“ลำไย” ต้นแรกในประเทศไทย ชาวจีนนำมาถวาย “เจ้าดารารัศมี”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ลำไย หมายถึง ลำไย

ลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของ จ.ลำพูน เป็นไม้ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของเอเชีย แถบพื้นที่ราบต่ำของลังกา อินเดียตอนใต้ เบงกอลของพม่า และจีนตอนใต้ ในมณฑลกวางตุ้ง เสฉวน ฝูเจี้ยน และยูนนาน

ในประเทศไทย ชาวจีนได้นำพันธุ์ลำไยมาถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จำนวน 5 ต้น ใน ปี พ.ศ.2439 โดยปลูกไว้ที่กรุงเทพมหานคร 2 ต้น และเจ้าน้อยตั๋น น้องชายเจ้าดารารัศมีได้นำ 3 ต้นที่เหลือมาปลูกไว้ที่บริเวณตลาดบ้านน้ำโท้ง ต.สบข่า อ.หางดง จ.เชียงใหม่

แล้วมีการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจึงเกิดการกลายพันธุ์เป็นลำไยพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ

ปัจจุบันคงเหลือลำไยที่เกิดจากต้นแม่จากตลาดน้ำโท้ง จำนวน 5 ต้น อายุประมาณ 117 ปี และได้นำไปปลูกเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิมไว้ 3 แห่ง

คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน, สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และที่เทศบาลวังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

 

ลําไยมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dimocarpus longan Lour. ในวงศ์ SAPINDACEAE หรือวงศ์มะซัก/มะคำดีควาย

เป็นไม้ต้นขนาดกลาง แตกกิ่งที่เรือนยอด

ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว

ดอกช่อออกที่ปลายยอด รังไข่รูปกลมติดกันเป็นคู่ เมื่อเจริญเป็นผลมักเจริญเพียงหนึ่ง อีกหนึ่งอันปรากฏเป็นติ่งกลมขนาดเล็กติดที่ขั้วผล พบบ้างที่เจริญทั้งสองอันเป็นผลคู่ เมล็ดรูปกลม สีน้ำตาลดำเป็นมัน

เนื้อผลที่กินเป็นส่วนที่เจริญจากก้านชูเมล็ดแบบเดียวกับทุเรียน มีลักษณะเป็นเนื้อฉ่ำน้ำ รสหวาน

ลำไยในประเทศไทยจำแนกตามลักษณะเนื้อผลและเมล็ดได้ 5 กลุ่ม คือ สีชมพู ตลับนาค เบี้ยวเขียว อีดอ ดำแดง และอีดำ โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะดังนี้

– สีชมพู มีผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อสีชมพู รสดีมากที่สุด

– ตลับนาค มีผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แห้ง เปลือกบาง

– เบี้ยวเขียว มีผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ ผิวขรุขระ รสหวานหอม พันธุ์หนัก

– อีดอ ผลขนาดปานกลาง เมล็ดเล็ก รสหวาน แบ่งเป็นอีดอยอดแดง และอีดอยอดเขียว

– อีแดง ผลกลมใหญ่ เมล็ดใหญ่ รสหวาน เปลือกค่อนข้างแดง พันธุ์ปานกลาง มี 2 แบบ คือ อีแดงเปลือกหนา มีใบป้อมใหญ่ ผลใหญ่ และอีแดงเปลือกบาง มีใบยาวและผลเล็กกว่า

– อีดำ ผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

อีแห้วยอดแดง เมล็ดปานกลาง

และอีแห้วยอดขาว ผลใหญ่ หัวเบี้ยว เนื้อกรอบ ไม่หวาน

กินฯลำไยนักฯล้ำ ปากฯช่างฯเปนฯขางฯเนิ่อฯเจั้า
อ่านว่า กิ๋นลำไยนักล้ำ ปากจ้างเป๋นขางเน่อเจ้า
แปลว่า กินลำไยมากเกินไป ปากจะเป็นแผลร้อนในนะคะ

ไม้ลำไยมีเนื้อไม้ที่แน่นแกร่ง สีแดงสวย นิยมใช้ทำเครื่องประดับ และกิ่งใช้เผาถ่านให้ถ่านที่มีคุณภาพดี เปลือกต้นใช้ย้อมผ้าให้สีน้ำตาล

ประโยชน์ทางยาของลำไย ใช้ได้เกือบทุกส่วน เปลือกต้น รสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง ใบสด รสจืดชุ่มสุขุม ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ เนื้อลำไยกินสดเป็นผลไม้ รสหวาน มีฤทธิ์ร้อน บำรุงร่างกาย แก้ผอมแห้ง บำรุงผิวพรรณ แก้อ่อนเพลีย บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ แต่หากกินมากอาจทำให้ร้อนในได้

ส่วนเนื้อลำไยแห้งมีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงกำลัง ช่วยให้หลับสบาย

เปลือกผลแห้งฤทธิ์ร้อนต้มน้ำดื่ม แก้วิงเวียน อ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่น เนื้อในเมล็ดรสฝาดบดเป็นผงใช้พอกห้ามเลือด ช่วยลดปวดบวม รักษาแผลเปื่อย คัน แผลเรื้อรังเป็นหนอง รักษากลากเกลื้อน

ชาวจีนถือว่าลำไยเป็นไม้มงคล ชื่อในภาษาจีนเรียก “หลงเหยียน” แปลว่า ดวงตามังกร เชื่อว่าเมื่อกินลำไยเป็นการเพิ่มพลังชีวิต เนื่องจากมังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีน หากใครฆ่ามังกรแล้วขอดเกล็ดมังกรกินจะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ การได้กินหัว หาง หรือดวงตา เป็นการเพิ่มพลังชีวิตอย่างวิเศษ

เมื่อถึงฤดูลำไยต้องกินลำไยหรือตามังกรอย่างน้อย 2 ลูก จะเพิ่มพลังชีวิตตลอดปี จากนั้นโยนเมล็ดทั้งสองขึ้นไปบนหลังคา เพื่อส่งดวงตามังกรขึ้นไปเฝ้าระแวดระวังภัยที่จะมากล้ำกราย •