ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งมากว่า 2 เดือน ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองในไทยจะเต็มไปด้วยประเด็นร้อนรายวันอย่างไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่การชิงตำแหน่งประธานสภาของสองพรรคร่วม เพื่อไทย-ก้าวไกล, คดีหุ้น ITV ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” การโหวตเลือกนายกฯ และ ส.ว.ที่ไม่เคารพเสียงประชาชน
ยังรวมไปถึงประเด็นกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ดูจะถูกจับตาอย่างหนักไม่แพ้ประเด็นข้างต้น
เพราะนับตั้งแต่ถูกรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และหลบหนีคดีที่ศาลตัดสินใจให้จำคุกในคดีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไปอยู่ต่างประเทศ วาทกรรม “กลับบ้าน” ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ถูกพูดขึ้นมาถึง 18 ครั้งด้วยกัน
โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ 30 มีนาคม ปี พ.ศ.2552 เป็นการกล่าวผ่านระบบวิดีโอบนเวทีกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุม นปช.หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า “ถ้าเมื่อไหร่ เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชน ผมจะเข้าไปนำพี่น้องเดินเข้ากรุงเทพฯ ทันที” และยังคงมีมาให้ได้ยินเป็นระยะ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2565 พบว่ามีการพูดถึง 7 ครั้งด้วยกัน และส่วนใหญ่เป็นการพูดในรายการ CARE Talk x CARE Club House
หากแต่ว่า 2 ครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2566 การสื่อสารเรื่องการกลับบ้านผ่านการทวีตข้อความในทวิตเตอร์ ดูจะแสดงเจตจำนงว่าอดีตนายกฯ คนนี้ต้องการกลับดินแดนมาตุภูมิอย่างจริงจังกว่าครั้งไหนๆ แถมยังประกาศช่วงก่อนเลือกตั้ง พ.ศ.2566 ที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะแลนด์สไลด์ให้ได้อีกด้วย
โดย 1 พฤษภาคม 2566 ทักษิณได้ทวีตข้อความ หลังลูกสาวคนเล็ก “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้ให้กำเนิดทายาทคนที่สอง และเป็นหลานคนที่เจ็ดของคุณตาทักษิณ โดยระบุว่า “เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชาย ชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็วๆ นี้ครับ ขออนุญาตนะครับ”
และต่อมา 9 พฤษภาคม 2566 ทักษิณได้ทวีตข้อความถึงการกลับบ้านอีกครั้ง พร้อมระบุว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยระบุว่า
“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ”
และมีการทวีตข้อความเพิ่มเติมอีกว่า
“ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมายและวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”
แต่ทว่าการส่งสัญญาณชัดเจนถึงความปรารถนาจะกลับบ้าน คล้ายถูกแตะเบรก เมื่อมีข่าวลือออกมาว่า “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร” ได้นัดรับประทานอาหารกับคนภายในครอบครัวชินวัตร พร้อมข่าวว่าคนในครอบครัวชินวัตรยังไม่เห็นด้วยที่จะดันอุ๊งอิ๊งขึ้นเป็นนายกฯ เพราะมองว่าลูกสาวคนเล็กที่อยู่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ยังไม่พร้อมบนสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ และประเด็นสำคัญของการที่อดีตหัวหน้าครอบครัวจะกลับมา ก็ถูกลือว่ามีฉันทามติจากคนในครอบครัวว่าควรชะลอออกไปก่อน ไว้ให้ได้รัฐบาลชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อย เพื่อที่จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการกระตุ้นความร้อนแรงทางการเมืองที่หลายคนต่างจับตา
ฟากอุ๊งอิ๊งก็ได้ออกมาตอบสื่อถึงประเด็นนี้ พร้อมกล่าวว่าเป็นความห่วงใยของคนในครอบครัว แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงให้คุณพ่อเป็นคนตัดสินใจเอง
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นแค่ความห่วงใยของคุณแม่ ซึ่งตอนนี้เป็นเสาหลักของครอบครัวที่อยู่ห่างกันมา 17 ปี ห่วงทุกเรื่อง เรื่องอิ๊งค์เอง ในฐานะลูกสาวคนเล็ก ความเป็นห่วงเป็นใยคุณพ่อ ห่วงใยคนในครอบครัว ไม่มีมิติในทางการเมืองด้านอื่นจริงๆ”
“เรื่องกลับ อยากให้กลับอยู่แล้ว แต่อยากให้พ่อตัดสินใจเองว่าจะกลับมาตอนไหน กลับมายังไง อยากให้ท่านเป็นคนตัดสินใจเอง เพราะว่าท่านออกไปนานมากแล้ว ท่านก็ตั้งใจอยากจะกลับมาในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปีแรกๆ ปีกลางๆ หรือล่าสุดปีสองปีที่ผ่านมา ท่านอยากกลับมาก โดยเฉพาะตอนที่มีหลานคนที่ 7 ยิ่งอยากกลับ แต่ให้คุณพ่อตัดสินใจเอง”
