Formula E การแข่งขัน F1 รุ่น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ก่อนจะไปถึง Formula E ขอปูพื้นที่มาที่ไปของ F1 หรือการแข่งขัน “รถยนต์สูตร 1” Formula 1 กันสักเล็กน้อยครับ

การแข่งขัน “รถยนต์สูตร 1” เป็นการแข่งขันรถยนต์ประเภท 1 ที่นั่ง และเปิดล้อทั้ง 4 แข่งด้วยความเร็วสูงถึง 360 กิโลเมตร/ชั่วโมง กับเครื่องยนต์ที่ 18,000 รอบ/นาที

การแข่งขัน F1 อยู่ภายใต้การควบคุมของ F?d?ration Internationale de l’Automobile หรือ FIA โดยฤดูกาลแข่งขัน F1 จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงธันวาคม ในลักษณะ Grand Prix สะสมคะแนน

โดยผู้ชนะ F1 ในแต่ละปี คือผู้ที่ทำคะแนนสะสมสูงสุดตลอดปฏิทินการแข่งขันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 20-24 สนาม

 

ส่วน Formula E คือการแข่งขันรถยนต์ที่ควบคุมโดย FIA เช่นเดียวกับ Formula 1 ข้อแตกต่างใหญ่ก็คือ Formula 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน Formula E ใช้พลังงานไฟฟ้า

แต่ก็มีข้อแตกต่างที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายประการระหว่าง Formula 1 และ Formula E

ไม่ว่าจะเป็นระบบการ Vote เพื่อเพิ่มกำลังรถแข่ง หรือ Fan Boost หรือจะเป็นการอนุญาตให้ใช้รถได้คนละ 2 คันในการแข่งขันของนักขับ 1 คน

Formula E เป็นการแข่งขันรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เริ่มจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ประเดิมสนามแรกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ในฤดูกาลนั้น McLaren ค่าย Super Car สัญชาติอังกฤษ ได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนา “มอเตอร์ไฟฟ้า” ที่ใช้สำหรับรถแข่ง Formula E

ซึ่ง McLaren ได้นำ “มอเตอร์ไฟฟ้า” ของ McLaren P1 หรือ Hyper Car สายพันธุ์ Hybrid มาใช้เป็นพื้นฐาน และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะกับการแข่งขัน Formula E มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลหลังๆ มานี้ FIA มีนโยบายให้แต่ละทีมสามารถเลือกใช้ “มอเตอร์ไฟฟ้า” ได้อย่างอิสระ รวมไปถึงชุดเกียร์ ระบบหล่อเย็น ก็สามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระเช่นกัน!

การแข่งขัน Formula E นี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ และตลาดรถยนต์โลก

ที่ในปัจจุบัน ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก กำลังเบนเข็มทิศทางการวิจัยและพัฒนามายัง “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV (Electric Vehicle)

โดยรถแข่ง Formula E มีการกำหนดให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 200 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 270 แรงม้า ถือว่ามีพละกำลังที่สูงมาก เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวถังที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนัก 800 กิโลกรัม

ส่งผลให้ Formula E ทะยานจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาเพียง 3 วินาที!

ส่วนความเร็วสูงสุดทำได้ 140 ไมล์/ชั่วโมง (ประมาณ กิโลเมตร/ชั่วโมง)

ทว่า ในระหว่างการแข่งขัน แรงม้าของ Formula E จะถูกจำกัดให้เหลือเพียง 200 แรงม้าเท่านั้น โดยอีก 70 แรงม้า จะได้รับอนุญาตให้ใช้ก็ต่อเมื่อนักแข่งได้รับคะแนน Vote จากแฟนคลับทั่วโลก

โดย Formula E เรียกระบบ Vote เพื่อเพิ่มแรงม้าว่า Fan Boost

 

Fan Boost เป็นระบบที่ใหม่ถอดด้าม หรือ “ป้ายแดง” ในวงการมอเตอร์สปอร์ต โดยเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้สาวก Formula E ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินผลแพ้-ชนะของการแข่งขัน

โดยแฟนคลับสามารถ Vote ให้กับนักแข่งที่ตนเองชื่นชอบ ผ่านการลงคะแนนเสียงผ่าน Website ของ FIA ได้อย่างสะดวกเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก

ซึ่ง FIA จะเปิดให้ Vote ได้ก่อนการแข่งขัน Formula E ประมาณ 2 สัปดาห์

โดยนักแข่งที่ได้รับคะแนน Vote มากที่สุด 3 คนแรก จะได้รับการอนุญาตให้ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 100 กิโลจูลส์ ซึ่งเรียกว่า Boost นั่นเอง

ซึ่ง Boost จะมาในรูปแบบ “ปุ่มกด” เพื่อรีดพลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจะสามารถใช้งานได้เพียงแค่ 5 วินาทีเท่านั้นในการแข่งขัน

 

ความพิเศษที่ทำให้ Formula E แตกต่างจาก Formula 1 นอกจากระบบการ Vote เพื่อเพิ่มกำลังรถแข่ง หรือ Fan Boost แล้ว ก็เห็นจะเป็นการอนุญาตให้ใช้รถได้คนละ 2 คันในการแข่งขันของนักขับ 1 คน

