วิกฤติศตวรรษที่21 : สถานการณ์เปราะบางกับการเตรียมพร้อมของพลเมือง

Tunisian demonstrators clash with security forces in the northern town of Sejenane on December 12, 2017 after the town's police station was reportedly attacked during protests against unemployment and poverty. Tunisia has been praised for a relatively democratic transition over the past six years, during which a new constitution was adopted and legislative and presidential polls held in 2014 / AFP PHOTO / Sofiene HAMDAOUI

ว่าด้วยการเตรียมพร้อมของพลเมือง (5)

สถานการณ์เปราะบางกับการเตรียมพร้อมของพลเมือง

กระแสการเตรียมพร้อมของพลเมืองช่วงที่สาม (ผู้นำนักเตรียมพร้อมบางคนเห็นว่าเริ่มตั้งแต่ราวปี 2008 ถึงปัจจุบัน) เกิดขึ้นในสถานการณ์เปราะบาง (Fragile Situation)

ซึ่งตามคำจำกัดความขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) หมายถึงภาวะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น ขณะที่ความสามารถในการรับมือกับการเสี่ยงลดลง

เป็นที่สังเกตว่านับแต่ศตวรรษที่ 21 องค์กรใหญ่ทางเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารพัฒนาแอฟริกาเป็นต้น และสำนักคิดฝ่ายขวาของสหรัฐเพื่อการจัดระเบียบโลก เช่น “กองทุนเพื่อสันติภาพ” ได้สนใจประเด็นความเปราะบางที่เกิดขึ้นชัดเจน

โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างตัวชี้วัดสามกลุ่ม เพื่อการศึกษาเรื่องนี้ ได้แก่

ด้านสังคม มีแรงกดดันทางประชากร ความคับแค้นใจของกลุ่มต่างๆ ฯลฯ

ด้านเศรษฐกิจ คือ ความยากจนและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ฯลฯ

ด้านการเมือง คือประเด็นความชอบธรรมของรัฐ การสนองบริการของรัฐ การแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำและการแทรกแซงจากภายนอก ฯลฯ รายงานสถานการณ์และแนวโน้มความเปราะบางของโลกและการจัดลำดับรัฐเปราะบางเกือบ 180 ประเทศตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งใช้อ้างอิงกันทั่วไปรวมทั้งโออีซีดี ด้วย

ในปี 2017 พบว่าประเทศซูดานใต้เปราะบางที่สุด เป็นที่สังเกตว่ารัฐเปราะบางที่สุด 10 อันดับแรกของโลกคือซูดานใต้ โซมาเลีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เยเมน ซูดาน ซีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ชาด อัฟกานิสถาน และอิรัก ทุกประเทศถูกแทรกแซงจากสหรัฐ-นาโต

ในกลุ่มอาเซียน เมียนมาเป็นรัฐเปราะบางที่สุดมาหลายปี (ความเปราะบางอยู่ในอันดับที่ 25) ไทยอยู่ในฐานะดีพอสมควรอยู่อันดับที่ 85 ดีกว่ากัมพูชา (อันดับ 50) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 54) ลาว (อันดับ 59) กระทั่งดีกว่ารัสเซีย (อันดับ 67) ที่สามารถเล่นงานสหรัฐจนไปไม่เป็น บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศ

Muslim demonstrationers burn a xeros copies of the statement of US President Donald Trump as they shout anti-US slogans during a demonstration near the US embassy in Manila on December 13, 2017, against US President Donald Trump’s recognition of Jerusalem as the capital of Israel. / AFP PHOTO / TED ALJIBE

ที่น่าสังเกตคือสหรัฐและอังกฤษที่เคยเป็นแกนในการสร้างระเบียบโลกมานานนับร้อยปี ได้มีความเปราะบางเพิ่มขึ้น สำคัญเนื่องจากความแตกแยกภายในชนชั้นนำ ที่อังกฤษแสดงออกเด่นที่การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป ในสหรัฐอยู่ที่ทรัมป์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ เป็นสัญญาณความเปราะบางของระเบียบโลกที่เป็นมานาน

