แผง ท่าพรานนก ทะลุถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ‘เจ็ดสถาบัน’

บทความพิเศษ

 

แผง ท่าพรานนก

ทะลุถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ

และ ‘เจ็ดสถาบัน’

 

บรรยากาศใน “มหาวิทยาลัย” บรรยากาศในทาง “ความคิด” ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ประสบในห้วงแห่งการเขียน “คนบาป”

เป็นบรรยากาศอันหนุนเสริม

1 เป็นบรรยากาศที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ประสบเมื่ออยู่ในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยเฉพาะเมื่อออกไป “ขุดแต่ง” โบราณสถาน

ขณะเดียวกัน 1 เป็นบรรยากาศในทางความคิดและในทางการเมืองจากการเกิด “ปรากฏการณ์” หลายปรากฏการณ์

โดยเฉพาะในทาง “สิ่งพิมพ์” ในทาง “วรรณกรรม”

ไม่เพียงแต่การเสนอตัวเข้ามาของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ไม่เพียงแต่การแตกแยกแขนงออกเป็น “ฉบับนิสิตนักศึกษา”

และการปรากฏขึ้นของ “เจ็ดสถาบัน”

 

นามคน เงาไม้

จาก เจ็ดสถาบัน

คําว่า “เจ็ดสถาบัน” ให้ความหมายในลักษณะอันเป็นตัวแทนของแต่ละ “มหาวิทยาลัย” อย่างเด่นชัด

อาจเริ่มจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ตามมาด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าช้าง ตามมาด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามย่าน

ตามมาด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ศิริราช พรานนก

ตามมาด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามมาด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามมาด้วย วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร

นี่ย่อมเป็นการสานสัมพันธ์ในทาง “ความคิด”

ประพันธ์ ผลเสวก

ประพันธ์ ผลเสวก

พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

ต้องยอมรับว่าทุกอย่างงอกมาจากสมองก้อนโตของ พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร แห่งแผนกอิสระวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยมี ประพันธ์ ผลเสวก เป็นคู่คิด ต่อเชื่อมไปยัง ดำรง แสวงธรรม

จากนั้นจึงประสานไปยัง พิสิฐ เจริญวงศ์ ด้วยสายสัมพันธ์พิเศษผ่านทูตพิเศษภายในคณะโบราณคดี

แล้วจึงเป็น ประมวล โกมารทัต แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

อย่าได้แปลกใจ หากการดำรงอยู่ของ พิสิฐ เจริญวงศ์ จะใกล้ชิดอย่างยิ่งกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

จากนั้นจึงโยงยาวไปยัง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

อย่าได้แปลกใจหากสายสัมพันธ์นี้มิได้จำกัดอยู่เพียง “เจ็ดสถาบัน” เท่านั้น หากแต่ยังโยงยาวมายัง “ประชาธิปไตย” ยุคพลังหนุ่มสาว

และรวมถึง “ประชาชาติ” และ “มติชน”

พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

 

ท่าพระจันทร์ ท่าพระ

สามย่าน บางเขน

บทบาทอย่างมีนัยสำคัญของ “เจ็ดสถาบัน” มิได้อยู่ที่การเป็นศูนย์กลางระหว่าง 7 มหาวิทยาลัย หากแต่ยังเชื่อมไปยังแวดวง “หนังสือพิมพ์”

เนื่องจาก พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ยังกว้างขวางในแวดวง “หนังสือพิมพ์” จากยุคหน้า “มหาวิทยาลัย” ที่หลักเมือง

กระทั่งเป็นเหยี่ยวข่าวของ “เดลินิวส์”

เมื่ออยู่ “เดลินิวส์” ย่อมใกล้ชิดกับ สนิท เอกชัย ใกล้ชิดกับ เขลง กัทลีระดะพันธุ์ อาคม คเชนท์ ซึ่งล้วนเคยเป็น “นักโทษ” จากรัฐประหาร 2501 ในนี้ยังรวมถึง เวทย์ บูรณะ สหายของ รมย์ รติวัน นเรศ นโรปกรณ์

