จับสัญญาณแต่งตั้ง ‘นายพลสีกากี’ จากเร่งเครื่องกลายเป็นสโลว์ดาวน์

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้ลงนามข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2566 แล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อกำหนด ก.ตร.ดังกล่าวใช้ชั่วคราวเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายฤดูกาลปลายปีนี้เท่านั้น

เหตุที่เป็นข้อกำหนด ก.ตร. ชั่วคราว เนื่องจากกฎ ก.ตร.เกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจต้องออกตามความในมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ยังทำไม่เสร็จ จึงต้องออกข้อกำหนดนี้เพื่อรักษาความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน โดยการคัดเลือกหรือแต่งตั้งต้องพิจารณาจากอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ใช้เวลา 13 วันนับจาก ‘บิ๊กตู่’ มอบ ‘บิ๊กเด่น’ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นั่งประธาน ก.ตร. เคาะข้อกำหนด ก.ตร.ชั่วคราว เสนอให้ ‘บิ๊กตู่’ ลงนามในฐานะประธาน ก.ตร.

 

ช่วงระยะเวลา 10 กว่าวันดังกล่าว ‘บิ๊กๆ สำนักปทุมวัน’ เดาทางไม่ถูกว่ามีธงอย่างไรกับ “มิสชั่น” นี้

ดูเหมือนในตอนแรกมีความเร่งรีบที่จะให้ ‘ร่างข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ’ เสร็จเร็วพลัน

ขนาดที่ประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะพิจารณาไม่ทัน เพราะมี ก.ตร.หลายคนแย้งว่าเป็นเรื่องสำคัญต้องศึกษาเอกสารให้รอบคอบก่อนลงมติ

จนต้องนัดประชุม ก.ตร.ถัดมาอีกสัปดาห์ แล้ว ‘บิ๊กเด่น’ ถก 5 ชั่วโมงรวดจนได้ข้อยุติ

แต่ต่อมา เมื่อ 12 กรกฎาคม ‘บิ๊กตู่’ ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศวางมือทางการเมืองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ต่างตั้งคำถามว่าจะไปอย่างไรต่อ?

แต่ถึงอย่างไรยังคงทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี และนั่งประธาน ก.ตร. จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

หลังจากนั้นดูเหมือนทุกอย่าง ‘สโลว์ดาวน์’ ปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ ไม่กระชับเวลาเหมือนที่ผ่านมา

เป็นไปได้หรือไม่ ประเมินฉากทัศน์แล้วมีแนวโน้มจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อถึงเวลานั้น วาระการแต่งตั้ง “โผนายพลสีกากี” มีความชอบธรรม เนื่องจากเป็นไปตามไทม์ไลน์ปกติทุกปีต้องพิจารณาให้เสร็จตามกฎหมายกำหนดก่อน 31 สิงหาคม

 

ขณะนี้สำนักงานกำลังพลกำลังจัดทำลำดับอาวุโส หลังจากนี้จะประกาศให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดทราบโดยทั่วกันล่วงหน้า ก่อนที่จะดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน ถ้าใครเห็นว่าลำดับอาวุโสไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องต่อผู้มีอำนาจให้พิจารณาทบทวนได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศอาวุโส หากพ้นกำหนดให้ถือว่าข้าราชการตำรวจผู้นั้นไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิจากผู้บังคับบัญชา

สำหรับ ผบ.ตร.คนที่ 14 ที่ว่าง เนื่องจากบิ๊กเด่นเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้ จะมีการแต่งตั้ง “แม่ทัพสีกากี” ขึ้นมาแทน

ตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ประชุม ก.ตร.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้กฎหมายใหม่นี้

แคนดิเดตมี 4 คนมาจากรอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ นรต.รุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567 อันดับ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือ “บิ๊กโจ๊ก” หักพาล นรต.รุ่น 47 เกษียณ 2574 อันดับ 3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ หรือ “บิ๊กต่าย” พันธุ์เพ็ชร์ นรต.รุ่น 41 เกษียณปี 2569 และอันดับ 4 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ หรือ “บิ๊กต่อ” สุขวิมล จบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียณปี 2567

วงในวิจารณ์กันว่า ขณะนี้ขับเคี่ยวกันระหว่าง “บิ๊กโจ๊ก” กับ “บิ๊กต่อ” แม้จะให้น้ำหนักไปทาง “บิ๊กต่อ” เพราะมีแบ๊กใหญ่ แต่ใครก็ไม่กล้าฟันธง

เพราะ “บิ๊กโจ๊ก” มีอายุราชการอีก 8 ปีเกษียณ อาจรอได้ แต่ถ้าโอกาสมาถึงก็ไม่อยากเสียเวลา เพราะถ้าโจทย์ตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไป ด้วยความแนบแน่น ทั้งบิ๊กเพื่อไทย และพี่ใหญ่แห่ง “บิ๊ก 3 ป.” ส่งผลให้ได้อานิสงส์แซงโค้งสุดท้ายเข้าเส้นชัยได้ ที่สำคัญข้อกังขา “อาวุโส” ไม่มี

 

ส่วนการเลื่อนขึ้นรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ “กติกาใหม่” นับอาวุโส 100% นั้น ไล่ตั้งแต่ อันดับ 1 พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง เกษียณปี 2568 2.พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช เกษียณปี 2567 3.พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ เกษียณปี 2569 และ 4.พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข เกษียณปี 2568

เช่นเดียวกับเลื่อนขึ้น ผช.ผบ.ตร. และรองจเรตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโสด้วย

มติที่ประชุม ก.ตร.เมื่อ 6 กรกฎาคม ได้ไฟเขียวเปิด ผช.ผบ.ตร.ทำหน้าที่บริหารด้านการแพทย์ เฉพาะตัว เพื่อรองรับ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ (พตร.) ที่อาวุโสอันดับ 1 ถัดมา อันดับ 2 พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. อันดับ 3 พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 อันดับ 4 พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผบช.ภ.6 และอันดับ 5 พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ก.ตร.ครั้งล่าสุด ยังมีการกำหนดสายงานตามกลุ่มสายงาน การกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจตามกลุ่มสายงานและมาตรฐานตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยให้ข้าราชการตำรวจมีสายงาน 5 กลุ่มคือ

1. กลุ่มสายงานบริหาร

2. กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน

3. กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน

4. กลุ่มสายงานป้องกันปราบปราม

5. กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ

ทำให้ ตร.ต้องจัดสายงานข้าราชการตำรวจทั้งหมด 308,327 ตำแหน่ง ตามกลุ่มสายงาน โดยยึดหลักการจัดตำแหน่งเข้ากลุ่มสายงาน โดยมีการทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ยึดหลักกฎหมาย ตามลักษณะงานที่รับผิดชอบ เส้นทางเจริญเติบโต และสัดส่วนตำแหน่งในหน่วยงานเดียวกัน กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ ต้องเป็นงานจำเป็นที่ใช้ผู้มีคุณวุฒิเฉพาะ ปรับจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง และสายงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ใช้ได้ทันการแต่งตั้งโยกย้ายปี 2566

ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าเจ้ากรมปทุมวันมาก ว่ากันว่า นอกจากต้อง “บริหารตั๋ว” แล้วต้อง “บริหารคน” ด้วย