กำเนิดกรมโฆษณาการ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

กำเนิดกรมโฆษณาการ

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง (2)

 

ในช่วงเดือนท้ายๆ ก่อนระบอบเก่าจะปิดฉากลงนั้น เสนาบดีกระทรวงธรรมการเสนอแนวทางปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการศึกษาของอิตาลี ในสมัยมุสโสลินีให้แก่รัฐบาลระบอบเก่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ความเห็นว่า “…เราจะสอนคนไทยให้นิยมการปกครองอย่าง Absolute Monarchy ได้หรือไม่? ฉันสงสัยมาก เพราะถ้าทำเดี๋ยวนี้ มันช้าเกินไปเสียแล้ว…”

(เบนจามิน บัทสัน, 2543, 220)

กำเนิดแนวคิดหล่อมหลอมความคิดราษฎรก่อนการปฏิวัติ 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และการปลูกฝังอุดมการณ์ผ่านการศึกษาสมัยมุสโสลินี

บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบบราชการแพร่หลายมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ก่อนที่จะมีการปฏิวัติ 2475 เพียงราวเดือนเดียวนั้น พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องแนวคิดและนโยบายการศึกษาอิตาลีในสมัยมุสโซลินี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยแนวทางการศึกษาตามระบอบฟาสซิสม์ สมัยมุสโสลินีและทรงโยงหลักการศึกษาแบบอิตาลีเข้ากับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยว่า

“…เขาสอนให้เด็กของเขานิยมการปกครองอย่างวิธีของ Fascism ได้ แต่เราจะสอนคนไทยให้นิยมการปกครองอย่าง absolute monarchy ได้หรือไม่? ฉันสงสัยมาก เพราะถ้าทำเดี๋ยวนี้ (2475) มันช้าเกินไปเสียแล้ว ความนิยมและนับถือในพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ฉันเห็นว่าจะกลับให้ฟื้นขึ้นอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนที่เป็นบิดาของเด็กๆ ที่กำลังเรียนอยู่เดี๋ยวนี้ เคยชินและชอบการนินทาพระเจ้าแผ่นดินเสียจนติดตัวแล้ว…” (สนธิ เตชานันท์, 2545, 286-287)

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำครั้งนั้นแสวงหาหนทางที่จะหล่อหลอมความคิดของอาณาประชาราษฎร์ให้นิยมการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อกอบกู้ภาวะความตกต่ำของระบอบท่ามกลางความเสื่อมทรุดของศรัทธาในหมู่ชนครั้งนั้น

ดังปรากฏความรู้สึกนึกคิดมากมายบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น (อัจฉราพร กมุทพิสมัย, 2532) มิพักที่จะอนุมานถึงการวิพากษ์วิจารณ์กันภายในครอบครัว ในหมู่เพื่อน หรือแม้แต่ในความคิดของผู้คน ทว่า ความพยายามหล่อหลอมความคิดของรัฐบาลระบอบเก่ายังมิได้เริ่มต้น เนื่องจากการปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้นก่อน

การ์ตูนสะท้อนชนชั้นนำขูดรีดภาษีจากราษฎร ศรีกรุง 5 สิงหาคม 2474
เครดิตภาพ : แมทธิว โคปแลนด์

พลันเมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นอันได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยความไม่จัดเจนในเกมการเมือง ทำให้คณะราษฎรเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และกลุ่มอนุรักษนิยมที่เริ่มตีกรอบพลังของการปฏิวัติ และเข้ายึดกุมทิศทางของรัฐธรรมนูญ การบริหารราชการแผ่นดิน การยุติ “สมุดปกเหลือง” ที่ต้องการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ

ตามด้วยการรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกา (1 เมษายน 2476) การปิดสภาผู้แทนฯ การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การรวบอำนาจการออกกฎหมายมายังรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงผู้กุมกำลังทหารใหม่ พร้อมเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ ออกนอกประเทศ

การตอบโต้การปฏิวัติทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยมอันเป็นช่วงปีแรกภายหลังการปฏิวัติ ทั้งนี้ ทิศทางการเมืองเช่นนี้ ไม่เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย

การ์ตูนสะท้อนระบบอุปถัมภ์ของรัฐบาลครั้งระบอบเก่า สยามรีวิว 25 สิงหาคม 2470
เครดิตภาพ : แมทธิว โคปแลนด์

รัฐบาลอนุรักษนิยม

กับการปัดฝุ่นการปลูกฝังอุดมการณ์

ภายหลังที่คณะราษฎรพลาดพลั้งทางการเมืองจนทำให้รัฐบาลอนุรักษนิยมเข้าควบคุมทิศทางการเมืองและการทหารได้แล้ว

แต่คนไทยและคนต่างชาติจำนวนมากขณะนั้นเห็นว่า ไทยย้อนกลับคืนสู่ระะบอบเดิมก่อนการปฏิวัติ 2475 แล้ว โดยมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยินดีปรีดาที่มีการฟื้นฟูระบอบเก่าให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ (ยาตาเบ, 94)

จากนั้น การควบคุมข่าวสารและหล่อหลอมหล่อมเกลาความคิดของผู้คนให้ผู้คนศรัทธาต่อระบอบเก่าและไม่ต่อต้านการหมุนกลับ ด้วยการตั้งหน่วยงานที่ควบคุมข้อมูลความรู้ข่าวสารต่อประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

การตั้งกองโฆษณาการไทยเป็นแนวคิดของ พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม และ รมต.กลาโหมสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ (2475-2476) เคยเป็นองคมนตรีไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

