เผยแสดง ปรากฏ ของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

บทความพิเศษ

 

เผยแสดง ปรากฏ

ของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

หากมอง “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” อย่างทะลุไปยังความรู้สึกในทางวัฒนธรรมและในทางวรรณกรรม

“สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ดำรงอยู่ในลักษณะแห่ง “สะพานเชื่อม”

เชื่อมผ่านการแสดงออกอย่างดุดัน ก้าวร้าวของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปยังประวัติศาสตร์และโบราณคดี

จากยุค “กรมพระยาดำรง” จนมาถึงยุค “มานิต วัลลิโภดม”

ขณะเดียวกัน การปรากฏขึ้นของ “กวีนิพนธ์” ในท่วงทำนองแบบ อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็เร้าใจเป็นอย่างสูง

แตกต่างไปจาก กุลทรัพย์ รุ่งฤดี แตกต่างไปจาก เจษฎา วิจิตร

จึงไม่เพียงแต่เสน่ห์ของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เท่านั้นที่ยั่วความสนใจของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อย่างเป็นพิเศษ

หากการปรากฏขึ้นของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็มีแรงสะเทือน

กระเพื่อม กระแทก

อังคาร กัลยาณพงศ์

 

แม้ในยุคที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร อังคาร กัลยาณพงศ์ จะเคยคัดค้านต่อต้านการเคลื่อนไหวทางความคิดที่ก้าวหน้า

ถึงกับทำร้ายรูปปั้นของ “กอร์กี้” ด้วยความเข้าใจว่าเป็น “สตาลิน”

กระนั้น ในช่วงยุคมืดอันยาวนานจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่อง จอมพลถนอม กิตติขจร เขามีความเกลียดชังเผด็จการอย่างถึงกระดูก

ชื่นชมไปกับการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว

กล่าวในทางวรรณกรรม ในยุคที่กลอนรักเพ้อฝันเฟื่องฟู กวีนิพนธ์ของเขาได้ส่งผลสะเทือนในทางรูปแบบและเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง

โดยเฉพาะรูปการเขียนที่อิง “โบราณ” จนดูเหมือนไม่เคร่ง “ฉันทลักษณ์”

กลิ่นอาย เร้าใจ

ทาง กวีนิพนธ์

 

แท้จริงแล้ว วิธีวิทยาทางการเขียนที่ดูเหมือนจะไม่เคร่งฉันทลักษณ์นั้น คือ การย้อนไปยังยุคก่อนรัตนโกสินทร์ตอนต้น

นั่นคือ ยุค “สมุทรโฆษคำฉันท์” ยุค “อนิรุทธ์คำฉันท์”

โดยยึดกุมจังหวะและน้ำหนักแห่งเสียงให้ดำเนินไปตามแต่ละ “ลาวัณย์” ได้มีส่วนในการปลดแอกทางความคิดที่ติดอยู่ในกรอบแห่งแบบทางวรรณกรรมที่ติดความเคร่งในยุครัตนโกสินทร์ตอนกลาง

การประสาน “จิตรกรรม” เข้ากับ “วรรณกรรม” ได้เสริมเสน่ห์แห่ง “กวีนิพนธ์” ให้ได้รสชาติใหม่

การนำ “สัญลักษณ์” มาใช้อย่างเหมาะสม สะท้อนอารมณ์อย่างละเมียด

ได้ช่วยยกฐานะของกวีนิพนธ์ที่กำลังเสื่อมทรุดตกต่ำให้มีความหมายอย่างล้ำลึกต่อชีวิต

ทำให้เกิดความเข้าใจต่อความรักและธรรมชาติอย่างเป็นศิลปะ

อังคาร กัลยาณพงศ์

กับ กวีร่วมสมัย

 

ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งอ่าน “กวีนิพนธ์” อังคาร กัลยาณพงศ์ ในบรรยากาศเดียวกันกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ยืนยัน

อังคาร กัลยาณพงศ์ คือ ผู้บุกเบิกยุคใหม่แห่งกวีนิพนธ์ไทย

นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ผู้บรรยายวิชา “วรรณกรรมปัจจุบัน” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า

อิทธิพล อังคาร กัลยาณพงศ์ ปรากฏเห็นชัดในงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัย

โดยเฉพาะของคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา งานของคนกลุ่มนี้ (ที่ได้อิทธิพลมา) แม้จะยังไม่สามารถเร้าอารมณ์ เร้าสมองและจินตนาการได้เท่างานของอังคาร แต่เห็นได้ชัดว่าได้พยายามแหวกวงล้อมของประเพณีการเขียนกวีนิพนธ์แบบดั้งเดิมออกมาแล้ว

