มหาเศรษฐีไทย

มหาเศรษฐีไทย

 

เรื่องราวเกี่ยวกับนักธุรกิจไทยกับดัชนีความมั่งคั่ง น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อมองภาพให้กว้างขึ้น

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีเรื่องราวตื่นเต้นพอประมาณ เมื่อเปิดโฉมหน้าล่าสุด มหาเศรษฐีไทยในทำเนียบ Thailand’s 50 Richest 2023 จัดเป็นประจำโดย Forbes (https://www.forbes.com/) สื่ออเมริกันมีชื่อ นำเสนอเกี่ยวกับธุรกิจ-การเงิน และให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดอันดับ เกี่ยวข้องกับบริษัท มหาเศรษฐี และดารา ว่าไปแล้ว เป็นที่ยอมรับและใช้อ้างอิงกันไม่น้อย

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า Forbes ในระยะหลังๆ ให้ความสนใจกับภูมิภาคนเอเชียมากเป็นพิเศษ เชื่อกันว่า นอกจากบทบาทสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว คงมีส่วนมาจากกรณี Forbes มีหุ้นส่วนใหญ่รายใหม่ เป็นกลุ่มนักลงทุนในฮ่องกง (เมื่อปี 2557) เครือข่ายในภูมิภาคจึงจัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะ Forbes Asia รวมทั้งสื่อภาษาไทยในประเทศไทย ในนาม Forbes Thailand ด้วย

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ดูเหมือนว่า Forbes สามารถเข้าถึง เข้าใจสังคมเอเชียได้อย่างดี ไม่เพียงจัดอันดับเศรษฐีในประเทศไทยอย่างที่ว่ามา ยังรวมอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

 

ว่าเฉพาะการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566 “พบว่า ความมั่งคั่งรวมของ 50 มหาเศรษฐีไทยก็เพิ่มขึ้นเกือบ 15% คิดเป็น 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” บทสรุปสั้นๆ ของ Forbes (อ้างหัวข้อข่าว “Wealth Of Thailand’s 50 Richest On Forbes List Rises Nearly 15% To US$173 Billion.” (July 6, 2023)

ขณะ Forbes Thailand เพิ่มเติมอีกนิดหน่อยว่า “เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว…”

ชวนให้ตีความ Forbes วิเคราะห์ว่าความมั่งคั่งทั้งหลาย บรรดามหาเศรษฐีไทยนั้น มาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ มหาเศรษฐีไทยอันดับต้นๆ มีความมั่งคั่ง (มูลค่าทรัพย์สิน) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรอ้างถึงอย่างเจาะจง คือ อันดับ 1 และอันดับ 3 นั่นคือ พี่น้องเจียรวนนท์ (Chearavanont brothers) แห่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่ง กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี ซึ่งเป็นที่คาดกันไว้อยู่แล้ว โดยรายแรกมีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีกราย มีมากเกือบๆ 5 แสนล้านบาท

เท่าที่ทราบกันโดยทั่วไป ทั้งสองกิจการมีธุรกิจแกนส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะซีพี มีค้าปลีก-ค้าส่งและสื่อสาร ขณะกลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหาร บุกเบิกสู่ภูมิภาคและสร้างเครือข่ายระดับโลก มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม

ส่วนกรณีทีซีซี จากรากฐานธุรกิจสัมปทานเครื่องดื่มแอกอฮอล์ในประเทศ ยังคงเป็นรายได้สำคัญ

ขณะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดำเนินไปอย่างครึกโครม โดยเพิ่งออกสู่ระดับภูมิภาค ราวๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ดัชนีความมั่งคั่งมหาเศรษฐีไทยน่าทึ่งกว่าที่คิด เมื่อมองภาพรวมในระดับภูมิภาค (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) ทั้งนี้ ตั้งใจให้ความสำคัญรายใหญ่เป็นพิเศษ โดยอ้างอิงเฉพาะรายชื่อผู้มีความมั่งคั่งเกิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท) เทียบเคียงกับบริบทสำคัญ กับระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เฉพาะบางประเทศซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน เชื่อว่าพอจะให้ภาพรวมเชิงความสัมพันธ์บางระดับได้ โดยอ้างอิงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (คำนวณเป็นตัวเงิน) หรือที่เรียกว่า Nominal GDP (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ)

ว่าเฉพาะในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มหาเศรษฐีไทย แสดงบทบาทนำ และมีความโดดเด่นอย่างมาก ว่าด้วยความสามารถในการสร้างความมั่งคั่ง เมื่อเทียบเคียงกับมหาเศรษฐี ตามแบบแผนธุรกิจครอบครัว ภายใต้ขั้นการพัฒนาทัดเทียมกัน ทั้งในประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน (สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์) แม้กระทั่งกับ อินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า

ดูเผินๆ ดูเหมือนน่าทึ่งไปอีกโดยเปรียบกับอีกบางระบบเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ อย่างกรณี ญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก ดูไปแล้ว ดัชนีเศรษฐีไทย-ญี่ปุ่นในภาพกว้างๆ ใกล้เคียงกัน และแทบไม่น่าเชื่อว่า เมื่อพิจารณาไปถึง เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ด้วยปรากฏว่า มหาเศรษฐีทั้งสองประเทศ ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์สินเกิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เชื่อว่า กรณีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นภาพเชิงสัมพันธ์ที่กว้างเกินไป ด้วยมีความแตกต่างกับสังคมไทยในหลายมิติ ทั้งว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างเศรษฐกิจกับธุรกิจ รวมทั้งแบบแผนองค์กรธุรกิจ และพัฒนาการธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบเคียงเฉพาะภูมิภาคเดียวกัน ดัชนีมหาเศรษฐีไทย ไม่เพียงเป็นภาพที่น่าทึ่ง หากสะท้อนบางปริศนาน่าขบคิดด้วย

จึงขอเว้นวรรค และเปิดช่องให้ผู้สนใจ ผู้เกี่ยวข้อง ค้นหา วิตกวิจารณ์กันต่อไป •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com