อย่าได้แปลกใจหาก “เจ็ดสถาบัน” จะต่อต้านสงครามเวียดนาม อย่าได้แปลกใจหาก “เจ็ดสถาบัน” นำเสนอปรัชญา

แม้กระทั่ง “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” และ “วัตถุนิยมวิภาษ”

 

มองผ่าน เจ็ดสถาบัน

ไปยัง นิสิต นักศึกษา

หาก “เจ็ดสถาบัน” มีกลิ่นอายของนิตยสารและสิ่งพิมพ์ในแบบของโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ “ฉบับนิสิตนักศึกษา” ก็สะท้อนอีกกลิ่นอาย เป็นกลิ่นอายในแบบ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”

เป็นกลิ่นอายอันได้รับผลสะเทือนโดยตรงจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นกลิ่นอายอันได้รับผลสะเทือนจากปัญญาชน นักเรียนนอก

ไม่ว่าจะเป็น กมล สมวิเชียร จากสหราชอาณาจักร

ไม่ว่าจะเป็น เขียน ธีรวิทย์ และ วารินทร์ วงศ์หาญชาวน์ จากสหรัฐอเมริกา

จึงได้อ่านบทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จึงได้อ่านบทความ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงได้อ่านบทกวีจาก ศิริพร หนูแก้วขวัญ จาก ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ

ต่อโยงไปยัง ไพทูรย์ สินลารัตน์ แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อโยงไปยัง จรัล ดิษฐาอภิชัย แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แม้กระทั่ง ทองปน บางระจัน แห่งคณะสังคมศาสตร์ ก็มิได้เว้น

 

เจ็ดสถาบัน 2507

สังคมศาสตร์ 2506

ต้องยอมรับว่า “เจ็ดสถาบัน” เป็นผลสะเทือนและความต่อเนื่องเนื่องจาก “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” โดยปริยาย

แต่ด้วย “สถานะ” อัน “ต่างกัน”

สังคมศาสตร์ปริทัศน์อาศัยร่มเงาของ “ยูซิส” ประสานเข้ากับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

แต่ “เจ็ดสถาบัน” มาด้วย “ลำแข้ง”

อาจเป็น พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อย่างเป็นด้านหลัก อาศัยฐานความเป็น “ธรรมศาสตร์” และ “เดลินิวส์” เป็นที่เกาะเกี่ยว

จึงสัมพันธ์กับ “กรุงไทย” จึงได้หัวจาก “เสือสนาม”

แต่พอถึงก้าวย่างที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2507 “เจ็ดสถาบัน” แตะเข้าไปยังสถานการณ์สงครามที่เวียดนาม

จึงถูก “เหล่” จาก “อำนาจรัฐ”

 

แตะ วัตถุนิยม

ประวัติศาสตร์

ในความเห็นของ ทาคาฮาชิ คัทซูบิชิ ที่ตั้งข้อสังเกตผ่าน “ศิลปวัฒนธรรม” ในเดือนพฤศจิกายน 2546

เขาพุ่งไปยังกรณี “สงคราม”

เนื่องจากสถานการณ์เวียดนามทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฐานทัพสหรัฐตั้งอยู่

นำเครื่องบินไปบอบ์มยัง “เวียดนาม”

จึงอ่อนไหวทั้งต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และสร้างความหวั่นไหวให้กับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

หนุ่มๆ จาก “เจ็ดสถาบัน” จึงได้รับ “เทียบเชิญ”

แต่จากสายตาของผู้จัดเจนาระดับ สนิท เอกชัย ระดับ ประเวทย์ บูรณะกิจ มองลึกยิ่งกว่านั้น

ลึกไปยังการเขียนถึง “วัตถุนิยม” ไม่ว่าเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่าวิภาษวิธี

อาจยังห่างไกลจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ แต่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ แนบแน่น

เมื่อมองจากท่าพระ เมื่อมองจากลาดยาว