สถานการณ์เปราะบางนี้ กล่าวจำแนกได้เป็นภาวะแวดล้อมและภัยคุกคามเชิงโครงสร้างรวม 5 ประการ ได้แก่

(1) ชนชั้นผู้ปกครองไม่สามารถปกครองแบบเดิม เกิดความแตกแยกและดิ้นรนเอาตัวรอดไปต่างๆ ในสถานการณ์เปราะบาง ความเสี่ยงสูงขึ้น ควบคุมระเบียบได้ยาก

ชนชั้นผู้ปกครองมีแนวโน้มใช้วิธีรวบอำนาจอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย เกิดการกวาดล้างในหมู่ผู้ปกครองด้วยกันซึ่งเกิดขึ้นหลายประเทศ

ในสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ “ระบายน้ำออกจากบึง” แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก

ที่ทำได้มาก เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น ตุรกีและซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น กดดันให้ระบบปกครองแบบหลายพรรคหรือสองพรรคถูกรวบมาเหลือพรรคเดียว ถ้าปกครองแบบพรรคเดียว ก็รวบมาที่กลุ่มบุคคล นั่นคือในสถานการณ์เปราะบาง

แม้ประชาธิปไตยในหมู่ผู้ปกครองยังเกิดขึ้นยาก จึงไม่ต้องพูดถึงประชาธิปไตยสำหรับประชาชน

ความแตกแยกในหมู่ผู้ปกครองนี้ เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก

ที่เห็นชัดเกิดขึ้นในกลุ่มพันธมิตรสหรัฐ ซึ่งแต่ก่อนนี้ความแตกแยก อ่อนแอ การเปลี่ยนระบบมักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเป็นสำคัญ

ในศูนย์ขั้วอำนาจใหม่ที่มีรัสเซีย-จีนเป็นแกน มีความเป็นปึกแผ่นอย่างหลวมๆ เนื่องจากประเทศอย่างอิหร่าน ตุรกี เกาหลีเหนือ เป็นต้น มีความเป็นตัวเองสูง

ผลของความแตกแยกนี้ทำให้ระบบสังคมและระเบียบโลกมีปัญหา เกิดความไม่แน่นอน ความเสี่ยงสูง ความไม่สงบ การจลาจล สงคราม การไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้

(2) ชนชั้นผู้ถูกปกครองมีความทุกข์ยากคับแค้นมากขึ้น มาตรฐานการครองชีพลดลง สิทธิพลเมืองถูกจำกัด ด้วยข้ออ้างความมั่นคง มีการต่อสู้การก่อการร้าย ดิ้นรนเอาตัวรอดไปต่างๆ การดิ้นรนของผู้ถูกปกครองมีอยู่ 3 แบบใหญ่

ก) ส่วนใหญ่เดินตามกลุ่มชนชั้นนำที่แตกเป็นหลายขั้ว

ข) จำนวนไม่น้อยดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่องใหญ่ๆ อะไร

ค) อีกจำนวนหนึ่งดิ้นรนเพื่อความเป็นอิสระเป็นตัวเอง ซึ่งมีหลายแบบ และซ้อนเหลื่อมกัน กลุ่มนักเตรียมพร้อมจัดอยู่ในกลุ่มนี้

(3) ความเหลื่อมล้ำ หนี้และการผลิตล้นเกิน เป็นภัยคุกคามเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันยาวนานมาก

(4) การใช้ทรัพยากรเกิน เป็นภัยคุกคามเชิงโครงสร้างทางสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เป็นตัวจำกัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคมและอื่นๆ

(5) เทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในการแก้ปัญหา มีผลข้างเคียงมาก และตกอยู่ในภาวะเปราะบางเช่นกัน เช่น เทคโนโลยีกลับขยายช่องว่างในทุกด้าน และเร่งใช้ทรัพยากรมากขึ้น

กล่าวสำหรับภาคพลเมืองโดยเฉพาะในสหรัฐ ต้องเผชิญกับวิกฤติซ้ำซ้อนในทุกด้าน เรียงลำดับดังนี้