นี่คือรากอันเป็นที่มาแห่ง “คนบาป”

นี่คือรากอันก่อรูปขึ้นทั้งในทางความคิดและในทางรูปแบบที่ปะทุออกมาเป็น “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

ปฐมบท เรื่องสั้น

บาทก้าว ขุนเดช

 

ขุนเดชที่ไม่ได้รับตราตั้งถือตะพดเลี่ยมตะกั่วเดินออกจากเพิงไม้ไผ่ที่พักร้อน หยุดมองไปเบื้องหน้า

เห็นคนงานขุดแต่งโบราณสถานแยกชะลอม จอบ เสียม และบุ้งกี๋กลับบ้าน

จึงทอดสายตาไปกลุ่มวัดรกร้างอันมีเจดีย์เจ็ดแถว วัดช้างล้อม แลวัดสวนแก้วอุทยานเป็นอาทิ

กลุ่มเจดีย์เสียดยอดสู่ท้องฟ้าโพ้น

แต่จะหาเจดีย์ที่ยอดแหลมอยู่บริบูรณ์ก็ทั้งยาก ปลายเข็มทิศทองที่ชี้ทางไปสู่สวรรค์ให้แก่มนุษย์ถึงแก่กาลร่วงโรยสิ้น

เป็นดังนี้เอง มนุษย์ทุกวันนี้จึงเดินหลงอยู่ในป่ารกชัฏหาหนทางแก้วไม่พบ

แล้วตะแกก็หันหลังกลับเดินตรงไปยังฝั่งน้ำยม ตัดสินใจว่าจะต้องขึ้นไปดูเจดีย์ที่สัตว์ร้ายลักขุด

อย่างไรเสียก็คงไม่ทันตะวันตกดิน

เรื่องสั้น คนบาป

อุษณา เพลิงธรรม

 

นั่นคือภาพของ “ขุนเดช” เมื่อแรกปรากฏและเผยแสดงผ่านเรื่องสั้น “คนบาป” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

จินตนาการผ่านหลายความรู้สึกของ “บรรณาธิการ”

ไม่ว่าบรรณาธิการซึ่งนั่งทำงานอยู่ “ช่อฟ้า” ย่านถนนเฟื่องนคร ไม่ว่าบรรณาธิการซึ่งนั่งทำงานบนอาคารราชดำเนินแห่ง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

มองผ่าน “ขุนเดช” ก็เห็นตัวตนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไม่เพียงเป็นเงาสะท้อนความจัดเจนของนักศึกษาโบราณคดี หากยังเป็นเงาสะท้อนแห่งเด็กหนุ่มผู้เติบใหญ่อยู่ในร่มแห่งอาราม

เคี่ยวกรำการอ่าน “ประวัติศาสตร์” และ “วรรณกรรม”

ไม่ว่าจะเป็น “ทวาทศมาส” อันได้รับการแนะนำจากเพื่อนรัก ขรรค์ชัย บุนปาน ไม่ว่าจะเป็น “นางห้าม” จากการร้อยเรียงของ “ไม้ เมืองเดิม”

นี่คือน้ำเนื้ออันเป็นตัวตนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

พลันที่อ่านจนจบย่อมมีบทสรุปจาก ประมูล อุณหธูป ภายใต้ความจัดเจนของ อุษณา เพลิงธรรม

นำลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” โดยมิลังเล

กลิ่นอาย ใหม่

ทาง วรรณกรรม

 

ไม่ว่าจะมองผ่านเรื่องสั้นของ “สุวรรณี” ไม่ว่าจะมองผ่านเรื่องสั้นของ ณรงค์ จันทร์เรือง ไม่ว่าจะมองผ่านเรื่องสั้นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ดำรงอยู่อย่างมี “เอกลักษณ์”

ณรงค์ จันทร์เรือง อาจมี “กลิ่น” ในท่วงทำนองแบบ อุษณา เพลิงธรรม แต่ก็สะท้อนลักษณะ “ใหม่”

จากยุค “บ้านหม้อ” เข้าสู่ยุค “จักรพรรดิพงษ์” นางเลิ้ง

ขณะที่กล่าวสำหรับ “สุวรรณี” นำไปสู่การเปรียบเทียบในแบบของ ฟรังซัวส์ ซาก็อง

โดยที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ย้อนยุคสู่สุโขทัย อยุธยา อันไกลโพ้น