คุยกับทูต | ปาเวล ปีเตล สัมพันธ์ไทย-เช็ก ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ (2)

เอกอัครราชทูตเช็กเข้าหารือกับ ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนนักเรียนของทั้งสองประเทศ

คุยกับทูต | ปาเวล ปีเตล

สัมพันธ์ไทย-เช็ก ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ (2)

 

“เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia) เป็นบ้านของชาวสโลวัก (Slovak) และชาวเช็ก (Czech) เสมอมานับตั้งแต่ก่อตั้งเชโกสโลวะเกียในปี 1918”

“ประเทศเดิมของเราแยกออกเป็นสองประเทศเอกราชคือ สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) หรือเช็กเกีย (Czechia) และสาธารณรัฐสโลวัก (Slovak Republic) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1993 การแยกทางเป็นผลมาจากความปรารถนาที่มีมาอย่างยาวนานจนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การหย่าร้างกำมะหยี่’ (Velvet Divorce) ซึ่งเป็นการสลายตัวอย่างสันติ อันเกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำทางการเมืองของทั้งสองประเทศ”

“เหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังการแยกจากกัน คือความต้องการในการปกครองตนเองทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคเช็กและสโลวัก”

นายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย แยกออกมาเป็นประเทศประชาธิปไตยสองประเทศ คือ สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) และสโลวัก (Slovak Republic) สืบเนื่องจากการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 1989

ซึ่งเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองของประเทศเชโกสโลวะเกียที่เป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการเสียเลือดเนื้อของประชาชนคนเช็ก หรือคนสโลวัก แม้แต่หยดเดียว

“สาธารณรัฐเช็กขึ้นชื่อเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวย รวมถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก 12 แห่ง เช็กเกียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลกมาโดยตลอด”

“บริษัท เช่น SKODA (ยานยนต์), TATRA (รถบรรทุกหนัก), Skoda Machine Tools (ผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตและการประกอบเครื่องกัดและคว้านแนวนอนสำหรับงานหนัก), AERO (การบินและอวกาศ, ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ขนาดเบา), LINET (ผู้นำระดับโลกด้านเตียงโรงพยาบาลที่มีความซับซ้อน), CZ-COLT (ปืนพกและปืนไรเฟิล), CSG (อุตสาหกรรมกลาโหม) เป็นผู้นำในสาขาของตน รวมทั้งบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกหลายแห่ง เช่น KIWI.COM หรือ AVAST ซึ่งต่างมีต้นกำเนิดในประเทศของเรา”

“สาธารณรัฐเช็กมีชื่อเสียงด้านงานฝีมือที่โดดเด่น เช่น คริสตัลและเครื่องแก้ว นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมสำคัญในด้านต่างๆ เช่น วรรณกรรม ดนตรี และกีฬา โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) นักเขียนเอกผู้ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวงการวรรณกรรมตะวันตกในศตวรรษที่ 20, อันโตญีน ดโวชาก (Anton​í​n Dvo​ř​á​k) คีตกวีชาวเช็ก หรือ เบเดอร์ชิช สเมทานา (Bedrich Smetana) คีตกวีและนักแต่งเพลง”

“ชาวเช็กหลายคนมีชื่อเสียงในการกีฬา ได้แก่ มาร์ตินา นาฟราติโลวา (Martina Navratilova) อีวาน เลนเดิล (Ivan lendl), เพตรา ควิโตวา (Petra Kvitova), ปาเวล เนดเวด (Pavel Nedved), แปเตอร์ แช็ก (Petr Cech), โทมาส โซว์แช็ก (Tomas Soucek), วลาดิมีร์ คูฟาล (Vladimir Coufal) ซึ่งต่างก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนกีฬา”

นายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

มาร์ตินา นาฟราติโลวา (Martina Navratilova) เป็นนักเทนนิสเพียงคนเดียวของโลกที่สามารถครองแชมป์แกรนด์แสลมได้ตลอดช่วง 4 ทศวรรษ, อีวาน เลนเดิล (Ivan lendl), อดีตนักเทนนิสชายระดับตำนานอีกคนหนึ่งของโลก เคยครองตำแหน่ง “มือหนึ่ง” ของโลกจากการจัดอันดับนักเทนนิสชายของสมาคมนักเทนนิสอาชีพ หรือ ATP ในช่วงทศวรรษ 80, เพตรา ควิโตวา (Petra Kvitova) นักเทนนิสอาชีพ เป็นที่รู้จักจากช็อตซ้ายอันทรงพลัง

ปาเวล เนดเวด (Pavel Nedved) อดีตนักฟุตบอลอาชีพที่เคยเล่นในตำแหน่งกองกลาง และเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลชาวเช็กเกียที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด, แปเตอร์ แช็ก (Petr Cech) อดีตนักฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตู สโมสรสุดท้ายที่เล่นให้คือเชลซี

โทมาส โซว์แช็ก (Tomas Soucek) เป็นนักฟุตบอลที่เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรับให้กับเวสต์แฮมยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีกและทีมชาติเช็กเกีย และวลาดิมีร์ คูฟาล (Vladimir Coufal) นักฟุตบอลอาชีพชาวเช็ก ปัจจุบันเล่นในตำแหน่งกองหลังให้กับสโมสรเวสต์แฮมยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีกและทีมชาติสาธารณรัฐเช็ก

“ผมในฐานะทูตมีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และสังคมที่มีชีวิตชีวา”

“การมาประจำประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างจากที่ได้ไปประจำในประเทศอื่นเนื่องจากเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมนั้นมีการผสมผสานเข้ากับความทันสมัย ส่วนผมก็มีบทบาทในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศของเรา การสำรวจลู่ทางความร่วมมือใหม่ๆ และเสริมสร้างความเข้าใจในระดับต่างๆ”

“เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ทำให้ผมได้รู้สึกถึงความอบอุ่นและไมตรีจิตของคนไทยด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

นายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

นอกจากจะต้องชำนาญในงานที่รับผิดชอบแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและมีใจรักในหน้าที่ เพราะบทบาทหน้าที่ของนักการทูต คือ การรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศในเวทีต่างประเทศ

โดยนายปาเวล ปีเตล ชี้แจงว่า

“การเป็นทูตนั้นสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผมเป็นอย่างดี เพราะผมมีความสนใจอย่างลึกซึ้งอยู่แล้วในเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรื่องการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อได้เข้ามามีบทบาททางด้านนี้ จึงช่วยทำให้ผมได้มีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ที่แตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรม ได้มีโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ตลอดจนได้ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน”

“เป็นเวทีในการสร้างผลกระทบเชิงบวก ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีดีขึ้น ถึงแม้ว่าบางครั้ง เราอาจต้องใช้ความพยายามอย่างสูงก็ตาม”

ประเด็นที่เป็นความท้าทายต่อบทบาทของนักการทูตประจำประเทศไทย

“สิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุดประการหนึ่งของผม คือ การหากลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะสังคมไทยมีขนบธรรมเนียม ระเบียบปฏิบัติ และวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเอง ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและความเคารพอย่างลึกซึ้ง”

“การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจเป็นงานที่ซับซ้อนแต่คุ้มค่า ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัว การมีความอดทน และความอ่อนไหวต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้” •

นายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin