Red Bull – อยู่วิทยา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกี่ยวกับดัชนีความมั่งคั่ง มหาเศรษฐีไทย มีบางกรณีที่แตกต่างออกไป

เป็นเรื่องราวตื่นเต้นพอประมาณ เมื่อเปิดโฉมหน้าล่าสุด มหาเศรษฐีไทยในทำเนียบ Thailand’s 50 Richest 2023 จัดเป็นประจำโดยสื่ออเมริกันมีชื่อ – Forbes (https://www.forbes.com/) ขณะรายชื่อต้นตารางของทำเนียบ ล้วนเป็นคนที่คาดกัน

โดยเฉพาะ ธนินท์ เจียรวานนท์ แห่งซีพี (อันดับ 1) และ เจริญ สิริวัฒนาภักดี แห่งกลุ่มทีซีซี (อันดับ 3) เป็นที่ยอมรับโดยดุษณีว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งพิเคราะห์อ้างอิงเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลอย่างมาก กับความเชื่อมโยงโดยตรงกับสถานการณ์และระบบสังคมธุรกิจไทย

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว อยู่ในอันดับ 2 อันที่จริงดัชนีความมั่งคั่งไล่เบียดสูสีกับอันดับ 1 ด้วยมีสินทรัพย์มูลค่าถึง 33.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขณะอันดับ 1 มี 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ทิ้งห่างอันดับ 3 ค่อนข้างมาก (อันดับ 3 มี 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในภาพรวมจากข้อมูลชุดเดียวกัน

สะท้อนการเติบโตดัชนีความมั่งคั่ง ดูแล้ว เฉลิม อยู่วิทยา มีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดช่วงทศวรรษมานี้ (2557-2566) จากระดับ 9.9 พันล้านดอลลาร์ พุ่งมาถึงกว่า 3 เท่า โดยเปรียบเทียบกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ มีอัตราเพิ่มขึ้นไม่มากเท่า เทียบเคียงกับจุดตั้งต้น (ปี 2558 มี 18.5 พันล้านดอลลาร์)

 

อันที่จริงเรื่องราว เฉลิม อยู่วิทยา เป็นตอนต่อเนื่องจาก เฉลียว อยู่วิทยา ผู้เป็นบิดา ผู้บุกเบิกสร้างฐาน และอาณาจักรธุรกิจไว้อย่างมั่นคงแล้ว

เฉลียว อยู่วิทยา (2466-2555) เรื่องราวดูค่อนข้างธรรมดา ไต่เต้าภายใต้ยุคผู้ครอบครองอย่างหนาแน่น จากนักขายยาบริษัทต่างชาติ สู่การสร้างกิจการตนเอง

จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการผลิตสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง เข้าสู่ตลาดฐานกว้างแบรนด์ “กระทิงแดง” (ปี 2517) ในยุคสงครามเวียดนาม ท่ามกลางแรงกระตุ้นให้ผู้คนฐานกว้างบริโภคสินค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะสินค้าจากญี่ปุ่น

ยุคเดียวกับการขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดของสินค้าคอนซูเมอร์โดยกลุ่มสหพัฒน์ ขณะมองเห็นโอกาสใหม่จากกรณีโอสถสภา เปิดตัวแบรนด์ “ลิโพวิตัน-ดี (LIPOVITAN-D)” จากญี่ปุ่น (ปี 2508)

แม้มาทีหลังแต่ด้วยแผนการเชิงรุกลงสู่ตลาดฐานกว้างกว่า ครอบคลุมถึงชนบท

“ใช้กลยุทธ์แบบถึงลูกถึงคน…ทั้งลด แลก แจก แถม มีกิจกรรมรับแลกฝา…ถือว่าเป็นผู้ประกอบการรายแรกของประเทศไทย ที่คิดและทำกิจกรรมในรูปแบบนี้ รวมทั้งมีการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ จนทำให้กระทิงแดงเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว” เรื่องราวซึ่ง “กระทิงแดง” นำเสนอไว้เอง

ว่ากันว่า “กระทิงแดง” ใช้เวลาไม่นาน สามารถเอาชนะ “ลิโพวิตัน-ดี” ได้ในตอนนั้น

ปรากฏการณ์ “กระทิงแดง” เป็นบทเรียนด้านกลับให้โอสถาสภา

หนึ่ง-ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเติบโตและกว้างกว่าที่คิด

สอง-การบุกเบิก “แบรนด์ไทย” เป็นไปได้

 

เรื่องราว เฉลียว อยู่วิทยา กับความร่ำรวยอย่างเงียบๆ เป็นจริงเป็นจังขึ้น เมื่อเข้าถือหุ้นธนาคารกสิกรไทย ว่ากันว่าตามกระแสผู้ร่ำรวยไทยในขณะนั้น มองธนาคารเป็นเป้าหมายอันสูงส่ง จนเขาได้เข้ามากรรมการธนาคารกสิกรไทย อยู่ในตำแหน่งกรรมการมายาวนาน

จนเมื่อธนาคารปรับตัวครั้งใหญ่ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เฉลียว อยู่วิทยา ได้พ้นตำแหน่งไป

ทว่า จากนั้นอีกไม่นาน (ปี 2555) บุตรชายอีกคนหนึ่ง-สราวุฒิ อยู่วิทยา เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทยอีกครั้ง จนทุกวันนี้ เป็นกรรมการคนหนึ่งในชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งนานพอควร

