คณะทหารหนุ่ม (50) | ภาวะ “ตีนลอย” เมื่อฐานอำนาจ “ทหาร-การเมือง” ไม่สัมพันธ์กัน

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

การเมืองนำการทหาร

ครั้นเมื่อ พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี พ.ศ.2518 ด้วยแนวทางการปฏิบัติงานที่ได้ผลและตรงกันตลอดระยะเวลา 2 ปีเต็ม

พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จึงยังคงได้รับความไว้วางใจและได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้บังคับชุดควบคุมที่ 23” ซึ่งแปรสภาพมาจาก “หน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23” เพื่ออำนวยการปราบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ 13 อำเภอในเขตจังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย ต่อไป

นำมาซึ่งการปฏิบัติที่ได้ผลมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

“งานการเมือง” ที่นำเข้ามาใช้ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้มีผู้ละทิ้งแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธเข้ารายงานตัวต่อทางราชการมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ลดจำนวนลงตามลำดับ

การปลุกระดมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในหลายพื้นที่ไม่ปรากฏผลสำเร็จเหมือนที่เคยเป็นมา ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน

ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสนามรบ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนได้สำเร็จด้วยการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือและช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของประชาชนตามแนวทางใหม่ “การเมืองนำการทหาร”

 

เมื่อกำลังของชุดควบคุมที่ 23 ปฏิบัติภารกิจจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วก็จำเป็นที่ทหารจะต้องถอนตัวออกจากพื้นที่เพื่อไปดำเนินการในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาต่อไป โดยมอบหมายให้ประชาชนรับผิดชอบดูแลพื้นที่ แต่เมื่อถึงเวลาจะถอนกำลังทหารออก ประชาชนกลับไม่ยินยอมด้วยเกรงจะได้รับภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และนายทหารอื่นอีกหลายนายจึงเกิดความคิดตรงกันว่าต้องหาทางทำให้ชาวบ้านอยู่ด้วยตนเองให้ได้ ในที่สุดจึงนำโครงการฝึกราษฎรหมู่บ้าน “ไทยอาสาป้องกันตนเอง-ทสป.” ซึ่งเคยมีการดำเนินการมาก่อนกลับมารื้อฟื้นปรับปรุงและดำเนินการใหม่อีกครั้งหนึ่ง

การฝึก ทสป.ครั้งใหม่ซึ่งเริ่มต้นที่บ้านหนองฮาง ต.ธาตุ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 389 คน มาจากบ้านหนองฮาง บ้านกุดนาขาม บ้านธาตุ บ้านตาลเดี่ยว และบ้านไร่

จากบ้านหนองฮาง ชุดควบคุมที่ 23 ได้ขยายการฝึกประชาชนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีมากจนเมื่อกลางปี พ.ศ.2519 ชาวบ้านหนองฮางได้ทำการต่อสู้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกและได้รับชัยชนะต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจ

ข่าวการต่อสู้ของชาวบ้านหนองฮามที่แพร่กระจายไปยังหมู่บ้านข้างเคียงส่งผลให้ชาวบ้านหมู่อื่นต้องการรับการฝึก ทสป.เพิ่มขึ้น สถานการณ์จึงคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ จนทั่วทุกพื้นที่ล่อแหลมในภาคอีสาน

 

ความสำเร็จในการใช้การเมืองนำการทหารจนสามารถเอาชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ตามนโยบายของ พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 โดยมี “มือขวา” พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้ปฏิบัติในฐานะผู้บังคับการกรมผสมที่ 32 นับเป็นจุดเริ่มต้นของ “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ 66/2523” ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 23 เมษายน พ.ศ.2523 หลังจากที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อต้นปี พ.ศ.2523

ทั้งหมดนี้คือที่มาแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นลึกซึ้งและยาวนานระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งต่อมาหลังท่านย้ายจากผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 แห่งกองทัพภาคที่ 2 เข้ามาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2522 เพื่อร่วมปฏิบัติงานกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้ง

เป็นอีก “สมรภูมิ” ที่แตกต่างไปจากพื้นที่ภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง

 

“ตีนลอย”

1 ตุลาคม พ.ศ.2521 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกโดยขาดฐานอำนาจในส่วนกลางอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในกองทัพภาคที่ 1 มาก่อน ในอดีตที่เคยรับราชการใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดก็เพียงสระบุรี

นอกจากนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่ออายุได้ 58 ปี จึงเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีก็จะต้องเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2523 ตามระเบียบราชการ

พ.ศ.2522 เมื่อเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้ 1 ปี จึงเหลือเวลาอีกเพียงปีเดียวก็จะต้องเกษียณอายุราชการ ขณะที่ต่อมาได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 ซึ่งเหลือเวลาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกไม่ถึงปี ดังนั้น “ฐานอำนาจทางทหาร” กับ “อำนาจทางการเมือง” จึงไม่สัมพันธ์กันดังที่เคยเป็นมาโดยตลอดเมื่อผู้นำทางทหารขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

พล.อ.เปรม ติสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำทางทหารและผู้นำทางการเมือง ขณะที่โครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพบกที่ล่มสลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้นายทหารระดับกลาง โดยเฉพาะระดับผู้บังคับกองพันมีความสำคัญทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

เกือบทั้งหมดโดยเฉพาะใน กทม.และใกล้เคียงล้วนอยู่ภายใต้การชี้นำของคณะทหารหนุ่มซึ่งเข้มแข็งขึ้นทุกขณะ

 

“หลักการ” เหนือ “บุคคล”…

เป็นความจริงที่คณะทหารหนุ่มมีส่วนไม่น้อยในการสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

แต่บทเรียนที่ชัดเจนจากเหตุการณ์นี้คือ แม้คณะทหารหนุ่มจะสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดก็ถอนการสนับสนุน แล้วเปลี่ยนมาที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หลังการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คณะทหารหนุ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่งกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คณะทหารหนุ่มทุกคนเรียก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า “ป๋า”

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมสมาชิกใหม่ของคณะทหารหนุ่มและมีการแจกเอกสารรวมทั้งคำชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 “ปฏิญญา 27 มิถุนายน” แสดงจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจนและหนักแน่น ทั้งด้านกองทัพและการเมือง

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สรุปความเป็นไปได้ที่คณะทหารหนุ่มจะถอนการสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะผู้นำทางการเมืองได้เหมือนดังที่เคยถอนการสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาแล้ว

 

อาทิตย์เหยียบกรุง

1ตุลาคม พ.ศ.2522 พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 ย้าย “ข้ามห้วย” สู่กองทัพภาคที่ 1 ในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์” ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยทหารใน กทม.และใกล้เคียง

ขณะที่หน่วยรองระดับกรมและกองพันส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การชี้นำของคณะทหารหนุ่ม และเริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่าง จปร.7 กับนายทหารรุ่นพี่

อุษณีย์ เกษมสันต์ บันทึกไว้ใน “กองทัพบก 2529” อันเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของกองทัพบกและจัดทำขึ้นขณะ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ตอนหนึ่งว่า

“กล่าวกันว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ปรารถนาให้ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก กลับมาอยู่ใกล้ชิดครอบครัวเพื่อจะได้ดูแลภรรยาที่กำลังป่วย”