ตระหนัก ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ (จบ) ความคลาดเคลื่อนที่ควรแก้ไข ทุกฝ่ายร่วมชำระใหม่แบบขยายความ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตระหนัก ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ (จบ)

ความคลาดเคลื่อนที่ควรแก้ไข

ทุกฝ่ายร่วมชำระใหม่แบบขยายความ

 

การวิเคราะห์ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มาถึงตอนสุดท้ายแล้ว ฉบับนี้ขอทำการสรุปสิ่งที่นักวิชาการสองท่าน คือ “อ.เกริก อัครชิโนเรศ” และ “อ.ภูเดช แสนสา” ได้เสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แบ่งเป็น 4 ประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก สรุปแล้วใครแต่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

ประเด็นที่สอง ความน่าเชื่อถือของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

ประเด็นที่สาม ความคลาดเคลื่อนของการแปลต้นฉบับในเวอร์ชั่นต่างๆ

ประเด็นที่สี่ การชำระสะสางข้อผิดพลาด ควรมีการขยายความใหม่โดยละเอียด

สรุปแล้วใครแต่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

สามตอนที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น สามารถสรุปได้ว่า ผู้แต่ง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” แบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ผูกที่ 1-5 เขียนโดย “อาลักษณ์” (scripter) ในราชสำนักเชียงใหม่ เป็นขุนนางชั้นสูงระดับ “แสนหนังสือ” ช่วยกันบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยของตน เน้นวีรกรรมด้าน “การเมืองการปกครอง” ของกษัตริย์มากเป็นพิเศษ ผิดกับ “ตำนานมูลศาสนา” หรือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่รจนาโดยพระภิกษุ จึงเน้นเรื่องราวทางศาสนาเป็นหลัก

แถมตำนานสองเล่มหลังยังมี “วาระซ่อนเร้นด้านความขัดแย้งระหว่างนิกายสวนดอก-ป่าแดง” แบบออกนอกหน้าอีกด้วย ว่าใครโปรฝ่ายใด ในขณะที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ไม่ได้เชียร์หรือกดข่มทั้งสองนิกาย

ในกลุ่มแรกนี้ ยังแยกย่อยออกเป็น 5 ผูก

ผูกที่ 1 เป็นบทประณามพจน์ตามขนบนิยม อ.เกริกบอกว่าเทียบได้กับคัมภีร์ New Testament เริ่มตั้งแต่ยุคพุทธกาล มาจนฤๅษีสร้างเมืองให้พระนางจามเทวี ปู่จ้าวลาวจกไต่บันไดสวรรค์ มาจนถึง พระญามังราย มอบหมาย “อ้ายฟ้า” เป็นไส้ศึกทำลายนครหริภุญไชย

ผูกที่ 2 แผนปฏิบัติการของอ้ายฟ้า พระญามังรายสร้างเชียงใหม่ พระญาเบิกจากเขลางค์ยกทัพมาตีเวียงกุมกาม

ผูกที่ 3 ขุนครามต่อสู้ขับไล่พระญาเบิก จนถึงพระญาแสนพูสร้างเชียงแสน พระญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระ พระญาสามฝั่งแกนบูรณะเวียงเจ็ดลิน

ผูกที่ 4 “ห้อ” (จีนฮ่อ) มาตกศึก หลังจากทัพสุโขทัยกลับไป เน้นวีรกรรมพระเจ้าติโลกราชสู้รบกับฝ่ายรัฐทางใต้ “มังหลว้าง” หรือ “ชีม่าน” ถูกฝ่ายอยุธยาส่งมาทำไสยศาสตร์ใส่เมืองเชียงใหม่

ผูกที่ 5 จับตัวมังหลว้างถ่วงน้ำแก่งพอก การครองเมืองของพระญายอดเชียงราย พระเมืองแก้ว เหตุการณ์วุ่นวายสมัยพระเมืองเกษเกล้า เรื่อยไปจนถึงสิ้นสุดราชวงศ์มังราย

กลุ่มที่ 2 คือผูกที่ 6 นำมาจากปูมโหรของฝ่ายเชียงแสน เนื่องจากช่วงนั้นเชียงใหม่แตกสานซ่านเซ็น ไม่มีการบันทึกเหตุการณ์อันขาดช่วงขาดตอนไป ผูกนี้มาจบที่วีรกรรมของหนานทิพย์ช้าง เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมือง พระเจ้ากาวิละนั่งเมืองเชียงใหม่

กลุ่มที่ 3 คือผูกที่ 7-8 ผู้เขียนเป็นชาวลำปาง เพราะเป็นเอกสารเดียวกันกับฝ่ายลำปาง เนื้อหาผูกที่ 7 พระเจ้ากาวิละมาตั้งเวียงป่าซาง จบด้วยการแปงเวียงหละปูน 2348 และผูกที่ 8 พระเจ้ากาวิละบูรณะฟื้นฟูเชียงใหม่ 2339 จบลงยุคเจ้าหลวงพุทธวงศ์ แผ่นดินเย็น