(1) ฟองสบู่ดอตคอมแตก (มีนาคม 2000-ตุลาคม 2002) ดับความฝันเรื่องเศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่มีเงินเฟ้อและการว่างงาน พลเมืองทั้งหลายต้องเข้าโซนแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

(2) การก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด 2001 ตามด้วยสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในมหาตะวันออกกลาง (2001-ปัจจุบัน) แสดงว่าสหรัฐและรวมทั้งพันธมิตรในยุโรปได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามก่อการร้ายโลกจากความผิดพลาดในนโยบายต่างประเทศ ความยโสในแสนยานุภาพของตน และความมั่นใจในการครองความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเสื่อมโทรมทางจริยธรรม เกิดการฟื้นลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ขึ้นมา เป็นต้น ก่อความหวาดหวั่นและการถูกลิดรอนสิทธิในหมู่พลเมืองอย่างสูง

(3) ภัยเฮอริเคนแคทรินา ทางตอนใต้ของสหรัฐ (2005) ผู้คนตายถึงสองพันคน ความช่วยเหลือจากรัฐมาไม่ทัน กลุ่มพลเมืองได้ตั้ง “เครือข่าย อเมริกันเพื่อความอยู่รอด” (A.N.T.S. 2005) สำหรับนักเตรียมพร้อมส่วนบุคคล

(4) วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ภาคพลเมือง เสียบ้าน รถ การงาน ไม่มีใครช่วยได้ เกิดความตายของชนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่ในอเมริกา มีรายงานว่าร้อยละ 70 ของครัวเรือนใน 25 ประเทศพัฒนาแล้วคิดเป็นจำนวนผู้คน 540-580 ล้านคน มีรายได้ลดลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (2005-2014) เมื่อเทียบกับ 12 ปีก่อนหน้านั้น (ระหว่างปี 1993-2005) มีครัวเรือนเพียงร้อยละ 2 (จำนวนผู้คนไม่ถึง 10 ล้าน) มีรายได้คงที่หรือลดลง แสดงว่าหน้าต่างแห่งโอกาสปิดลง คนรุ่นปัจจุบันยากจนกว่าคนรุ่นพ่อแม่ (ดูบทความของ Chris Matthew ชื่อ The Death of the Middle Class Is Worse Than You Think ใน fortune.com 13.07.2016)

(5) การระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ทั่วโลก (เม.ย.2009- เม.ย.2010) เป็นที่สังเกตว่าเมื่อถึงปี 2009 การเตรียมพร้อมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง การสำรวจประชามติของรัฐนิวยอร์กพบว่าในปี 2009 ประชาชนในนิวยอร์กได้คิดถึงการเตรียมพร้อมมากถึงร้อยละ 50 เพิ่มจากเพียงร้อยละ 18 ในปี 2004 และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนตัวมันเองได้ มีการจัดงานเอ๊กซ์โปของนักเตรียมพร้อมหลายแห่งในสหรัฐ เช่น งานแสดงสินค้าสำหรับนักเตรียมพร้อม และนักอยู่รอดแห่งชาติ (NPS Expo จัดครั้งแรกปี 2010) ต่อเนื่องถึงปี 2017 จะเป็นปีที่ 8 จัดนานสองวันที่เมืองแจ๊กสัน วิลล์ ฟลอริดา กล่าวกันว่าเป็นเอ๊กซ์โปใหญ่ที่สุดของนักเตรียมพร้อม

(6) สังคมหลังความจริง (2016) แพร่ระบาดในสังคมตะวันตก ผู้คนฟังแต่ความที่เข้าข้างต้น เมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี สื่อกระแสหลักของสหรัฐหลายสำนักแสดงความหวั่นเกรงเรื่องสงครามกลางเมืองครั้งที่สองในสหรัฐ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาใกล้ครบหนึ่งปี แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น

ความเห็นจากนักวิชาการเกี่ยวกับการล่มสลาย

ในขบวนนักเตรียมพร้อมช่วงที่สาม มีงานเขียนของนักวิชาการจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความล่มสลาย ความเปราะบาง และมุมมองใหม่ของชีวิตที่สามารถยกระดับและขยายทัศนะของนักเตรียมพร้อมทั้งหลายได้ดี

