อนุรักษนิยม : วิกฤตอนุรักษนิยม วิกฤตเสรีประชาธิปไตย (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

อนุรักษนิยม : วิกฤตอนุรักษนิยม

วิกฤตเสรีประชาธิปไตย (จบ)

 

โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบพรรคอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักในเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริการะยะใกล้นี้

ศาสตราจารย์ โธมัส บีบริคแฮร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์ ได้สรุปชี้วิกฤต 2 ประการของพรรคเหล่านี้ไว้ในหนังสือ Mitte/Rechts : Die internationale Krise des Konservatismus (2023, กลาง/ขวา : วิกฤตสากลของอนุรักษนิยม) ว่าได้แก่ :

1) ข้อสังเกตโดยรวมบ่งชี้ว่าพรรคอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักในตะวันตกทั้งหลายกำลังหดตัวลงทั้งในแง่สมาชิกภาพและคะแนนเสียงสนับสนุน และ/หรือสะวิงไปทางขวาจัดถึงรากถึงโคนยิ่งขึ้นเสียเอง

กล่าวคือ ปรับเปลี่ยนจากท่าทีจากอนุรักษนิยมสายกลางไปสู่ –> อำนาจนิยม (moderate conservatism –> authoritarianism) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งค่อยเบียดขับลดทอนความเป็นเสรีประชาธิปไตยของตัวเองและระบบการเมืองลง

2) ในบางประเทศโดยเฉพาะกรณีเยอรมนี เกิดสภาพที่พรรคอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักหันไป เน้นขั้ววิธีดำเนินการ (procedural pole) และลดค่าละเลยขั้วแก่นสารสาระ (substantive pole) ของอนุรักษนิยม จนอาจเรียกได้ว่าเกิดกระบวนการ proceduralization of conservatism หรืออนุรักษนิยมหดลดเหลือแค่วิธีดำเนินการไปเสีย

ความหมายรูปธรรมของมันคือในระยะหลังนี้พรรคอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักมักเสนอคำมั่นสัญญาแก่ผู้เลือกตั้งเพื่อแลกคะแนนเสียงมาในทำนองว่า :

“เราเป็นนักแก้ปัญหาแบบปฏิบัตินิยมตัวยง เรารู้ว่าจะปกครองให้ดีอย่างไร และเราจะประกันให้มั่นใจว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายย่ำแย่ลงถึงที่สุด เราจะขับเคลื่อนประเทศนำพาพวกท่านผ่านวิกฤตต่างๆ ในยุคของเรา เพราะถึงไงมันก็ทำอย่างอื่นไม่ได้อยู่แล้ว ด้วยว่าเราอยู่ในยุคของความไม่แน่นอน อภิมหาโกลาหลและปั่นป่วนวุ่นวาย ทั้งหมดเท่าที่ทำได้คือพยายามเลี่ยงภาวะเลวร้ายที่สุดและบริหารจัดการวิกฤตให้คลี่คลายไปนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้เก่งทำได้ดี”

ผู้นำการเมืองอนุรักษนิยมตะวันตกในภาวะตกต่ำเสื่อมถอย

การโฆษณาที่เน้นด้านวิธีดำเนินการโดดๆ เช่นนี้ส่งผลให้ไม่เหลือองค์ประกอบด้านแก่นสารสาระในอนุรักษนิยมว่าตกลงจะอนุรักษ์อะไรด้านไหนอย่างไร พรรคอนุรักษนิยมสายกลางกลายเป็นไม่มีภาพลักษณ์ ภาพรวม (profile) เที่ยงแท้แน่นอนอะไรอย่างที่เคยมี ไขว่คว้าหามาทำยายาก

มิหนำซ้ำบางทีพรรคอนุรักษนิยมก็บริหารจัดการวิกฤตไม่ได้เก่งไม่ได้ดีอย่างที่คุยเขื่องสักเท่าไหร่ รัฐบาลอนุรักษนิยมแปดเปื้อนข่าวคราวฉาวโฉ่มากมาย แม้แต่คำมั่นสัญญาด้านวิธีดำเนินการที่ให้ไว้ก็เป็นแค่ลมปากกลวงเปล่าเข้าไปทุกที

วิกฤตของอนุรักษนิยมดังกล่าวเป็นปัญหาน่าห่วงแม้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักอนุรักษนิยมในบรรดาประเทศระบอบเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย เนื่องจากในยุโรปตะวันตกและอเมริกา ไม่มีอำนาจนำของฝ่ายซ้ายเขียวอยู่ (Green Left Hegemony)

กล่าวได้ว่าโดยภาพรวม ฝ่ายซ้ายในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างอ่อนแอเชิง โครงสร้างมาเป็นเวลานานตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แม้ว่ามันจะไม่จำต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไปก็ตาม