ตอนนั้นแม้ว่าประเมินกันว่า เฉลียว อยู่วิทยา ร่ำรวยอย่างเงียบๆ แต่ก็คงไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะสามารถทัดเทียมกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี

 

ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา Forbes บรรจุชื่อ เฉลียว อยู่วิทยา เข้าอยู่ในกลุ่มผู้ร่ำรวยระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ (World’s Billionaires) ในอันดับสูงที่สุดของคนไทย บ่อยครั้งอยู่ในอันดับหนึ่ง

เป็นที่น่าสงสัยในสังคมธุรกิจไทยพอสมควร คำอธิบายของ Forbes อย่างสั้นๆ ระบุว่า เฉลียว อยู่วิทยา เป็นผู้ร่วมทุนคนสำคัญในกิจการเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งขายดีในตลาดโลก

นั่นคือ Red Bull เครื่องดื่มชูกำลังโด่งดังในตลาดโลก ข้อมูลควรอ้างอิง (www.redbull.com- websiteทางการของ Red Bull) ระบุไว้อย่างจริงจังว่า Dietrich Mateschitz เป็นผู้ก่อตั้ง และสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องดื่มชูกำลัง (functional drinks) จากเอเชียตะวันออก เปิดตัวเปิดตลาดครั้งแรกในประเทศออสเตรีย เมื่อ 1 เมษายน 2530 “For nearly three years, from 1984 to 1987, Dietrich Mateschitz worked on the formula for Red Bull, the positioning of the brand, the packaging and the marketing concept.” ข้อความส่วนหนึ่งซึ่งตั้งใจเน้นไว้

เรื่องราว Dietrich Mateschitz มีสีสัน เป็นตำนานหนึ่งของนักธุรกิจยุโรปก็ว่าได้ ในฐานะผู้สร้างความร่ำรวยโดยใช้เวลาอันสั้นเพียง 2 ทศวรรษก้าวขึ้นเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศออสเตรีย เพียงเพราะสามารถขยายตลาด Red Bull ไปทั่วโลก

 

ผมเองเคยเล่าย้อนตำนานสายสัมพันธ์ระหว่าง Dietrich Mateschitz เป็นชาวออสเตรียเชื้อสายโครเอเชีย กับ เฉลียว อยู่วิทยา ไว้ ว่าเริ่มตั้งแต่ในฐานะเป็นนักขาย (Sale man) ให้กับบริษัทต่างชาติเช่นเดียวกัน โดยโคจรมาพบกันที่เมืองไทย

Dietrich Mateschitz มีโอกาสรู้จักเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” ซึ่งกำลังเติบโตในตลาดไทย จึงเกิดความคิดเปิดตลาดใหม่ในยุโรป ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดทั้งรสชาติและแบรนด์ จึงเป็นที่มาของ Red Bull

ดังนั้น ที่ว่าเขาเป็นผู้สร้าง Red Bull จึงรับฟังได้

จนมาถึงการก่อตั้งกิจการร่วมทุน – Red Bull GmbH ขึ้นในออสเตรีย (ปี 2527) ถือหุ้นในสัดส่วนเท่าๆ กัน 49% โดยมี เฉลิม อยู่วิทยา บุตรคนโตของเฉลียว ถือหุ้นส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ Dietrich Mateschitz เป็นผู้บริหารกิจการ

จากนั้นไม่นานเรื่องราวความสามารถนักการตลาดคนหนึ่งของโลกได้รับการยกย่องไปทั่ว ด้วยการสร้างสินค้าใหม่ เข้าสู่ตลาดใหม่ และสร้างอย่างมหัศจรรย์

ภาพโฟกัสเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว (ปี 2553) Red Bull สินค้าอันดับหนึ่งของตลาดสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง เติบโตอย่างมากในโลกตะวันตก ครอบคลุมตลาดประมาณ 100 ประเทศโดยครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70% มียอดขายมากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ

“ในปี 2010 Red Bull มียอดขาย 4,204 ล้านกระป๋อง และบริษัทมียอดขาย 3.7854 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.8%” ผมเองเคยเสนอไว้ในช่วงนั้น โดยอ้างข้อมูลต้นแหล่ง (www.redbull.com)

ช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น ทั้ง เฉลียว อยู่วิทยา กับ Dietrich Mateschitz เข้าไปอยู่ในลิสต์ผู้ร่ำรวยระดับโลก ทำเนียบ World’s Billionaires พร้อมๆ กันเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งสองมักมีสินทรัพย์พอๆ กัน และอยู่ในอันดับเดียวกัน ตลอดช่วงเกือบทศวรรษ

ขณะล่าสุด (ข้อมูลสิ้นปี 2565) Red bull เปิดข้อมูลยอดจำหน่ายทั่วโลก มีมากถึง 11,582 พันล้านกระป๋อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 23.9% จากมูลค่า 7.816 พันล้านยูโร (2564) เป็น 9.684 พันล้านยูโร (อ้างจาก www.redbull.com เช่นกัน) แสดงให้เห็นว่า Red Bull เติบโตต่อเนื่อง แม้ผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งจากโลกไปแล้ว เฉลียว อยู่วิทยา ถึงแก่กรรมไปก่อนในปี 2555

ส่วน Dietrich Mateschitz เพิ่งจากโลกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยวัย 78 ปี

ในช่วงคาบเกี่ยวนั้น มรดกความมั่งคั่งของนักธุรกิจไทยได้ส่งต่อมายังทายาท •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com