ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
นักวิเคราะห์การเมืองไทยทุกคนรู้ดีว่า หากพรรคฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้ง 2566 เป็นผู้ชนะแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก และอาจจะต้องสะดุดลงจนสามารถกลายเป็น “วิกฤตใหญ่” ได้ไม่ยาก เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ถือกำเนิดขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2557 และปูทางไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบไฮบริด” ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแบบ “ครึ่งๆ กลางๆ” เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูป เท่าๆ กับที่ไม่เป็นเผด็จการเต็มตัวในแบบรัฐบาลทหาร
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบโดยรัฐบาลทหาร จะเป็นหลักประกันว่า ถ้ารัฐบาลสืบทอดอำนาจต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านที่เป็นผู้ชนะแล้ว พวกเขาจะไม่มีทางที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ด้วยการให้อำนาจแก่วุฒิสภาในการเป็นผู้ลงเสียงร่วมกับสภาล่างในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งโอกาสที่พรรคการเมืองจะ “ชนะขาด” ในสภาล่าง โดยไม่ต้องพึ่งเสียงของสภาสูงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย … ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะเสียงวุฒิสภา โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับประเด็นกฎหมายมาตรา 112 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า วุฒิสภาก็คือ หนึ่งใน “แกนกลาง” ของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดตั้งพรรคทหาร
ฉะนั้นในภาพรวมแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกออกแบบเพื่อให้เกิดการ “ชลอตัว” ของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่ชัยชนะในการเลือกตั้งจะไม่ให้ผลตอบแทน ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ตามเสียงจากการเลือกตั้งนั้น ในสภาพเช่นนี้ ผลการเลือกตั้งที่เป็นชันชนะของฝ่ายค้าน จึงเป็นดัง “จุดเริ่มต้น” ของวิกฤตการเมืองที่จะเกิดตามมา เพราะไม่เพียงพรรคที่ชนะอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจวุฒิสภาในการลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากยังเกิดคดีทางการเมืองที่จะให้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านต้องหลุดออกไปจากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาด้วย อันส่งผลให้ “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน” ต้องเผชิญกับอุปสรรค และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก และเปิดโอกาสให้ผู้นำเก่าอยู่ในอำนาจได้ต่อไปอีก
สภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบไฮบริด ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 และเมื่อกลไกรัฐธรรมนูญและวุฒิสมาชิกได้ทำภารกิจในการชลอการเปลี่ยนผ่าน และทำให้ “รัฐบาลผสมของพรรคฝ่ายค้าน” ต้องประสบปัญหาอย่างมาก ดังเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
ต่อจากนั้น กลไกอีกส่วนที่จะทำหน้าที่ต่อมาคือ “พรรคทหาร” ที่มีทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะต้องก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้ โดยอาจจะชักจูงให้วุฒิสภายอมรับการจัดตั้ง “รัฐบาลผสมฝ่ายค้าน/ฝ่ายรัฐบาล” หรือด้วยการรวมเสียงในสภาล่างให้ได้มากพอ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยของความเป็นพรรคทหาร ที่เป็นเส้นแบ่งทางการเมืองในแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคเพื่อไทยที่เข้ามาเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาลจากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ได้พิจารณาโดยให้น้ำหนักกับเวลาของการเป็นรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อ “เป็นโอกาส” ของประเทศ ที่จะต้องมีรัฐบาล แต่การกระทำเช่นนี้อาจมีราคาแพงที่ต้องจ่ายอย่างมาก เพราะการกำเนิดของ “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน/พรรคทหาร” จะกลายเป็นปัญหาในตัวเองกับพรรคเพื่อไทยในอีกแบบ และอาจเป็นปัจจัยที่ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยในการเป็นพรรคใน “สายประชาธิปไตย”