จากเดิมที่เราเคยเห็นการถ่ายทอดสดการแข่งขัน F1 ทางโทรทัศน์ เมื่อรถแข่งเข้ามาที่ Pit ทีมงาน Pit Crews ราว 20 ชีวิต จะกรูกันเข้ามาเปลี่ยนยาง เติมน้ำมัน ตรวจตราความพร้อมต่างๆ อย่างรวดเร็วนับเป็นวินาทีกันเลยทีเดียว

ทว่า อุปสรรคสำคัญของ Formula E แตกต่างจาก Formula 1 ก็คือ Formula E ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ระยะเวลาในการชาร์จไฟให้กับ Formula E นั้น ยาวนานกว่าระยะเวลาการเติมน้ำมันของ Formula 1 หลายเท่าตัว

ดังนั้น FIA จึงกำหนดให้นักแข่ง Formula E แต่ละคน สามารถใช้รถแข่งได้ทั้งหมด 2 คัน ในการแข่งขันจนจบแต่ละสนาม

แปลไทยเป็นไทยก็คือ เมื่อแบตเตอรี่ของรถแข่งคันที่ 1 ลดลงจนใกล้จะหมด นักแข่งสามารถนำรถเข้า Pit เพื่อเปลี่ยนรถแข่งคันที่ 2 ซึ่งชาร์จแบตเต็มคาราเบลรอไว้พร้อมแล้วได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

การแข่งขัน Formula E มีชื่อเต็มว่า ABB FIA Formula E Championship ซึ่งนอกจากจะให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าแข่งขัน 100% แล้ว

กิจกรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขัน Formula E ต้องผ่านการติดตาม และตรวจสอบด้วย ว่าเป็นกิจกรรมที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Events Certification ตามมาตรฐาน ISO 20121

โดยมาตรฐาน ISO 20121 จะพิจารณาตั้งแต่ประเด็นการใช้พลังงาน การปล่อยคาร์บอน การเดินทางของเจ้าหน้าที่ การขนส่งรถแข่งเพื่อเข้าแข่งขัน การเดินทางของผู้ชม การจัดการอาหารและเครื่องดื่ม

ซึ่งต้องมีการปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อให้เกิด “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ Carbon Neutrality และมีการวัดปริมาณ “รอยเท้าคาร์บอน” หรือ Carbon Footprint

 

นอกจาก Fan Boost แล้ว Formula E มีกติกาดังนี้

1. Practice การซ้อม 2 รอบ รอบแรกใช้เวลา 45 นาที รอบที่ 2 ใช้เวลา 30 นาที แต่ละคันจะมีกำลังสูงสุดอยู่ที่ 250 กิโลวัตต์ โดยการชาร์จแบตจะอนุญาตให้ทำได้ในช่วงระหว่างรอบ Practice นี้เท่านั้น

2. Qualifying มีเวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมง โดยจะแบ่งนักแข่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คัน แต่ละกลุ่มจะมีเวลา 6 นาทีในการทำเวลาให้เร็วที่สุด ผู้เข้ามาอันดับ 1 จะได้รับ 1 คะแนนพิเศษ โดยผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุด 6 อันดับแรกจะได้สิทธิเข้ารอบ Super Pole

3. Super Pole นักแข่งที่ทำเวลามาเป็นอันดับ 6 จะได้สิทธิออกวิ่งก่อน เมื่อนักแข่งอันดับที่ 6 วิ่งผ่านเส้นจับเวลา Pit Lane จะเปิดไฟเขียวให้นักแข่งที่ทำเวลาเป็นอันดับ 5 ออกวิ่ง และทยอยออกวิ่งจนถึงอันดับ 1

โดยผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ตำแหน่ง Pole Position ไปพร้อมกับคว้า 3 คะแนน ซึ่งตลอดการ Qualify นักแข่งสามารถเรียกกำลังรถได้เต็มคาราเบลที่ 250 กิโลวัตต์

4. Races หรือ E-Prix เป็นการออกตัวแบบ Standing Start จะไม่มีการวิ่ง Formation Lap เหมือนการแข่งขัน Formula 1 เริ่มด้วย ให้รถแข่งจอดอยู่บน Dummy Grid ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Gird Start ของตนเพื่อเตรียมออกตัว

การแข่งขันจะใช้เวลา 45 นาที นักแข่งสามารถเรียกกำลังรถได้สูงสุด 200 กิโลวัตต์ โดยนักแข่งที่สามารถทำ Fastest Lap ได้จะได้รับคะแนนพิเศษ 1 คะแนน

5. Attack Mode นักแข่งจะต้องขับผ่าน Zone พิเศษ เมื่อนักแข่งใช้ Attack Mode จะมีไฟ LED ปรากฏอยู่บนบริเวณ Halo ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังรถ และเพิ่มกลยุทธ์ในการใช้พลังงานได้ นักแข่งสามารถเรียกกำลังรถได้สูงสุด 235 กิโลวัตต์