ความอ่อนแอโดยสัมพัทธ์ของฝ่ายซ้ายเขียวทางการเมือง ทำให้ในทางประวัติศาสตร์ ฝ่ายขวากลางยึดครองฐานะสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์ของระบบการเมืองตะวันตกมาโดยตลอด เป็นผู้กุมบังเหียนและเกียร์ไว้ในมือว่าสังคมจะปรับแต่งตีความรองรับตอบกลับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองอย่างไร

แน่นอนว่าไม่ใช่ฝ่ายขวากลางจะจัดการรับมือได้ดีเยี่ยมเสมอ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และสงวนความเห็นมากมาย แต่อย่างน้อยก็พอกล่าวได้ว่ามีความพยายามจัดการรับมือสังคมที่เปลี่ยนไปในทางค่อนข้างสร้างเสริมระดับหนึ่ง

 

ทว่าปัจจุบัน ประดาปัญหาความเปลี่ยนแปลงกำลังประดังเข้าสู่สังคมการเมืองต่อเนื่องมากมาย ไม่ว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายของเพศสภาพ การหลอมรวม/กีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติ/ผู้อพยพ เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ โรคระบาดใหญ่ สังคมสูงวัย ฯลฯ อันย่อมตกเป็นภาระของพรรคปกครองที่จะต้องจัดการรับมือ

มาบัดนี้เมื่อพรรคฝ่ายขวากลางเจ้าเก่าตัวหลักง่อยเปลี้ยเสียหายย้ายที่ตั้งไปแล้ว พลังงานทางการเมืองของสังคมที่หมุนเวียนอยู่ตรงจุดขวากลางจะถูกชี้นำชักพาไปสู่การจัดการรับมือปัญหากดดันเร่งด่วนดังกล่าวเหล่านี้แบบสร้างเสริมหรือไม่อย่างไร? และโดยใคร?

ซ้ำร้าย บางพรรคขวากลางก็เลือกจัดการรับมือปัญหาเหล่านี้ในเชิงลบและทำลายเสียเอง โดยจัดวางตัวเป็นฝ่ายค้านขั้นรากฐาน เล่นแร่แปรธาตุประเด็นปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นอาวุธเพื่อใช้โจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมืองในสงครามวัฒนธรรม (culturalization of politics) เช่น ปัญหาการทำแท้ง ปัญหาเพศสภาพ ปัญหาหลักสูตรเนื้อหาตำราเรียน ปัญหาโลกร้อน ฯลฯ

สรุปคือ แปลงมันจากเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริงและนโยบายกับมาตรการดูแลแก้ไขเชิงปฏิบัติให้กลายเป็น “ยี่ห้ออัตลักษณ์” (identity markers) เพื่อตีตราประทับกลุ่มผู้เห็นต่างให้มี “ภาพลักษณ์ศัตรู” (ememy images) ตายตัว แล้วปลุกระดมมวลชนขึ้นมาร่วมคัดค้านและโหวตให้ “พวกเรา”

 

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความที่ฝ่ายขวากลางหรือพรรคอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลักเคยจับจองพื้นที่ใจกลางของระเบียบการเมือง พวกเขาจึงสามารถเล่นบทเป็น “ยามเฝ้าประตู” (gatekeepers) ของระบบไปด้วย กล่าวคือ คอยสอดส่องคัดสรรว่าจุดยืนท่าทีอย่างไหน โวหารแบบใด

ถึงมันจะเอียงขวาและอนุรักษนิยม แต่ก็ยังจัดว่ามีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับได้ของระบบ

หน้าที่ความรับผิดชอบ “ยามเฝ้าประตู” ดังกล่าวนี้ฝ่ายขวากลางมิใช่ว่าจะทำได้ดีเสมอไป มีเอนเอียง ย่อหย่อนบ้าง แต่ที่แย่มากในปัจจุบันคือพอฝ่ายขวากลางอ่อนแอลงหรือเอียงไปขวาจัด ก็เกิดภาวะสุญญากาศ ประตูโหวงว่างเปิดกว้าง ไม่มียามเฝ้าประตู

สภาพการณ์จึงเหมือนป่าช้าแตก ผีปีศาจสุดโต่งสารพัดทางการเมืองก็พากันผุดจากนรกโลกันต์เข้าทะลวงประตูและยึดครองมันไว้แทน แล้วออกมาหลอกหลอนไล่ล่าผู้คนในระบบเป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวัน

ความตกต่ำทรุดฮวบลงของพรรคอนุรักษนิยมเจ้าเก่าขาประจำ และการปรากฏตัวขึ้นของตัวแสดงกลุ่มพลังและพรรคฝ่ายขวาประหลาดพิลึกพิเรนทร์ต่างๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่เพิ่งผ่านมา ดูจะสะท้อนกังวานของข้อวิเคราะห์ข้างต้นได้อย่างน่าครุ่นคิดทีเดียว