เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ “ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะ” “ผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล”

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุด Oppenheimer อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าชายผู้นี้มีดีอะไรถึงได้ทำให้ผู้กำกับฯ ฝีมือพระกาฬอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน เลือกใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อภาพยนตร์ที่ลงทุนระดับ 100 ล้านดอลลาร์

ลองมาอ่านประวัติจริงจะได้เข้าใจ และหากได้ชมภาพยนตร์ ก็จะได้เห็นการนำเสนอและการตีความที่อาจแตกต่างออกไป ซึ่งน่าจะทำให้อยากรู้จักเขามากขึ้นอีกก็เป็นไปได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีข่าวว่านาซีเยอรมันกำลังพยายามสร้างอาวุธอานุภาพร้ายแรงนั่นคือ ‘ระเบิดอะตอม’ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ระเบิดปรมาณู’ ซึ่งหากสำเร็จฝ่ายอักษะก็คงชนะสงครามเป็นแน่แท้

อเมริกาจึงเร่งสร้างระเบิดอะตอมและตั้งเป้าหมายว่าต้องเสร็จก่อน โดยระดมบรรดานักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิมาทำงานร่วมกันในอภิมหาโครงการชื่อ โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งดำเนินการในเทศมณฑลลอส อะลามอส รัฐนิวเม็กซิโก

ในช่วงพีกสุดของโครงการมีการจ้างคนมากถึง 129,000 คน

เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
ที่มา : https://ahf.nuclearmuseum.org/ahf/profile/j-robert-oppenheimer/

เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J Robert Oppenheimer) ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการนี้

โครงการแมนฮัตตันมีแต่คนเก่งๆ ถ้าเป็นนักฟิสิกส์ก็ระดับสุดยอดของโลก อย่างเช่น ไอน์สไตน์, นีลส์ โบร์, ริชาร์ด ฟายน์แมน ฯลฯ จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าออปเพนไฮเมอร์จะนำทีมสำเร็จหรือไม่ เพราะเขามีอายุเพียง 38 ปี แถมไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลเหมือนกับนักฟิสิกส์หลายคนในทีม

ผู้ที่เลือกเขามาเป็นผู้นำโครงการคือ นายพลเลสลี โกรฟส์ (General Leslie Groves) ซึ่งเมื่อได้คุยกับออปเพนไฮเมอร์แล้วก็รู้สึกประทับใจในหลายเรื่อง ทั้งความเข้าใจอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับการออกแบบและการสร้างระเบิดอะตอม ความรอบรู้ต่างๆ ไม่เฉพาะฟิสิกส์ แต่เขารู้ทั้งเคมี โลหะวิทยา อาวุธยุทโธปกรณ์ และวิศวกรรม

แต่แง่มุมที่นายพลโกรฟส์สัมผัสได้ในตัวออปเพนไฮเมอร์คือ “ความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอันเปี่ยมล้น” ซึ่งท่านนายพลเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของโครงการแมนฮัตตัน

 

เมื่อได้ลงมือทำงาน ก็เป็นที่เลื่องลือว่าออปเพนไฮเมอร์จับประเด็นเก่ง เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ เขายังชอบเดินไปตามจุดต่างๆ ในโครงการ เพื่อรับฟังและให้ข้อเสนอแนะอย่างเยี่ยมยอด คล้ายๆ กับที่มีคนเคยบอกว่า ผู้บริหารที่ดีต้องเดินเยอะๆ คือลงไปดูหน้างานให้เห็นสภาพจริง ไม่ได้แค่นั่งรับรายงานที่โต๊ะ และเมื่อผนวกกับเสน่ห์ส่วนตัว ก็ยังทำให้สามารถโน้มน้าวผู้อื่นได้ดีอีกด้วย

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 มีการทดสอบระเบิดอะตอมครั้งแรกที่ทรินิตี้ไซต์ (Trinity Site) ในรัฐนิวเม็กซิโก เมื่อเวลา 5 นาฬิกา 29 นาที 45 วินาที แสงสว่างที่เกิดขึ้นเจิดจ้าอย่างยิ่งทำให้บริเวณโดยรอบสว่างกว่าเวลากลางวัน

ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เป็น “บิดาแห่งระเบิดอะตอม” (ไม่ใช่ไอน์สไตน์อย่างที่มักเข้าใจผิดกัน)

ต่อมาเขาเล่าว่าในขณะที่เขาเห็นผลการทดสอบระเบิดมหาประลัยนี้ เขารำลึกถึงถ้อยคำในคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งเขาอ่านจากต้นฉบับในภาษาสันสกฤต แต่ถอดความหมายออกมาเป็นคำพูดอันโด่งดังของเขาเองในภาษาอังกฤษว่า (สังเกตว่าประโยคไม่ถูกเป๊ะตามหลักไวยากรณ์)

“I am become Death, the Destroyer of Worlds.”

