ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
พิจารณาจากคณิตศาสตร์ทางการเมืองล้วนๆ แบบไร้หัวใจ
โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยไปรวมเสียงกับพรรคอื่นๆ โดยมีหรือไม่มีก้าวไกลมีความเป็นไปได้สูงมาก
ดีที่สุดคือรวมกับภูมิใจไทยโดยมีก้าวไกล จะฝ่าด่าน ส.ว. มีนายกฯ จากแคนดิเดตของพรรคอันดับสอง และได้รัฐบาลที่ไม่ต้องมีพรรค “ยี้” อย่างพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติ หรือประชาธิปัตย์ (แน่นอนไม่มีใครลืมอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้)
และเพื่อไทยก็น่าจะอยากได้ส่วนผสมนี้มากที่สุดเพราะพรรคไม่ต้องบอบช้ำมากเกินไป
แต่ถ้าหากพรรคภูมิใจไทยยืนยันหนักแน่นว่าหากมีก้าวไกลจะไม่โหวตให้หรือยื่นข้อเสนอที่ก้าวไกลก็ไม่สามารถถอยให้ได้ เช่น เรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดการพลิกขั้ว และเพื่อไม่ให้เพื่อไทย “ได้” อย่างเดียวโดยไม่เสียอะไร
เพราะฉะนั้น หากเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลต้องยอม “เสีย” อะไรบ้าง ฉันคิดว่าเพื่อไทยเสียมวลชนบางส่วนที่ต่อสู้กับการรัฐประหารมายาวนานไปแน่ๆ
เพื่อไทยจะเสีย “ภาพลักษณ์” หรือ “จุดขาย” ของพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเคียงข้างมากกับ นปช.
และชัดเจนว่ากลุ่ม อ.ธิดา และหมอเหวง โตจิราการ ประกาศชัดเจนว่าหากพลิกขั้ว จะตัดไมตรีกับพรรคเพื่อไทยแน่ๆ เพื่อไทยอาจจะเสียสมาชิกพรรค ส.ส.จำนวนหนึ่งที่คิดว่าย่างก้าวนี้ของพรรคไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์หรือมีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ปัญญาชนนักวิชาการที่โดยธรรมชาติของพวกเขาต้องมีความไม่ไว้วางใจนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองแบบ “เก่า” เป็นที่ตั้ง ก็จะวิจารณ์และโจมตีพรรคการเมืองผ่านเลนส์ของนักวิชาการปัญญาชนที่มองว่านี่คือการกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยอีกครั้ง ทั้งหมดนี้วนลูปไปที่การเมืองไทยช่วงปี 2547 เป็นต้นมาที่พรรคไทยรักไทยเป็นขวัญใจชาวบ้าน แต่เป็นที่รังเกียจของชนชั้นกลาง ปัญญาชน (ด้วยข้อหาประชานิยม เผด็จการรัฐสภา ทุนสามานย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ)
แต่ครั้งนี้จะแตกต่างออกไปตรงที่แม้แต่มวลชนคนรากหญ้าอดีตฐานเสียงของไทยรักไทย และเพื่อไทยจำนวนหนึ่งก็อาจจะหันหลังให้พรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยชั่งน้ำหนักผลได้-ผลเสีย แล้วเลือกพลิกขั้วไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม โดยไม่มีก้าวไกล (และฉันก็ไม่รู้ว่าจะพรรคอะไรบ้าง) พรรคเพื่อไทยก็ต้องไปเสี่ยงดวงเอาข้างหน้าว่า หากสามารถผลักดันไปแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ, แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นได้
พิสูจน์ว่ามีอำนาจในฐานะแกนนำของพรรร่วมรัฐบาล คุมกระทรวงสำคัญ และมีอำนาจเต็มในการปรับครม. จนสร้างผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันให้ได้เป็นที่ประจักษ์ ก็อาจทำให้คนที่ไม่พอใจเรื่องการพลิกขั้ว เข้าใจและหายโกรธ
แต่ฉันคิดว่ามันจะไม่ง่ายเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยหากเลือกแนวทางนี้ก็น่าจะเจอทั้งศึกในพรรคร่วมรัฐบาลเอง และศึกจากพรรคฝ่ายค้านอย่างหนักหน่วง
และเราต้องรู้ว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีความสามารถในการทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างยอดเยี่ยมที่สุด
แต่หากพรรคเพื่อไทยเลือกหนทางไปเป็นฝ่ายค้านกับพรรคก้าวไกล ก็เสี่ยงที่โหวตเตอร์ 10.9 ล้านเสียง อาจจะมองว่า เราเลือกให้ไปเป็นรัฐบาล ไปมีอำนาจรัฐ เพื่อได้โอกาสในการทำงาน แสดงผลงาน เมื่อมีโอกาสได้รวมเสียงพรรคใดก็ตาม เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลและยิ่งได้เป็นนายกฯ หากทิ้งโอกาสนี้ไปก็เหมือนทิ้งความรับผิดชอบ ปัญหาของประเทศหมักหมมมาขนาดนี้ อย่าเพิ่งเห็นแก่ความหล่อเลย