เนื่องจาก การเมืองที่ถูกแบ่งฝ่ายในบริบทของสังคมไทยนั้น เห็นถึงความชัดเจนในการต่อสู้ระหว่าง “พรรคฝ่ายค้าน vs พรรคทหาร” และพรรคฝ่ายค้านหาเสียงบนความเชื่อมโยงกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ต่อต้านรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจ และการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ มีพรรคทหารเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ หรืออาจกล่าวได้ว่า พรรคทหารคือ “เสาค้ำ” ของ “ระบอบประยุทธ์” ที่ทำให้ผู้นำรัฐประหารเดิมยังคงมีอำนาจได้ต่อไปอีกหลังการเลือกตั้ง 2562 จนถึงปัจจุบันนั่นเอง
ดังนั้น 4 ปีของการต่อสู้ในระบบรัฐสภา จึงเป็นภาพของการต่อสู้ระหว่างพันธมิตรของพรรคที่ประกาศตัวอยู่ในสายของ “ปีกประชาธิปไตย” กับพรรคอีกส่วนที่รวมกัน โดยมี “พรรคทหาร” เป็นแกนกลาง ซึ่งการต่อสู้เช่นนี้ทำให้เกิด “พันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน” ตั้งแต่ก่อน จนมาถึงหลังเลือกตั้ง และเป็นความคาดหวังของผู้คนในสังคมที่ไม่ตอบรับกับรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจว่า พรรคในปีกนี้จะเป็นทางเลือกของการสร้าง “การเมืองใหม่” ที่จะทำให้ระบอบไฮบริดที่ทำหน้าที่สืบทอดอำนาจรัฐประหารนั้น ถึงจุดสิ้นสุด… แน่นอนว่า ผู้คนที่ไม่ตอบรับกับ “ระบอบประยุทธ์” ไม่ว่าจะอยู่ใน “สีการเมือง” อะไรก็ตาม มีความหวังในเรื่องนี้อย่างมาก
ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ 2 ของทางพรรคเพื่อไทย ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดที่พยายามจะดึงพรรคต่างๆ เพราะในเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลผสม จะต้องหาทางดึงพรรคการเมืองอื่นให้เข้ามาร่วมให้ได้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคจากการออกเสียงของวุฒิสภา แต่เมื่อเกิด “ภาพสุดขั้ว” ที่เห็นการเปิดตัวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสูตร “รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายค้าน/พรรคทหาร” แล้ว หลายฝ่ายที่ต่อสู้กับ “ระบอบประยุทธ์” มา ย่อมรู้สึกว่า ทางเลือกของการจัดตั้ง “รัฐบาลผสมใหม่” เช่นนี้ อาจเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ โดยเฉพาะ ผู้นำของพรรคทหารคือ ผู้นำการทำรัฐประหารในการล้มรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในปี 2557
อย่างน้อย หลายฝ่ายที่ร่วมในการต่อต้าน “ระบอบรัฐประหาร” ที่แปรรูปเป็น “ระบอบประยุทธ์” หลังการเลือกตั้ง 2562 นั้น ย่อมไม่ต้องการเห็นการ “ผสมพันธ์ุใหม่” ที่ทำให้ระบอบนี้อยู่ต่อไปได้ แม้จะไม่มีการอยู่ของตัวบุคคลที่เป็นผู้นำรัฐประหารแล้ว แต่พรรคทหารก็คือ ตัวสัญลักษณ์ของความเป็นตัวแทนระบอบนี้ที่ชัดเจน
ถ้าคำตอบของ “รัฐบาลผสมใหม่” คือ การเข้าร่วมของพรรคทหารแล้ว ก็จะกลายเป็นการสืบทอดระบอบไฮบริดในอีกแบบ อีกทั้ง หากคิดในทางกลับกัน จึงเป็นเสมือนหนึ่ง “ระบอบประยุทธ์” ได้เชิญพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งหลายคนที่เคยร่วมต่อสู้กันมาย่อมอดคิดเป็นห่วงไม่ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้คือ การ “ทำลายความน่าเชื่อถือ” จนอาจกลายเป็น “วิกฤต” ของพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือไม่ เพราะสังคมยังต้องการเห็นพรรคเพื่อไทยเป็น “เสาประชาธิปไตย” หนึ่งของการเมืองไทย… การตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายต่อพรรคเพื่อไทย และต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยอย่างยิ่ง !