อภิญญ ตะวันออก : ในสวนดอกไม้ ในสวนวิทูและศิลปะโซเซียลลิสต์

เวลาที่แวะเวียนไปห้องสมุดเอกชนแห่งนั้น ฉันมักจะอยู่ในโหมดเร่งรีบ อ่านนู่นนี่นั่นแบบสแกนผ่าน แข่งกับเวลา แต่ก็เคยสังเกตว่าภายในห้องหนังสือแห่งนั้น มีภาพจิตรกรรมเวียดนามจำนวนมากแขวนอยู่ทั่วทุกมุมห้อง ประเคียงประคองไม่ไกลจากกองหนังสืออื่นๆ รวมทั้งหนังสือเขมร

เป็นความสัมพันธ์อัน “ขันขื่น” เหมือน “พี่น้องศัตรู” ที่รู้ๆ กันในประวัติศาสตร์ของ 2 ประเทศนั้น แต่ไม่เป็นปัญหาการเสพศิลปะและการอ่านของฉัน

สารภาพตามตรงเมื่อศึกษาเกี่ยวกับเขมรไประยะหนึ่ง ฉันก็พบว่าชาวอันนัมหรือเวียดนามสมัยอาณานิคมนั้น มีการพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถต่อรองอำนาจกับฝรั่งเศสทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเป็นลำดับ

ขณะที่พลเมืองเขมรมีโอกาสนั้นเช่นกัน แต่ก็เหมือนจะโชคร้ายที่ขบวนการปฏิวัติประชาชนหัวก้าวหน้าได้ถูกทำลาย พ่ายแพ้และกลายเป็นส่วนเกินที่สังคมไม่ต้องการครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อกลับไปมองสมัยสาธารณรัฐ-ลอนนอลที่โค่นล้มรัฐบาลราชานิยมสีหนุและระบอบกษัตริย์ตลอดกว่า 1 ทศวรรษ ขณะที่สาธารณรัฐซึ่งมีอายุสั้นกว่า 5 ปี ที่เป็นไปด้วยความยุ่งเหยิงทางการเมืองนั้น กลับพบว่า

ในแวดวงศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์และดนตรีของกัมพูชา กลับมีลักษณะแข่งขันเสรีที่ก้าวหน้า สวนกระแสกับสมัยประมุขแห่งรัฐสีหนุนิยมกว่าสังคมสีหนุนิยมที่ดำเนินมากว่า 10 ปี ทั้งที่ประสบพิษภัยจากสงครามกลางเมือง

ขณะที่ศิลปินเขมรกลับสร้างงานที่โดดเด่น กว่ายุคผู้นำสูงสุดนโรดม สีหนุ ผู้มีคุณสมบัติพิเศษที่ชนชั้นล่างไม่อาจจะเทียบได้ ในความเป็นเจ้านักปกครองผู้ทรงพระปรีชาชาญในศาสตร์ศิลปะทุกแขนง และกลายเป็นฮีโร่โมเดลแต่ผู้เดียวตลอดทศวรรษนั้น

แต่วิถีศิลปะสมัยใหม่ของประชาชนทั่วไปในสมัยสาธารณรัฐเขมร ก็สิ้นสุดและวินาศอย่างฉับพลันในสมัยเขมรแดงนั่นเอง

นับเป็นเหตุการณ์อันพลัดหลงที่ฉันพอจะจับได้ถึง “พลังศิลปะ” อันน่าพิศวง ของยุคที่หลุดพ้นจากการครอบงำทางการเมือง และนั่นเอง อำนาจของงานศิลป์

แต่ก็ไม่ถึงฟากฝั่งอันเฟื่องฟู

และนั่นเอง ที่ฉันอดจะเปรียบเทียบเวียดนามซึ่งถือระบอบพรรคคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับกัมพูชา แต่กลับฟูเฟื่องไปด้วยงานศิลปะและวรรณกรรม

อันเป็นงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน

 

สงครามและปฏิวัติ ปฏิวัติและสงครามหรือนั่น? ที่ทำให้ประเทศปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แห่งนี้ เต็มไปด้วยจิตรกรผู้สร้างศิลปะ มากมายที่น่าประทับใจ?

