เอฟเฟ็กต์ ‘ดีลตรง’ ‘บิ๊กตู่’ วางมือ งัดแผน 2 นำโอลด์ โซลเยอร์ สู้ กับมิสชั่นสุดท้าย คัดขุนพลร่วมทัพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกที่จะประกาศวางมือทางการเมือง ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีแค่ 2 วัน เพื่อตัดการเชื่อมโยง ว่ายังหวังจะเป็นนายกรัฐมนตรี หากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกฯ

เพราะก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ประกาศแล้วว่า พรรค รทสช.จะไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และตัวนายพีระพันธุ์เองเป็นนายกฯ และจะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

แต่ดูเหมือน จะถูกสงสัยว่าเป็นแผนซ่อนเงื่อนใดหรือไม่ จึงไม่มีใครเชื่อ จนที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศวางมือทางการเมือง 11 กรกฎาคม 2566

หลังจากที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ไม่โหวตให้นายวิทยา แก้วภราดัย จากพรรค รทสช. เป็นรองประธานสภา ก่อนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค จะยืนยันว่า ไม่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย

กระนั้น การประกาศวางมือของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับทำให้ถูกจับตามองว่ามีเงื่อนงำ มีแผนซับซ้อน แม้แต่การกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก เมื่อเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ที่อาจถึงขั้นจลาจล จากการที่นายพิธาถูกสกัดไม่ให้เป็นนายกฯ

 

อย่างไรก็ตาม หลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวางมือ 11 กรกฎาคม 2566 วันรุ่งขึ้น ก็มีการขยับในการเตรียมรับการกลับไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยประกาศมาตลอดว่าจะกลับมาตุภูมิภายเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนจะมีข่าวว่า จะเลื่อนออกไปอีกเล็กน้อย

แต่ทั้งหมดนี้ ถูกต่อจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันทันทีโดยมีกระแสข่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก “ดีลพิเศษ” ที่เรียกกันว่า เป็น “ดีลตรง” ที่นายทักษิณประสานกับตัวแทนผู้มีอำนาจตัวจริงโดยตรง ในการจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งการกลับประเทศ และคดีความต่างๆ

โดยไม่จำเป็นต้องดีลกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ 3 ป. หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เช่นที่เคยมีในห้วงก่อนการเลือกตั้ง

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่า นายทักษิณจะไม่ยอมให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ เพราะไม่จำเป็นต้องง้อ หรืออาศัย พล.อ.ประวิตรในการกลับประเทศ และเรื่องคดี เพราะดีลตรงนี้สามารถดูแลให้ได้หมด รวมทั้งการถอดสลักรัฐประหาร และการทลายกำแพง ส.ว. เพราะผู้มีอำนาจที่ดีลด้วยนั้น ก็มี ส.ว.อยู่ในสังกัด ที่พร้อมจะโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

โดยมีข้อแม้ที่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล แลกกับการที่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเอา 2 ลุง “ป้อม-ประยุทธ์” ร่วมรัฐบาล และไม่เอาพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร และพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมรัฐบาล

หรืออาจเอาแต่ ส.ส.ของ 2 พรรคลุงมาร่วมรัฐบาล แต่ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไม่อยู่ในพรรค

จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศวางมือทางการเมืองและลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ,พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้

แต่สำหรับ พล.อ.ประวิตรนั้น ยังไม่ยอมแพ้ ยังมีกระแสข่าวว่าคงเจรจาในการต่อรองกับนายทักษิณ เรื่องการร่วมรัฐบาล

เหตุผลหนึ่งที่นายทักษิณต้องดีลตรง ก็เพื่อคานอำนาจของ พล.อ.ประวิตร เพราะขั้วที่จะคานอำนาจได้ก็มีแต่ขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง แต่งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ผู้เจรจาด้วยตนเอง

ท่ามกลางกระแสข่าวการต่อรอง ที่ฝ่ายขั้วอำนาจเก่าจะดูแลความปลอดภัย และการให้ความเป็นธรรมในเรื่องคดี

แต่นายทักษิณจะต้องร่วมมือในการที่จะปกป้องสถาบันและต่อสู้กับพรรคก้าวไกล โดยให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำในการสู้ศึกการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ห่วงกันว่าพรรคก้าวไกลจะชนะแบบขาดลอย และการระวังหลัง และไม่เช็กบิล พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

ดังนั้น ฝ่ายอดีตนายกฯ จึงมีอำนาจในการต่อรองสูง ที่จะไม่เอา 2 ลุงร่วมรัฐบาล เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้เสียคะแนนนิยม และอาจทำให้แพ้การเลือกตั้งในครั้งหน้า

แม้ฝ่ายอนุรักษนิยมมีแผนที่จะตั้งพรรคของคนรุ่นใหม่สไตล์พรรคก้าวไกล ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่แตะต้องสถาบันก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยพรรคเพิ่อไทยเป็นทัพหน้าในการต่อสู้ไปก่อน

แม้กองเชียร์และทีมบ้านป่ารอยต่อฯ จะยังคงมีความหวังที่ พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ก็ดูแผ่วลง เพราะนอกจากตัวอดีตนายกฯ แล้ว บรรดาลูกสาวก็ไม่ยินยอมที่จะยกเก้าอี้นายกฯ ให้ ไม่ว่าลุงคนไหนก็ตาม

มีข้อมูลบางประการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ เพราะห่วงคนรอบข้างจะทำให้เสียหาย อีกทั้งคนรอบตัว พล.อ.ประวิตร ก็มักจะมีความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน และยังห่วงเรื่องสุขภาพของ พล.อ.ประวิตร หากต้องรับบทหนักเป็นนายกรัฐมนตรี

จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มักจะแอบถามความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร จากคนใกล้ชิดพี่ใหญ่อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะต้องการเช็กว่า พล.อ.ประวิตรจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ที่สะท้อนว่า 2 พี่น้องไม่คุยกันในเรื่องการเมือง และเดินกันคนละเกม

แม้จะประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงทำหน้าที่นายกฯ และ รมว.กลาโหมรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

โดยมีรายงานว่าเมื่อมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่แล้ว ให้จับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับตำแหน่งสำคัญที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ในฐานะที่เป็นทหารเสือราชินี เป็นทหารรักษาพระองค์มาตลอดชีวิต และอาจจะได้เดินตามรอยเท้าป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษบุรุษ รวมทั้งบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

โดยมีทหารเก่าทหารแก่หลายนายที่ได้รับหน้าที่สำคัญก่อนหน้านี้ แล้วร่วมทีมในภารกิจปกป้องสถาบัน ในอีกบทบาทหนึ่ง

แต่ก่อนที่จะพ้นเก้าอี้นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีมิสชั่นสุดท้าย ที่สำคัญต่อสถานการณ์บ้านเมือง ที่ต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ คือ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ ที่จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับประเทศ รวมถึงสถาบันหลักของชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดปัจจุบัน ที่จะมีอายุราชการถึง 30 กันยายน 2566 นี้ ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วว่า ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ โดยเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด ฟังจากความคิดวิสัยทัศน์ โปรไฟล์ ผลงาน ความรู้ความสามารถ และสำคัญที่สุดคือเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง

โดยคาดกันว่า บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี (ตท.24) รอง ผบ.ทหารสูงสุด จะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดง คนที่ 2 ต่อจากบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เพราะได้ถูกวางตัวมาเป็นระยะๆ โดยจะเกษียณราชการ 2568

ขณะที่คาดว่า บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) รอง ผบ.ทบ. จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจากบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ที่จะเป็นน้องรักที่ พล.อ.ประยุทธ์ฝากความหวัง และฝากชาติบ้านเมือง และการปกป้องสถาบันไว้ เพราะถือเป็นน้องรักก้นกุฏิที่อยู่ด้วยกันมาใน ร.21 รอ.

และเป็นน้องรักคนแรกที่ผลักดันให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ได้สำเร็จ

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

ขณะที่กองทัพเรือ คาดกันว่า บิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดศุข (ตท.25) ผช.ผบ.ทร ที่อาวุโสสูงสุด ที่เดินทางมาในสายประดู่เหล็ก เป็นเต็งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจมองข้ามความพยายามและการเดินเกมของรุ่นพี่ ตท.23 ทั้ง 2 คน ทั้ง เสธ.โอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ และบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ

แต่เป็นที่ตั้งข้อสังเกตกันในกองทัพเรือว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมี เสธ.ทร. ที่ขึ้นตรงเป็น ผบ.ทร.เลย แต่จะต้องขยับเป็น ผช.ผบ.ทร.ก่อน จึงจะได้เป็น ผบ.ทร. ขณะที่ก็ยังไม่เคยมี ผบ.กร. ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ได้ตรงเลย ในรอบ 30 ปี

แต่หาก พล.ร.อ.สุวิน ได้เป็น ผบ.ทร. ก็จะถือว่า เป็น ผบ.ทร.ที่เติบโตมาจากสายคอมแมนด์ สายกำลังรบ คนแรกในรอบ 20 ปีเลย เพราะเป็นผู้บังคับการเรือหลวงมาหลายลำ มากว่า 20 ปี ก่อนเป็น ผช.ทูต ทร.ประจำสหรัฐ และ ผบ.กองเรือลำน้ำ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ จนขึ้นเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ ที่ถือว่าคุมกำลังรบทางเรือ เพราะที่ผ่านมา ผบ.ทร.มักมาจากฝ่ายอำนวยการ

เพราะหาก พล.ร.อ.ชลธิศ เป็น ผบ.ทร. ก็จะถือว่าเป็นสายบุ๋น ที่เติบโตมาจากฝ่ายอำนวยการ มากกว่าการอยู่เรือ และหน่วยกำลังรบ

พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ

ส่วน ทอ. ชื่อเต็งหนึ่ง ยังคงเป็นบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ (ตท.23) เสนาธิการทหารอากาศ ตามความเชื่อของคนใน ทอ.ที่ว่า บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. มีสัญญาใจกับอดีต ผบ.ทอ.ถึง 2 คนคือ บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ และ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ รุ่นพี่ผู้มีพระคุณ เพราะมีการเตรียมร่างนโยบาย แผนในการทำงาน หากได้เป็น ผบ.ทอ.กันแล้ว

แต่ให้จับตามองสถานการณ์ อาจทำให้มีการพลิกโผ เพราะ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ก็ออกจะชื่นชมบิ๊กจ๋า พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร (ตท.23) ผช.ผบ.ทอ. และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล (ตท.24) ผช.ผบ.ทอ. เพราะทั้งหมดอายุราชการเหลือปีเดียว แต่มี พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ที่เกษียณ 2568

ที่สำคัญผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ที่จะรับตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 จะถือว่าเข้ามารับช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เข้มข้น และท้าทายความเป็นทหารอาชีพ ที่จะไม่แทรกแซงทางการเมืองอย่างยิ่ง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้หายไปไหน แค่หลบฉาก ขยับไปทำหน้าที่ในอีกเลเวลหนึ่ง ที่ยังคงเป็นทหารเก่า ทหารแก่ จะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติในอีกบทบาทหนึ่งเท่านั้นเอง

แม้จะวางมือ แต่ก็ไม่มีใครวางใจ