ย้อนปมทางเลื่อนโหด ดูด ‘ผู้โดยสาร’ ขาขาด แฉซ้ำ-ไม่ใช่ครั้งแรก ‘ดอนเมือง’ แจงพัลวัน

เป็นประเด็นความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย แต่กลับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

สำหรับอุบัติเหตุทางเลื่อนอัตโนมัติ ที่กลายเป็นประเด็นดูดรองเท้า สิ่งของของผู้โดยสาร จนเกิดความเสียหายและบาดเจ็บ ดังที่เห็นตามข่าวอย่างแพร่หลาย

แต่ครั้งนี้ถือเป็นเหตุที่รุนแรง เมื่อนักธุรกิจหญิงถูกบันไดทางเลื่อนดูดเข้าไปทั้งขา จนเป็นเหตุให้ขาขาด บาดเจ็บสาหัส

ยิ่งไปกว่านั้น สถานที่เกิดเหตุ ก็คือสนามบินดอนเมือง ที่มีปริมาณผู้โดยสารเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเมื่อย้อนดูเหตุการณ์ในอดีต ก็พบว่ามีปัญหาลักษณะเดียวกันหลายต่อหลายครั้ง เพียงแต่ความเสียหายไม่รุนแรง และเหตุการณ์ก็เงียบหายไปโดยไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ

จนกระทั่งมาปะทุขึ้นอีกครั้ง และรุนแรงขนาดที่ผู้เสียหายต้องสูญเสียอวัยวะ

จึงเป็นเรื่องสืบสวนให้กระจ่าง ว่าสาเหตุที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำ

ไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้ และกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่สำคัญคือต้องมีคนรับผิดชอบ จะปล่อยให้เงียบหายไม่ได้เป็นอันขาด

ตรวจสาเหตุ

ทางเลื่อนดอนเมืองดูดขาขาด

เหตุระทึกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มิถุนายน พ.ต.ท. จิระโรจน์ ประสานเศรษฐชัย สว.สส.สน.ดอนเมือง รับแจ้งจากท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เกิดเหตุผู้โดยสารเพศหญิงเท้าติดทางเลื่อนบริเวณทางเดินอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ขณะกำลังจะเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังนครศรีธรรมราช

สำหรับผู้บาดเจ็บคือ น.ส.กิตติรัตนา สุพรรณี เป็นผู้โดยสารสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD552 ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช ขณะเดินทางใช้ทางเลื่อนที่ 2 ระหว่าง Pier 4-Pier 5 ขาออกอาคาร 2 ภายในประเทศ เกิดอุบัติเหตุขาข้างซ้ายเข้าไปติดกับสายพานทางเลื่อน ทำให้ขาข้างซ้ายขาดได้รับบาดเจ็บสาหัส นำส่งโรงพยาบาลภูมิพล ก่อนญาติประสานให้ส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ขณะที่สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ เท่าที่ประมวลจากการให้ข้อมูลจากนายกฤตย์ กิตติรัตนา ลูกชาย ระบุว่าวันเกิดเหตุ น.ส.กิตติรัตนา เดินทางไปทำธุรกิจที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเดินทางด้วยเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง โดยมีสามีเป็นคนไปส่ง เมื่อส่งเสร็จ ก็เดินทางกลับ แต่ต่อมาช่วงเช้าได้รับโทรศัพท์จากภรรยาว่าเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเดินทางกลับไปดูพบว่า น.ส.กิตติรัตนา ถูกทางเลื่อนดูดเข้าไป ขาซ้ายบาดเจ็บสาหัส

เบื้องต้นเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมการแพทย์ ทหารอากาศ ซึ่งทีมแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถต่อขาข้างที่ขาดได้

ต่อมาผู้บาดเจ็บขอย้ายไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เนื่องจากมีประวัติการรักษาอยู่ที่ดังกล่าว และได้รับการผ่าตัดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งผลผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ยังต้องพักในห้องปลอดเชื้อ ขณะที่ครอบครัวเป็นห่วงเรื่องสภาพจิตใจ ที่จะต้องกลายเป็นคนพิการ

ส่วนเรื่องราววันเกิดเหตุ นายกฤตย์ระบุว่า ตอนเกิดเหตุคุณแม่เดินอย่างปกติ จนกระทั่งใกล้จุดสิ้นสุดทางเลื่อน (ประมาณ 2-3 แผ่นเหล็กแพลตฟอร์ม ทางเลื่อนแผ่นหนึ่งก็ยุบตัวลง และดูดขาคุณแม่ลงไป และระบุว่าตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงการเข้าช่วยเหลือกู้ภัย ใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งหากใช้เวลาน้อยกว่านี้จะช่วยลดความสูญเสีย หรืออาจจะไม่ต้องเสียขา และระบุว่าทุกวินาทีที่ติดอยู่ในเครื่องเป็นวินาทีที่ทรมานที่สุดในชีวิต

โดยหลังจากนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และขอให้อนุญาตตัวแทนครอบครัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมคณะทำงานตรวจสอบ

พร้อมยืนยันว่าไม่ต้องการให้ลงโทษบุคคลใด แต่เพื่อพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกๆ คน

อุบัติเหตุซ้ำ

ประสานนักวิชาการหาสาเหตุ

หลังเกิดเหตุ นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) กล่าวว่า ตรวจสอบระบบการทำงานของทางเลื่อนในอาคารผู้โดยสารที่เกิดเหตุแล้ว ปกติจะมีการบำรุงรักษา (Maintenance) รายเดือน 3 เดือน และ 1 ปี แต่มีการตรวจเช็กการทำงานทุกวัน

