วิบัติภัยธรรมชาติถี่ยิบ เมื่อโลกถึงยุค ‘อันโทรโปซีน’

มีไม่บ่อยครั้งนักที่วิบัติภัยธรรมชาติมาเยือนหลายประเทศบนโลกพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ซีกโลกหนึ่งไปจรดอีกซีกโลกหนึ่ง เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้

ที่ญี่ปุ่น ฝนพันปีหรืออาจเป็นล้านปี เพราะกระหน่ำหนักชนิดที่ทุกคนไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดทั้งชีวิต ถล่มเอาพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญไปอย่างน้อย 8 คน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม สร้างความเสียหายอย่างหนักในจังหวัดฟุกุโอกะ

ลำน้ำยามากุมิ กลายเป็นน้ำขุ่นโคลน เอ่อสูงและไหลแรงเชี่ยวกราก คุกคามต่อสะพานข้ามแม่น้ำในเมืองยาบะเคอิ ที่อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมต่อเนื่องขึ้นตามมา

ขยับต่อไปอีกหน่อย ที่ประเทศจีน พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศที่ภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าเขา เกิดภาวะน้ำท่วมหนักจากฟ้าฝนรุนแรงเช่นเดียวกัน ก่อปัญหาน้ำท่วมหนัก ดินถล่ม คร่าชีวิตชาวบ้านไปอย่างน้อย 15 คน

ที่อินเดีย ดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันจากฝนหน้ามรสุมในพื้นที่นิวเดลี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 คนตลอดช่วงระยะเวลาแค่ 3 วัน สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นวิกฤตจนต้องออกคำสั่งปิดการเรียนการสอนโรงเรียนทั้งหมดในเมืองหลวง

เหนือขึ้นไป น้ำในแม่น้ำบีอาสยกระดับสูงขึ้นท้นฝั่ง ไหลแรงเชี่ยวกรากขนาดสามารถพัดพารถราไหลถูลู่ถูกังไปตามกระแสน้ำ ที่บ่าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยใกล้เคียงสองฟากฝั่งชนิดไม่ปรานีปราศรัย

ที่ตุรกี พื้นที่ที่เต็มไปด้วยทิวเขา ทิวทัศน์สวยงามริมฝั่งทะเลดำ กลายเป็นพื้นที่ประสบภัยไปอย่างฉับพลันจากภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันเพราะฝนตกหนัก เกิดแผ่นดินถล่มสร้างความเสียหายในหลายเมือง ยังไม่มีรายงานความเสียหาย

 

ข้ามไปอีกฟากของมหาสมุทร ภาวะอากาศร้อนผิดปกติก่อให้เกิดไฟป่าเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงคุกคามต่อชาวแคนาดาเองเท่านั้น ยังส่งหมอกควันปกคลุมหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่กำลังเผชิญภาวะ “โดมความร้อน” คุกคามสร้างอันตรายถึงชีวิตต่อคนหลายสิบล้านคนในเท็กซัสและโอกลาโฮมา

ในขณะที่นครชิคาโกในรัฐอิลลินอยส์ และพื้นที่บริเวณฮัดสัน วัลลีย์ ในรัฐนิวยอร์ก ประสบภาวะฝนตกหนัก จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันตามมา รุนแรงและเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ถูกเฮอร์ริเคนไอรีนถล่มในปี 2011

เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งในอินเดีย, ญี่ปุ่น, จีน, ตุรกีและสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนจะห่างไกลซึ่งกันและกัน และไม่น่าจะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันตรงกันว่า ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือภาวะพายุฝนฟ้าคะนองที่ก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศที่ร้อนกว่าปกติที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะฝนสุดโต่ง ซึ่งนับวันมีแต่จะเกิดให้เห็นกันถี่ขึ้นและเลวร้ายมากขึ้น

รอดนีย์ วินน์ นักพยากรณ์อากาศจากสำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิม สามารถอุ้มเอาความชื้นไว้ในตัวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เมื่อเกิดฝน จะเป็นฝนที่หนักและต่อเนื่องนานผิดปกติ เขาชี้ว่า บรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหลาย โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน เป็นตัวการที่ทำให้บรรยากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยการปิดกั้นความร้อนเอาไว้ในบริเวณพื้นผิว แทนที่จะปล่อยให้ระบายออกสู่อวกาศได้เหมือนก่อนหน้านี้

ตามข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ระบุว่า ชั้นบรรยากาศที่อุณหภูมิสูงขึ้น ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสจะเพิ่มความสามารถในการอุ้มความชื้นขึ้นได้ 7 เปอร์เซ็นต์ จนถึงขณะนี้ นาซาประเมินว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.1 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบกับปี 1880

ดังนั้น ในแง่วิทยาศาสตร์แล้ว ภาวะอากาศสุดโต่งแบบที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมระบุตรงกันว่า แทนที่จะแปลกใจ โลกควรกังวลใจมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถี่ยิบจนกลายเป็น “ความปกติใหม่” ในอนาคต

 

เจฟฟ์ เบอร์ราเดลลี หัวหน้าทีมพยากรณ์อากาศและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสภาพอากาศในแทมปาเบย์ ระบุว่า ในปีนี้ สภาพอากาศสุดโต่งแบบนี้จะเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งทั่วโลก หนักขึ้นชนิดที่เราไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในประวัติศาสตร์

ผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการพบว่า ภาวะน้ำท่วมหนักจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในปากีสถานเมื่อปีที่แล้วก็ดี, ภาวะโดมความร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิก ในปี 2021 เรื่อยไปจนถึงเฮอร์ริเคนมาเรีย ที่ถล่มเปอร์โตริโกเสียหายอย่างหนักในปี 2017 ล้วนเป็นวิบัติภัยธรรมชาติที่ถูกทำให้ร้ายแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน

ไมเคิล มานน์ นักสภาพอากาศวิทยาของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด แต่ส่งผลให้เห็นกันแล้วในเวลานี้ ในรูปแบบของปรากฏการณ์สุดโต่งทั้งหลาย

ในสหรัฐอเมริกา ไคลเมต เซนทรัล องค์กรไม่แสวงกำไรระบุชัดว่า ภาวะวิบัติภัยจากสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป กำลังเกิดถี่มากขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในปี 1980 ช่วงห่างระหว่างการเกิดวิบัติภัยที่สร้างความเสียหายมากถึงระดับนั้นอยู่ที่ 82 วัน แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปี 2022 ช่วงห่างของการเกิดวิบัติภัยธรรมชาติดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียงแค่ 18 วันเท่านั้น

ไม่มีแม้แต่เวลาให้ฟื้นตัวจากวิบัติภัยครั้งก่อนด้วยซ้ำไป

 

กิจกรรมทุกชนิด ทุกรูปแบบที่มนุษย์ทำอยู่ในเวลานี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและสภาพอากาศของโลกสูงมากเสียจนนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งกำลังหารือกันว่า ควรหรือไม่ที่จะประกาศว่า โลกได้ย่างกรายเข้าสู่ยุค “อันโทรโปซีน” (Anthropocene) หรือยุคที่พฤติกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศมากที่สุดแล้ว

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้กังวลมากที่สุดก็คือ ในขณะที่โลกกำลังส่งสัญญาณเตือนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเกิดขึ้นและเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก จนเหลือเวลาสั้นลงเรื่อยๆ ต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิถีที่เป็นอยู่ให้เป็นไปในทางตรงกันข้าม

ก่อนที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะกลายเป็นหายนะสำหรับโลกไปโดยแท้จริง