ถอดความได้ว่า

“ข้าฯ กลายเป็นทูตมรณะผู้หยิบยื่นความตาย เป็นผู้ทำลายโลกพิภพทั้งมวล”

 

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 ระเบิด Little Boy ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา สร้างความเสียหายเหลือคณานับและคร่าชีวิตผู้คนโดยตรงราว 7 หมื่นคน

มีบันทึกระบุว่า เย็นวันนั้นออปเพนไฮเมอร์ขึ้นเวที กำมือเข้าด้วยกัน “ราวกับเป็นนักมวยที่ได้รับรางวัล” ในขณะที่คนรอบๆ โห่ร้องเชียร์ เขากล่าวว่าน่าเสียดายที่พัฒนาอาวุธนี้ไม่ทันใช้กับนาซีเยอรมัน (ซึ่งยอมแพ้ไปก่อนญี่ปุ่น)

แต่เมื่อระเบิด Fat Man ถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิในอีก 3 วันต่อมา คือ วันที่ 9 สิงหาคม เขาและทีมงานจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากคิดว่าไม่มีความจำเป็นทางการทหารใดๆ ที่ต้องใช้ระเบิดลูกที่สองนี้

ออปเพนไฮเมอร์จึงเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 17 สิงหาคม เพื่อยื่นจดหมายด้วยมือตนเองต่อรัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม โดยแสดงความรังเกียจต่อปฏิบัติการดังกล่าวและแสดงความปรารถนาที่จะเห็นการห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (กระทรวงการสงครามนี้ต่อมายกเลิกเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1947)

พอถึงเดือนตุลาคม ค.ศ.1945 ออปเพนไฮเมอร์ก็มีโอกาสได้เข้าพบประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน การพบกันนี้จบไม่สวยหลังจากที่ออปเพนไฮเมอร์พูดว่า เขารู้สึกว่า “มือเปื้อนเลือด” คำพูดนี้ทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนโกรธและจบการสนทนา

ต่อมาทรูแมนบอกกับรองรัฐมนตรีต่างประเทศ ดีน อาคีสัน ว่า “ผมไม่ได้ต้องการเห็นไอ้บ้านั่นในออฟฟิศนี้อีกต่อไป”

 

หลังการใช้ระเบิดอะตอมทั้งสองลูกกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นบาดแผลฉกรรจ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็กริ่งเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะสร้างอาวุธแบบนี้ได้บ้าง

แล้วก็เป็นจริง เนื่องจากโซเวียตทดสอบระเบิดอะตอมลูกแรก ชื่อ First Lightning หรือ RDS-1 สำเร็จเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1949 คืออีกราว 5 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นลงเท่านั้น ชื่อย่อ RDS มาจากคำว่า Rossiya Delayet Sama ซึ่งแปลว่า “Russia Does it Herself” หรือ “รัสเซียสร้างด้วยตนเอง”

อเมริกาจึงเดินหน้าสร้างระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพร้ายแรงขึ้นไปอีก คือ ระเบิดไฮโดรเจน (hydrogen bomb) นำโดยเอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์

 

ย้อนกลับมาที่ออปเพนไฮเมอร์อีกครั้ง บางคนถือกันว่าเขาเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับจริยธรรม คือเป็นตัวแทนของผู้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในการเข่นฆ่าทำลายล้าง

บางคนมองว่าแม้เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและนักบริหารโครงการชั้นยอด แต่ก็ยัง “อ่อนหัด” ในทางการเมืองนัก กล่าวคือ เขาเข้าใจผิดว่าการที่เขาเป็นวีรบุรุษของชาติ มีชื่อเสียงมาก คนอเมริกันคนไหนๆ ก็รู้จัก จะทำให้นักการเมืองและนักการทหารเชื่อถือและยอมฟังเขาเกี่ยวกับข้อเสนอการยุติการสร้างอาวุธร้ายแรง

แต่นั่นก็ไม่เกิดขึ้นจริง

อีกเรื่องหนึ่งคือ แม้แต่ขณะที่เขาเป็นผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน ออปเพนไฮเมอร์ก็ถูกข้อกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ สาเหตุหนึ่งคือ แฟนคนแรกของเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และแม้ว่าจะเลิกรากันไปแล้วเขาก็ยังไปพบเธอตอนที่เธอป่วย แต่ทางการอเมริกันคอยแอบติดตามความเคลื่อนไหวของเขาตลอด

ข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์นี้แม้จะหาหลักฐานไม่ได้ แต่ก็ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงไปมาก พูดได้ว่าชีวิตของออปเพนไฮเมอร์จึงขึ้นสูงปรี๊ดจนสุด คือเป็นวีรบุรุษของชาติ แต่แล้วก็ตกต่ำลงมาอย่างสุดๆ ด้วยข้อหาคนทรยศต่อชาติ คืออาจนำความลับการสร้างระเบิดอะตอมไปบอกสหภาพโซเวียต

สุดท้ายขอจบด้วยเกร็ดเล็กๆ ซึ่งน่าจะสะท้อนตัวตนของเขาได้ในบางแง่มุม นั่นคือสองวันก่อนการทดสอบระเบิดอะตอมครั้งแรกของโลกที่ทรินีตี้ไซต์ ออปเพนไฮเมอร์อ้างถึงถ้อยความปลอบประโลมใจจากภควัทคีตา ความว่า

“ในสมรภูมิ ในป่า และที่หน้าผาสูงชันแห่งภูเขา

ในทะเลอันกว้างใหญ่ทึบทะมึน

ท่ามกลางคมหอกและลูกธนู

ในห้วงนิทรา ในความสับสนของจิตใจ

ในความรู้สึกผิด ละอายใจอย่างที่สุด

สิ่งดีๆ ที่คนคนหนึ่งเคยทำไว้ จักช่วยปกป้องเขา”

หากคุณผู้อ่านได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร (ในแง่มุมใดก็ได้) ก็เขียนมาเล่าสู่กันฟังได้ครับ