ซึ่งเราก็ไม่รู้อีกว่า มีคนคิดแบบนี้มากน้อยแค่ไหน
หรือจากบทเรียนในความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกลที่ได้ทำงานร่วมกันมา พรรคเพื่อไทยอาจจะประเมินแล้วว่า รวมกับพรรคก้าวไกลก็เสี่ยงที่จะถูกโหวตเตอร์ก้าวไกลโจมตีต่อเนื่องจากการ “แปะหน้าผาก” เป็นพรรคเพื่อใคร พรรคสู้ไปกราบไป เกี้ยเซี้ย ไม่จริงใจ หักหลัง เพื่อทรยศประชาชน ฯลฯ
อันนี้เป็นบทเรียนจากการที่พรรคเพื่อไทยประสบด้วยตนเองจากการถูกโจมตีในช่วงหาเสียง
และคนที่โจมตีเป็นบุคคลระดับหัวๆ เป็นผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นเบอร์ต้นๆ จนทำให้มีการระบายความในใจในวันปราศรัยสุดท้ายของเวทีเพื่อไทยก่อนเลือกตั้ง
นี่จึงเป็นย่างก้าวที่สุ่มเสี่ยงไปเสียทั้งหมดสำหรับพรรคเพื่อไทย และฉันคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่เราในฐานะโหวตเตอร์จะกังวลแทนพรรค และปล่อยให้พรรคตัดสินใจและเผชิญกับการผลพวงแห่งการตัดสินใจนั้นเอง
แต่ในฐานะของคนที่เฝ้าติดตามการเมืองไทยมาโดยตลอด ฉันคิดว่าอนาคตของพรรคเพื่อไทยไม่ได้สำคัญเท่ากับอนาคตของการเมืองไทย
ฉันในฐานะที่เห็นว่าต้นธารแห่งหายนะของการเมืองไทยคือการที่ชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษาและเรียกตนเองว่าผู้ตื่นรู้ทางการเมือง รู้ทันความชั่วของนักการเมือง พากันรู้ทันทักษิณ มีชีวิตอยู่กับวาทกรรมนักการเมืองชั่ว นักการเมืองโกง “สนุก” กับการรู้ทันทักษิณจนลืมตัวไปสนับสนุนขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของสนธิ ลิ้มทองกุล จนลามปามไปเชียร์ และแซ่ซ้อง สรรเสริญการรัฐประหารปี 2549
รัฐประหารมี 2549 ยังไม่เข็ด ยังไปสนับสนุนการรัฐประหารปี 2557 ด้วยการไปเดินตามก้นสุเทพ ไปเป่านกหวีดอีก เพียงเพราะเกลียดอีปู เพราะจะเอาพี่ชายกลับบ้าน เพราะทรยศคนเสื้อแดงด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เพราะเป็นหญิงชั่วเร่ขายชาติ
ทีแรกก็ดีใจที่มีรัฐประหาร แต่พอประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ 8 ปียาวๆ เริ่มไม่ไหว ยาวนานเกินไป เศรษฐกิจถดถอยเกินไป ก็คิดได้ว่า การรัฐประหารมันแย่จริงๆ เราควรมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
นี่คือเส้นเรื่องที่เป็นแกนแนวตั้ง แต่เส้นแนวนอนของเรื่องเดียวกัน มีความหลากหลายซับซ้อนกว่านั้นมาก เช่น ในการรัฐประหารปี 2549 จนมาถึงม็อบเสื้อแดง มีนักวิชาการปัญญาชน “รู้ทันทักษิณ” ค่อยทยอยหย่าขาดกับสนธิ และม็อบเสื้อเหลือง คิดได้ว่าเออ เราผิดไปแล้ว การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก และปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้รับไม่ได้ที่สุดกับการสังหารประชาชนกลางเมือง
ก็จะมีคำพูดว่า
“ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง แต่ประชาชนไม่ควรถูกฆ่าเพียงแค่มาเรียกร้องการเลือกตั้งและยุบสภา”
“ทักษิณไม่ใช่นักการเมืองที่ดี แต่การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ”
“อยู่ข้างเสื้อแดงนะ แต่ไม่เอาทักษิณ ยิ่งลักษณ์ก็แค่หุ่นเชิด”
ลึกล้ำกว่านั้นคือ
“เสียดายพรรคเพื่อไทยมีคนเก่งๆ เยอะ แต่ตระกูลชินวัตรไม่ปล่อยมือ พรรคเลยไม่เป็นพรรคการเมืองแบบที่ควรจะเป็น”
พูดได้ว่าขบวนการประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารของสังคมไทยกว้างขาวงใหญ่โตขึ้น แต่ความเกลียดชัง ไม่ไว้ใจทักษิณ นักการเมือง และพรรคเพื่อไทย มีอยู่เหมือนเดิม ความเข้มข้นเท่าเดิม
มวลชนเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจ พวกเขาลุกขึ้นมาไล่ประยุทธ์ ต่อต้านเผด็จการและรู้ว่าปัญหาของการเมืองไทยต้อง “ทะลุเพดาน” คนรุ่นนี้หันไป associate ตัวเองกับเรื่องเล่าว่าด้วยการต่อสู้อันยิงใหญ่ของคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้ตระหนักว่าคนเสื้อแดงมีหลายเฉดทางอุดมการณ์มากตั้งแต่ขวาสุดไปจนถึงซ้ายสุดๆ