ยกตัวอย่าง จากสี่นักเขียนดังนี้

(1) จาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond) เขียนหนังสือ “ล่มสลาย : ไขปริศนาความล่มจมของอารยธรรมและสังคม” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2005) ติดอันดับหนังสือขายดีและทรงอิทธิพลของโลก ก่อนหน้านั้นได้เขียนหนังสือโด่งดังหลายเล่ม

ความคิดของไดมอนด์สรุปได้ว่า …การพัฒนาทางสังคม-วัฒนธรรม ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ชีววิทยาและสังคม การล่มสลายของสังคมและอารยธรรมเป็นไปอย่างซับซ้อน เกิดจากเหตุปัจจัยใหญ่ 5 ประการ ได้แก่

ก) มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนาเพื่อความอยู่รอดและอยู่ดี

ข) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

ค) การล่มสลายอ่อนแอลงของเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร

ง) การคุกคามของเพื่อนบ้านที่เป็นปรปักษ์

จ) ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การไม่สามารถรับรู้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้

ไดมอนด์เห็นว่าสังคมมีความเปราะบางต่างกันและล่มสลายเร็วช้าต่างกัน ในปัจจุบันสัญญาณการล่มสลายของสังคมและอารยธรรมเห็นชัดขึ้น เป็นระเบิดเวลาที่ซุกวางไว้ทั่วโลก ไดมอนด์ชี้ว่าเหตุที่ชนชั้นไม่สามารถรับรู้และแก้ไขปัญหาให้ตกลงไปได้เกิดจาก

(ก) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เฉพาะหน้าของชนชั้นนำกับผลประโยชน์ยาวไกลของสังคม

(ข) ค่านิยม อุดมการณ์ และการปฏิบัติ ที่ประสบความสำเร็จได้ก่อรูปแข็งตัว จนทำให้สังคมนั้นปรับตัวได้ยากในสถานการณ์ใหม่

ต่อมาในปี 2012 เขาเผยแพร่หนังสือเล่มใหม่ชื่อ “โลกวันวาน” ชี้ว่า มองธรรมชาติมนุษย์จากจุดยืนของสังคมตะวันตก มีการศึกษา เป็นเชิงอุตสาหกรรม มั่งคั่ง และเป็นประชาธิปไตย” (WEIRD Society) อย่างที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นไม่ช่วยการรับรู้การแก้ไขปัญหาขณะนี้ให้ตกไปได้ ควรศึกษาและใช้บทเรียนบางอย่างจากสังคมโบราณ ที่อยู่ดำรงเป็นกลุ่มเล็กๆ ในปัจจุบัน เช่น การใช้ที่ดิน วิธีแก้ปัญหาการเลี้ยงดูเด็ก การปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ การเรียนหลาย ภาษา การรักษาสุขภาพ สามารถปรับมาใช้ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้

(2) นาซิม นิโคลัส ทาเล็บ เขียนหนังสือ “ต้านความเปราะบาง” (Nassim Nicholas Taleb – Antifragile : Things That Gain From Disorder เผยแพร่ปี 2012) เป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงนักค้าหุ้น นักสถิติและนักเศรษฐศาสตร์ เขาเป็นนักเขียน นักวิชาการสำคัญของสหรัฐด้านการจัดการความเสี่ยง การเตรียมพร้อมรับความเครียด และภาวะเปราะบาง

Chinese investors sit in front of a screen showing stock market movements at a securities firm in Hangzhou, eastern China’s Zhejiang province on May 31, 2016.
Asian stocks rose on May 31, led by a surge in Shanghai, while the dollar edged higher as traders weighed the fallout from a likely US interest rate rise this summer. / AFP PHOTO / STR / China OUT