รุ่งโรจน์ และเป็นหนึ่งเดียวกันกับขบวนการปฏิวัติ ที่สร้างชาติของตนมาจนบัดนี้ ซึ่งฉันขอแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ 1)ยุคแรก : ปลดแอกอาณานิคมฝรั่งเศส 2)ยุคกลาง : คอมมิวนิสต์ปฏิวัติ/สงครามอเมริกา และ 3)ยุคปัจจุบันที่ผ่านมาแล้วราว 2 ทศวรรษ

โดยขอยกความสำคัญให้แก่ยุคกลาง ที่บรรดาจิตรกรเวียดนามทั้งเหนือ/ใต้ ต่างส่งผ่านพลังแห่งการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อขับเคลื่อนขบวนการปฏิวัติ จนยากจะเชื่อว่า นี่ยุคที่มนุษย์นำศิลปะมารับใช้มวลชนอย่างแท้จริง

ด้วยเนื้อที่มีน้อย จึงขอนำตัวอย่างของงานศิลป์ยุคบุกเบิกของเวียดนาม ที่มุ่งเน้นวิถีชนบทและธรรมชาตินิยม เช่นผลงานของนาม ซอน หรือ เหงียน วัน โธ (1890-1973) เทคนิคหมึกอินเดียและถ่านชาโคล จนพัฒนาเป็นภาพเขียนบนผ้าไหมเช่นผลงานของเหงียน ฟัน จัน (1892-1984) เหงียน ฟี ฮวน (1905-2001) ชาวใต้ผู้ต่อมามีบทบาททางวิชาการ เหงียน ดู กัง (1912-1977) ผู้สร้างงานแนวปฏิวัติอุตสาหกรรมที่รับอิทธิพลจากตะวันตก และ เหงียน ฮีม (1917-1976) ศิลปินชาวใต้ผู้สร้างงานแนว Socialist Republic

ขณะที่แนวคิดทฤษฎีสังคมนิยมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในศิลปิน เช่น ภาพวาดชาวนาและกรรมกร วิถีผู้คน การใช้สีหม่นแนวปฏิวัติชนที่เริ่มเห็นอย่างประปราย ทั้งเทคนิคบนผ้าไหม แล็คเกอร์และเทคนิคสีน้ำผสมกาว (Gouach) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่จิตรกรเวียดนาม

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่การเกิดขึ้นของวิทยาลัยวิจิตรศิลปะอินโดจีนแห่งฮานอย(*) สมัยอาณานิคม โดยวิทยาลัยแห่งนี้เองที่สร้างบุคลากรทั้งวิจิตรศิลป์ และประติมากรรมอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1945) เมื่อฮานอยถูกญี่ปุ่นโจมตีทางอากาศ และต่อมากลายเป็นปลดแอกเรียกร้องเอกราช จัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่เขตเวียดบัก ช่วงเวลานั้นเองที่จิตรกรยุคแรกของเวียดนามอย่างนัม ซอน และ ทู ง็อก วัน ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูสอนที่วิทยาลัยซึ่งย้ายไปตั้งอยู่นอกเขตฮานอยชั่วคราว

นับเป็นสถาบันศิลปะศึกษาที่เต็มไปด้วยตำนานและการอุทิศตนต่อสังคม ทั้งกลุ่มศิษย์และครูที่ต่างมีประสบการณ์ร่วมกับขบวนการปฏิวัติที่เวียดบัก ซึ่งเป็นเขตจัดตั้งขณะนั้น บางคนมุดใต้ดินไปด้วยทำงานร่ำเรียนและผลิตศิลปะเพื่อมวลชนไปด้วย

เป็นการใช้สี-พู่กันแทนอาวุธปืนเพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติ

ไม่เว้นแม้แต่เมื่อเกิดสงครามอเมริกากับฝ่ายใต้ มันคือประสบการณ์ร่วมศิลปินยุคกลางของเวียดนาม และทำให้พวกเขาต่างมีเบ้าหลอมทางอุดมการณ์เดียวกัน

และว่าเหตุใด พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงผลิตงานจิตรกรรมและออกแบบจำนวนมาก มิพักต้องกล่าวว่า งานศิลปะต่างหากที่ช่วยขับเคลื่อนการปฏิวัติ

 

จากรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 ยึดทั้งอุดมการณ์ ความอดอยากแร้นแค้นเช่นนั้น ที่จริงในยุคนี้ ในผลงานต่อๆ มา ถ้าจะลงรายละเอียดแล้วควรต้องแบ่งออกเป็นจิตรกรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เพื่อให้เห็นถึงลักษณะและเป้าหมายของการทำงานศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อมวลชน

ไม่แปลกเลย ที่ฮานอยจะมีถนนจิตรกร และผลงานศิลปะสาขาจิตรกรรมของประเทศนี้ มีความโดดเด่นโดยเฉพาะฮานอย และขณะที่โฮจิมินห์คือถิ่นที่ศิลปินยุคกลาง ต่างใช้เป็นสนามประลองขบวนการปลดแอกในสงครามฝ่ายใต้

แต่ในที่นี้ จิตรกรลูกหม้อฮานอย “บุ่ย ซวน ไฟ” (Bui Xuan Phai / 1920-1988) คือตัวอย่างจิตรกรคนดังยุคปฏิวัติที่เขียนภาพทิวทัศน์ฮานอยจนกลายเป็นอัตลักษณ์อันเฉพาะแบบคิวบิสต์ นอกจากนี้ เขายังเขียนนู้ดและพอร์ตเทร็ตชุดสตรีอีกนับไม่ถ้วน จริงๆ งานชุดแรกๆ ของเขาเกี่ยวข้องกับชนบทและความสดใสในสีโทนร้อนรวมทั้งฝูงม้า ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีโทนหม่นและทรงเหลี่ยมในงานชุด “เมืองฮานอย”

มีผู้สังเกตว่า บุ่ย ซวน ไฟ แม้จะไม่แสดงชัดต่อสกุลโซเซียลลิสต์ แต่เขาก็ไม่เคยสร้างงานที่แสดงถึงความสุขส่วนตัว

ตอน บุ่ย ซวน ไฟ เสียชีวิตนั้น แวดวงศิลปินเวียดนามทุกสาขา จิตรกรรม วรรณกรรม นักกวีนิพนธ์ และผู้คนในแวดวงศิลปะต่างพากันแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง ทั้งภาพเขียน ลำนำ และบทกวี ทั้งหมดบ่งบอกถึงวงการศิลปะเวียดนามที่อบอุ่นด้วยวิถีศิลปะฉายโชน จากศิลปินสายโซเซียลลิสต์ยุคที่หลงเหลืออยู่ใน ณ ที่แห่งหนึ่งของโลก

และงานของ บุ่ย ซวน ไฟ นี่เอง ที่ทำให้ฟอนไฟการเสพงานศิลป์ของฉันที่กำลังมอดดับ ได้กลับคืนมาอีกครั้ง

อย่างน้อย ก็พอจะเห็นว่า ศิลปินแนวโซเซียลลิสต์กลุ่มนี้มีตัวตน และช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเวียดนามเพิ่งจะเปิดประเทศไม่นาน

พวกเขาซึ่งอยู่กันอย่างแร้นแค้นในชนบท ถูกค้นหาและค้นพบจากนักสะสมงานศิลป์ต่างชาติ ที่พากันหาซื้อผลงานศิลปินยุคปฏิวัติยุคสุดท้ายกลุ่มนี้ ที่นับวันมีมูลค่าในตลาดนักสะสม…

“…ศิลปะเพื่อการปฏิวัติ…ศิลปะเพื่อมวลชน”

—————————————————————————————————————
(*) ก่อตั้ง ค.ศ.1925 โดย วิกตอร์ ตาร์ดิอู (Victor Tardieu) ผู้ชนะรางวัลภาพเขียนอินโดจีน และต่อมาโน้มน้าวให้ผู้สำเร็จราชการก่อตั้งวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อใช้เป็นที่ผลิตครูสอนศิลปะระดับมัธยมของประเทศ

หมายเหตุ : ขออภัยหากการออกเสียงชื่อเวียดนามจะไม่ถูกต้องตามภาษาถิ่น

1.ภาพสีน้ำมันชุดฮานอยและภาพเขียนตนเองโดย บุ่ย ซวน ไฟ
2.งานชุดปฏิวัติอุตสาหกรรมกาอนและหลัง 1946 โดย Nguyen Do Cung (ตามลำดับ)
3.ชุด Socialist Republic โดย Nguyen Hiem