล้ว อุณหภูมิในทะเลเปิดเฉลี่ยอยู่ราว 32.2 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส แน่นอนว่ากระทบกับสัตว์ใต้ทะเล และเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ความร้อนกำลังคืบคลานคุกคามระบบนิเวศใต้ทะเลทางขั้วโลกเหนือ
ถ้าอุณหภูมิยังเพิ่มสูง 38 องศาเซลเซียส ต่อไป แหล่งปะการังในบริเวณนั้นจะโดนฟอกขาว สัตว์ใต้ทะเลที่อาศัยพึ่งพิงแหล่งปะการังจะพากันอพยพหลบหนี ยังโชคดีที่ในกลางคืนอุณหภูมิในอ่าวฟลอริดาลดลง 10 องศาเซลเซียส แหล่งปะการังลดความเสี่ยงจากภัยฟอกขาวลงไปได้บ้าง
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านพฤติกรรมของสัตว์ใต้ทะเลพบว่า เมื่ออุณหภูมิใต้ทะเลเพิ่มสูงขึ้น บรรดาสัตว์ทั้งหลาย เช่น ปลาจะปรับระบบหายใจ ระบบย่อยอาหารและระบบสืบพันธุ์
สําหรับฉลาม เจออุณหภูมิใต้ทะเลร้อนมากขึ้น ก็เปลี่ยนพฤติกรรม จะเร่งความเร็วในการเคลื่อนตัวเป็น 2 เท่าในทุกๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 10 องศาฟาเรนไฮต์
การเพิ่มความเร็วเท่ากับฉลามต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อใช้พลังงานเพิ่ม ระบบการย่อยอาหารเปลี่ยน การดูดซับสารอาหารก็เปลี่ยน ความต้องการอาหารมีมากขึ้นต้องไล่ล่าเพื่อหาเหยื่อเพิ่มขึ้น
ในการวิจัยพบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น บรรดาฝูงปลาจะย้ายถิ่นไปหาแหล่งอาหารในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า ส่วนใหญ่จะขึ้นไปทางเหนือ การย้ายถิ่นฐานเช่นนี้จะทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปด้วย จำนวนปลาลดลงและบางชนิดสูญพันธุ์เพราะไม่ยอมย้ายถิ่นและไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
ส่วนฉลามมีทางเลือก 2 ทางในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด
ทางแรก ย้ายถิ่นฐานขึ้นไปทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อตามฝูงปลาหรืออีกทางเลือกดำดิ่งลงลึกในใต้ทะเลในแหล่งเดิมที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า แต่จำนวนเหยื่อก็ลดลง ในงานวิจัยพบว่า ฉลามเลือกหนทางหลัง
ไม่ว่าฉลามจะเลือกหนทางไหน ก็เป็นแนวทางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก
ว่ากันว่า เมื่อ 400 ล้านปีก่อน เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของฉลามหลายชนิด มาครั้งนี้นอกจากฉลามจะเจอภัยที่เกิดจากการจับปลาเกินขนาดแล้ว ยังต้องมาเจอภัยทะเลร้อนอีกระลอก
ถ้าทะเลไม่มีฉลาม ความสมดุลในระบบนิเวศน์เปลี่ยนอย่างแน่นอน เพราะฉลามคือนักล่าใต้ท้องทะเล ทำหน้าที่ไล่สังหารฝูงปลาที่ป่วย แก่ ว่ายเชื่องช้า เท่ากับเป็นการช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาให้แข็งแรงเพื่อสืบขยายพันธุ์อย่างสมบูรณ์ต่อไป
สรุปได้ว่า ภาวะโลกร้อนไม่ใช่แค่ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ เป็นทุกข์ แต่สัตว์ใต้ทะเลพากันเดือดร้อนด้วย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022