เขาสนใจการตั้งกระทรวงโฆษณาของเยอรมนีขึ้นในไทย เขาได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดตั้งหน่วยงานดูแลข้อมูลข่าวสารขึ้น

พระยาราชวังสันและพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ไพโรจน์ ชัยนาม อดีตข้าราชการกรมโฆษณาการ เล่าว่า ตัวเขาเคยเห็นข่าวตัดเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงโฆษณาการสมัยฮิตเลอร์จำนวนมากบนโต๊ะทำงานของพระยาราชวังสัน

“ท่านคงจะได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้เป็นผู้ควบคุมดำเนินงานเรื่องนี้แน่นอน” (ไพโรจน์, 2538, 22-23)

โดยลำดับแล้ว ภายหลังการรัฐประหารด้วย พ.ร.ฎ. (1 เมษายน) ติดตามด้วยจัดตั้งกองโฆษณาการขึ้น (3 พฤษภาคม 2476) โดยอ้างว่า เพื่อจัดระเบียบข่าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจำกัดเสรีภาพของการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ รวมทั้งการแสดงออกของประชาชน

รวมทั้งเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่เคยกำหนดให้มีกลางเดือนเมษายนนั้นเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าเตรียมการไม่ทัน

ทำให้เกิดความสงสัยในหมู่ชนว่า รัฐบาลกำลังเตรียมรื้อฟื้นระบอบเก่าขึ้นมาอีกครั้ง (ยาตาเบ, 92)

ดังนั้น ช่วงที่รัฐบาลอนุรักษนิยมต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ด้วยการลิดรอนอำนาจคณะราษฎร ตามด้วยจัดตั้งหน่วยงานโฆษณาการขึ้นมาใหม่ เป็นได้ว่า รัฐบาลปรารถนาใช้หน่วยงานใหม่ในการควบคุมข่าวสาร ควบคุมหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปฏิวัติ ดังที่รัฐบาล โดยพระยาราชวังสัน ให้ “หนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา” ของนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนให้ยุติกิจการเสีย (ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2566) เพื่อมิให้เกิดการโน้มน้าวความคิดเห็นประชาชนให้สนับสนุนคณะราษฎร

การรัฐประหาร 2476 ล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นใหม่

การตอบโต้กลับของคณะราษฎร

ในที่สุด คณะราษฎรทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมลง เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อยุติบทบาทของรัฐบาลที่ขัดขวางความเปลี่ยนแปลงและความพยายามพลิกฟื้นระบอบเก่า พร้อมคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย คืนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม คืนการแบ่งแยกอำนาจสู่การปกครอง รวมทั้งการเรียกตัวนายปรีดีที่ถูกเนรเทศกลับมาคืนมาตุภูมิ โดยพระยาพหลฯ ได้เรียกตัวนายปรีดีกลับมาช่วยงานรัฐบาลอีกครั้ง (บรรณากรโกวิท, 2530, 21) นายปรีดีกลับมาถึงไทย 29 กันยายน 2476

ภายหลังการโค่นล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมลงแล้ว การลงโทษรัฐบาลเก่าในฐานะผู้ทำลายรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลมอบให้สภาผู้แทนฯ พิจารณา โดยรัฐบาลนั้นต้องการให้สภามีมติลงโทษรัฐบาลเก่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่สภาเห็นสมควร

แต่เมื่อตั้งรัฐบาลพระยาพหลฯ ขึ้นแล้ว เกิดความคิดแบบทางสายกลางที่ต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีก ส่งผลให้ความคิดที่จะลงโทษรัฐบาลเก่าจึงจางหายไป

อย่างไรก็ตาม ในความคิดของเหล่าคนหนุ่มสมัยนั้นเห็นว่า ควรลงโทษพระยามโนปกรณ์ฯ

ดังเมื่อ 30 มิถุนายน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงเรียนกฎหมายเดิม) ราว 400 คนเดินจากโรงเรียนกฎหมายที่ผ่านฟ้าไปตามถนนราชดำเนินเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาที่วังปารุสกวัน เพื่อให้รัฐบาลใหม่ไต่สวนลงโทษพระยามโนฯ ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญ

ปกหนังสือ คณะกฎหมาย 2476 ที่เหล่านักเรียนกฎหมายทำแจกจ่ายเพื่อเทิดรัฐธรรมนูญ

นายเซ่งตัน เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มยื่นหนังสือประณามรัฐบาลพระยามโนฯ และขอให้มีการลงโทษด้วย เนื่องจากการกระทำของพระยามโนฯ เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ

ข้อความในหนังสือประท้วงระบุว่า “เมื่อใดมีการละเมิดรัฐธรรมนูญขึ้น และในเมื่อสภาพและโอกาสเปิดช่องว่างให้เราทำได้แล้ว เมื่อนั้นเราจะไม่ยอมละเว้นเป็นอันขาด เราจึงต้องยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องตามหน้าที่พลเมืองที่จงรักภักดีต่อชาติ ไม่เลือกหรือเห็นแก่หน้าบุคคล และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคณะใดๆ ทั้งสิ้น”

เมื่อพระยาพหลฯ รับหนังสือแล้ว เขาตอบแก่นักศึกษาเหล่านั้นว่า รัฐบาลคณะราษฎรไม่ต้องการอาฆาตกันต่อไป จึงได้ทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยให้นักศึกษาเลิกแล้วต่อกัน (silpa-mag.com/history/article54143)

ดังนั้น การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 หาได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญเหมือนครั้งอื่นๆ ที่ตามมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ รวมทั้งพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองโฆษณาที่จะสร้างอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยไปเป็นการส่งเสริมด้วยการเผยแพร่ประชาธิปไตยแทน