ทาเล็บอธิบายความเปราะบางและสถานการณ์เปราะบางทางเศรษฐกิจโลกว่า “สิ่งที่เปราะบางคือสิ่งที่แตกง่าย เนื่องจากความเสี่ยงของการแตกง่ายนี้ทำให้สิ่งที่พวกคุณ (ผู้เชี่ยวชาญ) พยายามทำเพื่อการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น ไม่เป็นผลตามคาด (สิ่งที่ควรทำคือ) คุณต้องลดความเสี่ยงของการแตกได้ง่ายเสียก่อน” ความเสี่ยงที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจแตกง่ายในขณะนี้ได้แก่หนี้ “ที่ไม่เคยมากเช่นนี้มาก่อน”

เขาเห็นว่าการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยให้คนรุ่นหลังแบกภาระหนี้นั้น ทำให้เศรษฐกิจล่มสลายในที่สุดเมื่อจำเป็นต้องชำระหนี้นั้น

เขาเตือนว่า ระบบต้องการความกดดัน และความเครียดในระดับหนึ่งเพื่อให้เกิดความระมัดระวัง การลดความกดดันและความเครียด เช่น การเพิ่มปริมาณเงิน อาจเป็นอันตรายใหญ่หลวงได้

ทาเล็บสรุปว่า ยิ่งเราร่ำรวยก็ยิ่งรักษาฐานะความเป็นอยู่ได้ยากขึ้น “การจัดการกับความอุดมสมบูรณ์นั้นยากกว่าการจัดการความขาดแคลน” (ดูบทความของ Jim Quinn ชื่อ Bull in a China Shop ใน lewrockwell.com 31.19.2017)

(3) ฟริตจอป คาปร้า (Fritjof Kapra) นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย เกิด 1939 ต่อมาสนใจวิทยาศาสตร์ชีวิต และ ปิแอร์ ลุยกี ลุยซี (Pier Luigi Luisi) นักเคมีชีวะชาวอิตาลี เกิด 1938 เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ “มองชีวิตเชิงระบบ” The Systems View of Life : A Unifying Vision เผยแพร่ครั้งแรกปี 2014

ทั้งสองสนใจในศาสนาและปรัชญาตะวันออก ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธ และลัทธิเต๋า เป็นต้น

คาปร้าเขียนหนังสือโด่งดัง ชื่อ “เต๋าแห่งฟิสิกส์” (1975) สร้างยุคใหม่แห่งจิตวิญญาณ การมองสิ่งทั้งหลายเป็นองค์รวม การใช้ปรัชญาตะวันออกในการช่วยทำความเข้าใจฟิสิกส์ใหม่ คือ กลศาสตร์ควอนตัม ในหนังสือ “มองชีวิตเชิงระบบ” มีเนื้อหาที่เสนอทางออกใหญ่ให้แก่นักเตรียมพร้อม ผู้บริหารที่มองการณ์ไกล มีแนวคิดหลักว่า

(ก) ชีวิตทั้งหลายเกี่ยวเนื่องกันเป็นระบบ เป็นระบบของชีวิต ชีวิตไม่ใช่เครื่องจักร ที่ดำเนินไปโดดๆ หากเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย

(ข) ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมีความสัมพันธ์แบบรูป และบริบท เป็นสังคมชุมชนที่ซับซ้อน

(ค) การสร้างสรรค์เป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของวิวัฒนาการของชีวิต สร้างความซับซ้อนและความหลากหลายยิ่งขึ้น (นักธรรมชาติวิทยาบางคนไม่เห็นเช่นนั้น)

(ง) ปัญหาทั้งหลายดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การแก้ปัญหาจำต้องเป็นการแก้ไขอย่างเป็นระบบด้วย

(จ) การท้าทายในยุคของเรา ได้แก่ การสร้างและรักษาชุมชนที่ยั่งยืน มีวิถีดำเนินชีวิต ธุรกิจ เศรษฐกิจ โครงสร้างทางกายภาพ และความร่วมมือทางเทคโนโลยีอย่างเคารพและให้เกียรติแก่ธรรมชาติที่ธำรงชีวิตทั้งหลาย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงบางผู้นำนักเตรียมพร้อมและปัจจุบันและอนาคตของขบวนนักเตรียมพร้อม