อ.ภูเดชกล่าวว่า ผู้เขียนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จะมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไรบ้างนั้น ไม่มีการลงชื่อของแต่ละคนเป็นลายลักษณ์อักษร ผิดกับตำนานมูลศาสนาที่ระบุว่ารจนาโดย “พระพุทธพุกาม” กับ “พระพุทธญาณ” และชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าแต่งโดย “พระรัตนปัญญาเถระ”

อย่างไรก็ตาม อาลักษณ์เหล่านั้นจักต้องเป็นคนสนิทกับราชวงศ์มังราย ใช้ชีวิตอยู่ในรั้ว “หอคำหลวง” รับรู้ความเป็นไปของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละแผ่นดินอย่างละเอียดยิบ

และ “แสนหนังสือ” ผู้นั้นน่าจะเป็นฆราวาสมากกว่าเพศบรรพชิต เพียงแต่ว่า การจารคัดลอกใบลานสืบต่อๆ กันมาในชั้นหลังมิให้สูญหาย ผู้จารมักเป็นพระภิกษุตามวัดต่างๆ

 

ความน่าเชื่อถือ

ของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือนี้ วิทยากรทั้งสองท่าน คือ อ.เกริก และ อ.ภูเดช เห็นตรงกันว่า น้ำหนักของเนื้อหาที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่น่าจะมีความเป็นจริงน่าเชื่อถือได้สูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ หากเราตัดเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ตอนตำนานพระนอนขอนม่วงที่ต้องการอ้างความชอบธรรมให้พระเจ้ากาวิละเคยดูแลเชียงใหม่มาก่อน ในผูกท้ายๆ ออกไปบ้าง

เนื้อหาที่เหลือเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นรายละเอียดเฉพาะยุคสมัยที่อาลักษณ์รุ่นหลังมิอาจจินตนาการเสริมแต่งเพิ่มเติมขึ้นได้เลย

แน่นอนว่า อาจมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ดังได้กล่าวมาในตอนที่แล้ว เช่น เรื่องที่มาของระบบจุลศักราช ที่อยู่ๆ ก็ไปยกผลประโยชน์ให้พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม

ทั้งนี้ สะท้อนว่าการบันทึกเรื่องราวที่ “ข้ามพรมแดน” เกี่ยวข้องกับกษัตริย์นอกอาณาจักรล้านนาอันไกลโพ้นนั้น ผู้บันทึกยังขาดความแม่นยำที่จะทำการชำระสอบทานข้อมูลที่ถูกต้อง

 

ความคลาดเคลื่อน

ของการแปลต้นฉบับในเวอร์ชั่นต่างๆ

ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราได้อ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ นั้น อ.เกริกกล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ “ผิด” มาตั้งแต่ต้นฉบับใบลาน หากเกิดจาก “ความเข้าใจผิดของผู้แปลเอง” มากกว่า โดยขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา 3 กรณี

กรณีแรก “นายทน ตนมั่น” พ่อน้อยพ่อหนานผู้ที่ช่วย อ.สงวน โชติสุขรัตน์ อ่านตั๋วเมืองหรืออักษรธัมม์ล้านนาจากใบลาน มาเป็นตัว “ต้นร่าง” ในปี 2509 ก่อนที่ อ.สงวนจะนำไปเรียบเรียงให้สละสลวยแล้วส่งพิมพ์กับสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2514 นั้น

นายทน ตนมั่น เกิดความเข้าใจผิดเพราะอ่านแบบชาวบ้าน จับความตามตาเห็น เขาเห็นตัวเลขโหราซึ่งตั้งใจจะเขียนเลข ๗ ด้วยเหตุที่ตัวเลขนี้มีลักษณะคล้าย “ผ” ผึ้งด้วยเช่นกัน ทำให้แปล “เวียงเจ็ดลิน” กลายเป็น “เวียงผลิน” ซึ่งเข้าใจว่าการพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญาน่าจะแก้ไขจุดนี้ให้ถูกต้องแล้ว

กรณีที่สอง ฉบับแปลของ ดร.เดวิด เค.วัยอาจ กับ ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ตีความคำว่า “หานียะ” ผิด ซึ่งคำนี้แปลว่า “ความหายนะ” จากข้อความที่ว่า “หานียหนึ่งเกิดขึ้นที่บ้านหงสาแม่ริม” ไปแปลว่ามีกองกำลังชาวพม่าเป็นผู้ชาย 2 คน มารุมผู้หญิงคนเดียวที่หมู่บ้านแม่ริม

ซ้ำบางฉบับภาษาอังกฤษไปอธิบายความให้พิสดารขึ้นว่า แม่หญิง 2 คนเป็นเลสเบี้ยนกันไปโน่นก็มี ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวทางประวัติศาสตร์อย่างรุนแรง

กรณีที่สาม เป็นคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาคือ นายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาปี 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถามว่า ทำไมตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ในผูกที่ 6 จึงไปเอารายชื่อผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์กรุงอังวะมาสวมให้เป็นชื่อเจ้าเมืองเชียงใหม่?