หากพบว่าซี่หวีทางเลื่อนหัก 2 ซี่ติดกันจะเปลี่ยนทันที ซึ่งการตรวจสอบของวันที่ 29 มิถุนายน ยังไม่ได้รับรายงานความผิดปกติใดๆ เบื้องต้นหยุดให้บริการทางเลื่อนทั้ง 20 เครื่องชั่วคราวแล้ว เพื่อตรวจเช็กความปลอดภัย และหาสาเหตุว่าที่เหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเกิดจากสาเหตุใด อาทิ ล้อกระเป๋าของผู้บาดเจ็บไปกระแทกจนซี่ทางเลื่อนแตกหนักหรือไม่ หรือระบบมีการสะดุดก่อนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป

จากนี้เราจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าว โดยจะเชิญหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วม ตรวจสอบการทำงานด้วย เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ โดยจะรีบหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ทางเลื่อนทั้ง 20 เครื่อง แบ่งเป็น เครื่องใหม่ 6 เครื่อง เครื่องเก่า 14 เครื่อง ซึ่งมีการติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 โดยทางเลื่อนดังกล่าวเป็นยี่ห้อฮิตาชิ และอยู่ในการดูแล และบำรุงรักษา โดยบริษัท สยามฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ จำกัด บริษัทในกลุ่มสยามกลการ ผู้แทนบริษัท ฮิตาชิ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุทางผู้บริหารได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบแล้ว ส่วนเรื่องจะเอาผิด หรือจะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทหรือไม่นั้น ต้องไปดูรายละเอียดสัญญาการซื้อขายอีกครั้ง

ด้านนายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงผลการลงพื้นที่ตรวจสอบทางเลื่อนว่า เบื้องต้นพบมีการแตกหักของแผ่นหวีและในบางชิ้นส่วนของหวีแตกหักลักษณะเป็นรูปโค้งของวงกลม อาจเกิดจากการขัดกันระหว่างวัสดุสองชนิดในช่วงเกิดเหตุ

พบว่าแผ่นทางเลื่อนที่หลุดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่บิดงอ หล่นอยู่ใต้ท้องของกล่องทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นระยะประมาณ 10 เมตรจากจุดเกิดเหตุ ลักษณะแผ่นพื้นหลุดดังกล่าว บ่งชี้ว่าน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด

จากการสันนิษฐานการเกิดอุบัติเหตุ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นซึ่งอาจเป็นล้อของกระเป๋าเดินทางไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้จึงเกิดการขัดตัวจนปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อน เกิดการกระดกจนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าวหล่นลงไปในช่องว่างในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บ

แต่ก็ต้องสอบสวนโดยละเอียดต่อไป

ทางเลื่อนดูดขา

ย้อนรอยเกิดซ้ำซาก-ตร.จี้คดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปพบว่า กรณีนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะเมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ก็เคยมีเหตุผู้โดยสารที่ใช้ทางเลื่อนสนามบิน เมื่อมาถึงสุดทางเลื่อนกำลังจะก้าวออกไป ก็มีแรงดึงรองเท้าจากพื้นทางเลื่อนให้ติดอยู่กับทางเลื่อน ดึงยังไงก็ยกเท้าขึ้นไม่ได้ จึงตัดสินใจถอดรองเท้าออก จังหวะนั้นรองเท้าก็ถูกทางเลื่อนดูดหายวับไปด้านในทันที เมื่อสังเกตปลายทางเลื่อนพบว่าชำรุดอยู่ เป็นเหตุให้รองเท้าถูกดูดเข้าไป เมื่อเปิดแผ่นเหล็ก ก็พบรองเท้าในสภาพเละ

หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ในวันที่ 6 กันยายน 2562 ท่าอากาศยานดอนเมืองชี้แจงอุบัติเหตุดังกล่าวว่า ได้เปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดและทดสอบการใช้งานทางเลื่อนทันที เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานตามปกติ พร้อมซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกันและตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์ลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

โดย ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทยของผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อควบคุม ตรวจสอบและบำรุงรักษา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบสถานการณ์การทำงานของอุปกรณ์ทางเลื่อน 8 รอบต่อวัน เพื่อเฝ้าระวังหรือตรวจสอบความผิดปกติของอุปกรณ์

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานดอนเมือง ยังติดตั้งเสาสัญญาณเสียง-สัญญาณไฟไว้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้โดยสาร สำหรับเตือนการใช้งานก่อนการเข้าใช้และระหว่างการใช้งานก่อนสิ้นสุดทางเลื่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เตรียมตัวก่อน

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ก็เกิดเหตุลักษณะเดียวกัน แต่เป็นเด็กที่ลงบันไดเลื่อนพร้อมแม่ โดยยืนชิดกับตัวบันได และใส่รองเท้ายาง เสียดสีและถูกดูดเข้าไปซอกบันไดเลื่อน ขณะที่เท้าเข้าไปติดบันไดเลื่อนหยุดทำงาน จึงทำให้น้องได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกระดูก เป็นแผลบริเวณหลังเท้าเย็บ 11 เข็ม

เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นในสนามบินชั้นนำของประเทศ

ด้าน พ.ต.อ.อดิเรก ทองแกมแก้ว ผกก.สน.ดอนเมือง ระบุว่า สั่งเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เร่งรัดหนังสือเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล โดยคดีแพ่ง ท่าอากาศยานไทยเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนคดีอาญาต้องรอสอบปากคำผู้เสียหาย แต่จะสอบสวนนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน และวิศวกรจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และภาพวงจรปิด เพื่อสรุปสำนวนส่งศาล

ยันคดีไม่ล่าช้า และพร้อมดำเนินการให้ลุล่วงโดยเร็ว