หน้า 8 : P Model

เพียงแค่ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ใช้ “วาทกรรมการเมือง”

แขวนป้าย “ไอ้ห้อย-ไอ้โหน” ให้กับ “วันชัย สอนศิริ-เสรี สุวรรณภานนท์”

2 คู่หูผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สืบทอดอำนาจเป็น “นายกรัฐมนตรีคนนอก” หลังการเลือกตั้ง

เพียงแค่ข้ามคืนทั้งคู่ก็ได้ “ชื่อเล่น” ใหม่ทางการเมืองทันที

“ไอ้ห้อย-ไอ้โหน”

ตัวละครคู่หูที่มี “กะโหลก” ไม่มีลำตัวจากละครโทรทัศน์เรื่อง “หุ่นไล่กา” ในอดีต

อย่าแปลกใจที่ผ่านไปเกือบสัปดาห์

หนังสือพิมพ์ก็ยังใช้คำ “ไอ้ห้อย-ไอ้โหน” แทนชื่อจริงของ “วันชัย-เสรี” ใน “ซับเฮด” ของข่าวหรือในคอลัมน์

แสดงว่าชื่อนี้จุดติดแล้ว

การที่ “วาทกรรมการเมือง” จะได้รับความนิยมนั้นต้องเกิดจากคำคำนั้นสอดคล้องต่อความรู้สึกของประชาชน

ทำไมคนจึงยอมรับคำนี้

เป็นเรื่องที่ “วันชัย” และ “เสรี” ควรตั้งคำถาม

 

การนำเสนอ “P MODEL” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ต้องเลือกตั้ง และนั่งรอพรรคการเมืองมาเชื้อเชิญ

อาจถูกใจผู้มีอำนาจ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะรู้สึกแปลกๆ ไปบ้างว่าทำไม “รองเท้า” ของตนถึงมันแผล็บผิดปกติในช่วงนี้

แต่แนวคิดดังกล่าวถือเป็นการดูถูกประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

และเป็นการย้อนยุคกลับไป 30 ปี

ย้อนไปสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

“P MODEL” นั้น ตัว “P” ย่อมาจาก พล.อ.เปรม

แต่มีบางคนเห็นต่าง

บอกว่าจริงๆ แล้ว “P” มาจาก POKEMON

เกมฮิตในวันนี้

เพราะเกมโปเกมอนนั้นเป็นนำสถานที่จริงมาผูกโยงกับเจ้าโปเกมอนในจินตนาการ

เป็นเกมเสมือนจริง

แต่ “ไม่จริง”

เหมือนกับ “P MODEL”

ผูกโยงความจริงในอดีตกับจินตนาการของ “ไอ้ห้อย-ไอ้โหน”

กลายมาเป็นเกมเสมือนจริงทางการเมือง

ทั้งที่โลกยุคใหม่ไปไกลถึงระดับ AI

เป็นยุคหุ่นยนต์และสมองกล

แต่เมืองไทยกลับยังวนเวียนอยู่กับละครย้อนยุค

…”หุ่นไล่กา”