อ.เกริก และ อ.ภูเดช อธิบายว่า นี่ถือเป็นความคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าให้อภัยของเอกสารผูกที่ 6 ซึ่งผู้รวบรวมตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไม่สามารถหาเอกสารในฝ่ายเชียงใหม่ช่วงบ้านเมืองล้านนาถูกพม่าปกครองมาต่อกับผูกที่ 5 ได้เลย จึงจำเป็นต้องไปเอาเอกสารปูมโหรของฝ่ายเชียงแสนมาร้อยเรียง ซ้ำตอนหยิบมาก็ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องอีกด้วย

จุดที่ผิดพลาดคือ ลำดับชื่อเจ้าเมืองเชียงใหม่ 3 องค์ ที่นั่งเมืองต่อจาก “พระแสนเมือง” เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่สิ้นสุดอำนาจปี 2206 มีดังนี้

องค์แรกคือ เจ้าเมืองแพร่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่าปกครองเชียงใหม่ระหว่างปี 2202-2215 องค์ถัดมาชื่อ อุปราชอึ้งแซะ (อินแซะมัง) 2215-2218 และอีกองค์เป็นบุตรของเจกุตราชื่อ เจพูตราย นั่งเมืองเชียงใหม่ปี 2218 เป็นต้นไป

ทั้งสามคนนี้ ในความเป็นจริงแล้วเอกสาร “ซินเหม่ยาสะวิน” หรือพงศาวดารพม่าระบุว่าเป็นกษัตริย์ที่ “นั่งแท่นแก้ว” (บัลลังก์) ณ กรุงอังวะ ในขณะที่ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนหยิบรายชื่อมาแล้วบอกว่านั่งแท่นแก้วที่เชียงแสน มาถึงตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็ระบุตามแบบผิดๆ อีกว่า สามท่านนี้นั่งแท่นแก้วที่เชียงใหม่

ความผิดพลาดคลาดเคลื่อน จากการอ่านผิด ตีความผิดก็ดี การคัดลอกแบบรวบรัดตัดตอนขาดการวิเคราะห์ไตร่ตรองก็ดี ทั้งหมดนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาเกิดความบิดเบือน นำมาซึ่งประเด็นสุดท้าย

หนังสือเล่มอื่นๆ ของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ที่เขียนขยายความออกไปอีกหลายเรื่องราว โดยใช้ข้อมูลหลักจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

การชำระสะสางข้อผิดพลาด

ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันขยายความใหม่โดยละเอียด

วิทยากรทั้งสองท่านเห็นว่า เรามิควรมองเอาจุดเล็กจุดน้อยที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มาสรุปว่า “ถ้าเช่นนั้นแล้ว ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็เป็นเอกสารที่มั่ว ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากพงศาวดารเหนือที่หยิบแพะชนแกะน่ะซี!” ช้าก่อน มิพึงตัดสินเช่นนั้น

ในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เราควรช่วยกันหาทางออกให้เกิดความงอกงามมิดีกว่าหรือ ในเมื่อเนื้อหาหลักๆ ของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ยังเชื่อถือได้ ยังทรงคุณค่า เป็นเอกสารที่ให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยากที่จะหารายละเอียดเช่นนี้ได้ในเอกสารตำนานฉบับอื่นใด

ดังนั้น เราควรระดมนักวิชาการทุกรุ่น ทั้งเก่าใหม่ มาช่วยกันแก้ไขปริวรรตตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กันอีกครั้ง แบบเปิดอกเปิดใจให้กว้าง ถกกันทีละประเด็น ไม่ใช่ต่างคนต่างสำนักต่างแปล บางสำนักถอดความแบบตรงตัว ศัพท์ต่อศัพท์ คำต่อคำ ไม่มีการทำเชิงอรรถ ทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีคำขยาย บางสำนักพยายามทำเชิงอรรถขยายความ ถือเป็นความคิดที่ดี ทว่าข้อมูลที่ขยายนั้นก็ยังดูอิหลักอิเหลื่อ เพราะไม่ได้รับการพิสูจน์จากสำนักอื่นเลยว่าจริงหรือเท็จ

วิทยากรทั้งสองท่านกล่าวว่า ในอดีตมีพ่อครูเจริญ มาลาโรจน์ หรือ “มาลา คำจันทร์” กวีซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรณศิลป์ เคยถอดความตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ออกมาเป็นภาษาไทยกลางให้อ่านง่ายสำหรับประชาชน ด้วยการขยายความอธิบายเพิ่มเติมถึงบริบทอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ปริวรรตหรือแปลศัพท์คำต่อคำ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ได้มีข้อมูลใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการรุ่นหลังค้นพบเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ย่อมทำให้การตีความ การขยายความ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ของปราชญ์แต่ละท่าน ในทุกเวอร์ชั่น ทั้งหมดที่เรามี อาจไม่เป็นปัจจุบันเท่าใดนัก สมควรได้รับการชำระสะสางใหม่อีกครั้งแบบยกยวง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