และพวกเขาร้อยเรียงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยเป็นเส้นตรงเดียว นั่นคือจาก 2475, 2516, 2519, 2535, 2553 เป็นการต่อสู้ของประชาชนที่พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะชนชั้นนำ นายทุน นักการเมืองชั่ว และกองทัพ
ระหว่างทางนี้ก็มีคนรุ่นใหม่ ปัญญาชน นักวิชาการ แอ็กติวิสต์ จำนวนหนึ่งมองว่า พรรคเพื่อไทยไม่ตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เนื่องจากจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือการประนีประนอมกับอำนาจเก่า (ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง)
จึงตั้งพรรคอนาคตใหม่ที่ต่อมาเป็นพรรคก้าวไกล เพื่อทำ “การเมืองใหม่” กล้าท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิม
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีดังที่ฉันเคยเขียนไว้หลายครั้งว่ามันจะทำให้ประเทศไทยมีพรรคการเมืองปีกประชาธิปไตยที่เป็นพรรคฝ่ายขวาคือเพื่อไทย และพรรคที่เป็นฝ่ายซ้ายคือก้าวไกล
และสิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อสุขภาวะของประชาธิปไตยในระยะยาว
แต่น่าเสียดายที่จุดยืนทางการเมืองที่ “ก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล กลับไปถูกจริตกับ ภาวะ “ติดดี” ของกลุ่มปัญญาชน คนชั้นกลางเดิมที่แสวงหาการเมืองแบบ “ปลอดเชื้อ”
ผิวเผินกับการเน้นย้ำเรื่องพรรคการเมืองที่ไม่มีนายทุน ไม่ใช้เงิน (?) ไม่ซื้อเสียง ฯลฯ มากกว่าการเมือง “ก้าวหน้า” ในความหมายที่มันควรจะเป็น
ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกลสื่อสารเนื้อหาของการเมืองที่ก้าวหน้าเชิงโครงสร้างอย่างซับซ้อน
แต่สิ่งที่สังคมวงกว้างโอบรับมากที่สุดกลับเป็น มิติของความเหนือกว่า สูงส่งกว่าในแง่ของศีลธรรม จริยธรรม ทางการเมือง และตีค่าสิ่งเหล่านี้ว่าคือการเมืองใหม่
สอดรับการอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ต่อเนื่องมาเกือบทศวรรษ
สังคมไทยเคยชินกับการมองการเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่าง คนดี คือฝ่ายประชาธิปไตย กับคนชั่ว คือคนที่สมสู่กับอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหาร
ครั้นเรามีการเลือกตั้งครั้งที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในจินตนาการของเราก็ยังเห็นว่า พรรคการเมืองต้องแบ่งข้างให้ชัดเจนว่า นี่ข้างของเผด็จการ นี่ข้างของฝ่ายประชาธิปไตย
และเราไม่สามารถจินตนาการได้ว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยคือการดึงเอาฝ่ายเผด็จการมาแชร์อำนาจรัฐในข้อแม้ที่พวกเขาต้องลงเลือกตั้ง
ฉันไม่ได้เรียกร้องให้เราต้องเห็นใจหรือเข้าข้างพรรคเพื่อไทย แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า เรามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบไปจนถึงขั้นที่เกลียดพรรคเพื่อไทยก็ได้ที่ไปพลิกขั้วตั้งรัฐบาล
แต่ประชาชนอย่างเราพึงให้ความสำคัญกับการ “กลายเป็นประชาธิปไตย” ที่เสียเลือกเนื้อน้อยที่สุดนั่นคืออนุญาตให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าพรรคการเมืองที่เข้าสู่สนามการเลือกตั้งจะชั่วช้าเพียงไรในสายตาของเรา
สำคัญที่สุดอนุญาตให้ตัวเองเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการอยู่ร่วมและต่อสู้ของผู้คนที่หลากหลายอุดมการณ์ ความฝัน เป้าหมาย ความจำเป็น ในชีวิต
และเราไม่อาจหักโค่นสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นตามลำพังเพียงเพราะเราคิดว่าวิธีของเราหรืออุดมการณ์ของเราจริงแท้แน่นอนกว่าคนอื่น
ซื่อสัตย์ เหยียดตรงกว่าใครๆ ในโลกหล้าเท่าๆ กับที่ความเชื่อของเราก็ไม่จำเป็นต้องถูกกวาดหายไปให้สาบสูญ หรือถูกเหยียดหยามว่าไร้ค่า เพ้อเจ้อ
เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตยไปเท่ากับการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความฝัน
สำหรับฉันสิ่งนี้สำคัญกว่าการมีหรือไม่มีอยู่ของพรรคเพื่อไทย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022