“เราไม่มีการเบรกเลยค่ะ เราพูดแค่ว่าเราเป็นห่วงนะ ดูข้อมูลให้ครบ อยากกลับมาเมื่อไรก็ดูให้ดี ตัดสินใจให้ดี นี่คือข้อความที่พูดกันทุกครั้ง ซึ่งเป็นความห่วงใยในครอบครัว ไม่ได้มีการเบรกว่าตอนนี้อย่ากลับมานะ กลับมาไม่ได้ มันจะไม่แฟร์กับท่านด้วย พ่อออกไป 17 ปีแล้ว ท่านจะกลับมาเมื่อไรก็ให้เป็นการตัดสินใจของท่าน ชีวิตเป็นของท่าน” อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร กล่าว
การอยากกลับบ้านของทักษิณ มาพร้อมกับข่าวหลุดข่าวลือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีรายงานข่าวเอกสารหลุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล นัดประชุมเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ มีขั้นตอนการดำเนินตามกฎหมายกรณีผู้ต้องหาตามหมายจับเดินทางเข้าไทย โดยเครื่องบินโดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ ตลอดจนการระบุเส้นทางการเดินทาง 6 เส้นทางหลัก-รอง มุ่งหน้าจากสนามบินดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ ไปศาลฎีกา (สนามหลวง), สนามบินดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ ไปยัง บช.ปส. (สถานที่ควบคุมพิเศษ), เส้นทางจาก บช.ปส.มายังศาลฎีกา และเส้นทางจากศาลฎีกา ไปเรือนจำพิเศษ กทม.
ก่อนที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ รมว.ยุติธรรม จะออกมายอมรับว่ามีเอกสารรับทักษิณจริง เพราะการกลับมาต้องเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมราชทัณฑ์จึงต้องมีการเตรียมการ และต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย
ยังรวมไปถึงข่าวลือดีลลับจับมือกับฝ่ายตรงข้าม ที่ผุดขึ้นมาตลอดระยะเวลาเดียวกันนี้ ในระหว่างการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 เกมร้อนชิงเก้าอี้ประธานสภาระหว่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ก็ถูกพ่วงเข้ากับประเด็นการเตรียมกลับบ้านของทักษิณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อแผนลับกลายเป็นแผนรั่วหลุดเป็นข่าวออกมา 12 กรกฎาคม อุ๊งอิ๊งจึงจำเป็นต้องออกมาพูดถึงการกลับบ้านของคุณพ่ออีกครั้ง ว่าคุณพ่อไม่ได้อยากกลับมาเพื่อทำให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้ากลับมาแล้วช่วยแก้ปัญหาก็จะดีกว่า ไม่ใช่กลับมาในช่วงการเมืองยังไม่นิ่ง แล้วจะทำให้เกิดความวุ่นวาย คุณพ่อไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ส่วนตัวคิดว่า คงไม่ใช่เปลี่ยนวันกลับเป็นเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ อาจจะบวกลบไม่เยอะ
พร้อมย้ำว่าปัจจัยหลักในการกลับมาขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ไม่อยากทำให้เกิดความวุ่นวาย คุณพ่อห่วงประเทศในเรื่องนี้ อยากทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อน
ส่วนกระแสสังคมก็มีทั้งฝั่งที่ยินดี และตั้งแง่ต่อการกลับมาของอดีตนายกฯ คนนี้เช่นกัน
ขณะที่ล่าสุดภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น จากกรณีถือหุ้น ITV อุณหภูมิทางการเมืองไทยก็ยิ่งร้อนแรงขึ้น ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนต่อคำสั่งศาล ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว. ขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีจากเสียงของประชาชนได้
การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 อาจเป็นโอกาสการเสนอโหวตชื่อนายกฯ จะถูกส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย ที่มีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน มีชื่อยืนหนึ่งตามคำยืนยันของอุ๊งอิ๊ง
ท่ามกลางกระแสข่าวและบทวิเคราะห์หลายกระแสที่ยืนยันตรงกันว่า เมื่อเพื่อไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะนำไปสู่การเทียบเชิญพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ เข้ามาเติมเสียงให้ผ่าน 376 ที่เป็นจุดตายของพรรคก้าวไกล ในสูตรนี้บางทีอาจไม่มีพรรคก้าวไกลในรัฐบาล
และโซลูชั่นการเมืองแบบนี้เองที่ถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ออกแบบให้ทักษิณกลับบ้าน ผ่านการประนีประนอมกับชนชั้นนำที่คุมอำนาจของประเทศนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022