‘พีระพันธุ์’ ทิ้ง ส.ส. ยืนเคียงข้าง ‘บิ๊กตู่’ จนวินาทีสุดท้าย ลุ้น ‘ส้มหล่น’ แม้ริบหรี่

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามติสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดที่ 26 เทคะแนนแบบเอกฉันท์เลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่

แม้ก่อนหน้านี้การชิงตำแหน่งดังกล่าวจะค่อนข้างอีนุงตุงนัง เหตุเพราะทั้งพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งมี ส.ส. 151 เสียง พรรคเพื่อไทย (พท.) มี ส.ส.อยู่ในมือ 141 เสียง น้อยกว่าก้าวไกลแค่ 10 ที่นั่ง ต่างฝ่ายจึงแสดงออกถึงความชอบธรรม ยกสารพัดเหตุผลที่ต้องครอบครองเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติเอาไว้ โดยไม่มีท่าทีว่าจะยอมถอยให้กันได้เลย

กระทั่งศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ลากยาวมาจนวันสุดท้ายก่อนเปิดประชุมสภา ท้ายที่สุด เพื่อความสมานฉันท์ของ 8 พรรคร่วม และให้การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลไม่สะดุด พลิกให้ขั้วตรงข้ามได้เปรียบ พรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจทาบทามนายวันมูหะมัดนอร์ เพื่อเข้าชิงตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติในครั้งนี้ และได้รับฉันทามติจากสมาชิกแบบไร้คู่แข่ง

ตามกระบวนการเมื่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานได้รับการโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว คิวต่อไปนั่นคือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชัดเจนว่า 8 พรรคร่วมฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล จะส่งชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าชิงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว

 

ขณะที่อีกฟาก โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรืออีกหัวโขนตำแหน่งทางการเมืองที่สวมอยู่ นั่นคือ ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภายหลังผลการเลือกตั้งออกมา บทบาททางการเมือง “บิ๊กตู่” กลับนิ่ง สงบ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทีอะไรออกมาเท่าไรนัก

แม้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภายใต้การนำของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นจุดขาย จนทำให้พรรคได้รับความไว้วางใจจากประชาชน มาเป็นลำดับที่ 3 ด้วยคะแนน 4,766,408 เสียง ส่งผลให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คน เมื่อรวมกับ ส.ส.แบบแบ่งเขต ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มี ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนฯ ในสภา 36 คน

“อย่าเสียใจอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเสียใจ ถือว่าได้คะแนนเสียงมาจากประชาชนที่รักเรามากพอสมควร แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จ ซึ่งก็พอทราบว่าเกิดเพราะอะไร พรรคของเราก็ต้องมีการรีแบรนดิ้ง เพราะมีแต่คนสูงวัย แต่ก็จะต้องเดินต่อไปในการทำงาน ย้ำว่าเราต้องไม่ขัดแย้งอะไรกันทั้งสิ้น” นี่คือถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้กับกลุ่ม ส.ส.เมื่อวันประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จัดติวเข้ม ส.ส.ใหม่ ก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ฉะนั้น ด้วยคะแนนเสียงที่ได้รับ หากเกมไม่พลิกขั้วกลับไปกลับมา โอกาสที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะรับบทเป็นฝ่ายค้านในสภาย่อมมีสูง ประกอบกับบทบาทของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีสถานะตำแหน่งเป็น ส.ส.ด้วยแล้ว หลายฝ่ายจึงจับตาว่าเส้นทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ยิ่งช่วงหลังมานี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีชัดเจนทั้งการงดจ้อการเมือง หลายครั้งหลายคราสวมบทเตมีย์ใบ้ เลี่ยงตอบคำถามนักข่าว

จึงเป็นที่จับตาว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อเสร็จภารกิจเลือกตั้ง ส่งลูกพรรคเข้าเป็น ส.ส.ได้ 36 คนแล้ว “บิ๊กตู่” จะตัดสินใจหันหลังให้งานการเมือง ทิ้งพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือไม่

ประกอบกับมีการเก็บข้าวเก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อเตรียมส่งคืนห้องให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกด้วย

 

ด้าน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ขออยู่เคียงข้าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีจนวินาทีสุดท้ายในการทำงานและการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของคนไทยและประเทศไทย

“ผมไม่มีวันทิ้งคนดีที่ตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ที่รักชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติยิ่งชีวิต อย่าง ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ ไม่ต้องกังวลนะครับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มี ส.ส.มือเก๋าที่มีประสบการณ์สูงหลายคนที่สามารถดูแลงานในสภาได้ไม่น้อยไปกว่าผม รวมทั้ง ส.ส.ใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีหัวใจเดียวกัน จึงไม่เป็นปัญหาอุปสรรคใดในการทำงานของพรรคในสภา” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเอาไว้

แน่นอนว่า คำประกาศของหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ออกมานั้น ไม่รู้ว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรที่จะเชื่อมโยงไปยัง “บิ๊กตู่” ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะตัดสินใจวางมือทางการเมือง

ทว่า อีกกระแสหนึ่งกลับมองว่า ส้มอาจจะหล่นใส่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยก็ได้ หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ไม่สามารถฝ่าด่าน 376 เสียงได้ หรือแม้กระทั่งฝ่าอุปสรรคเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.จากการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไปไม่ไหว

โดยเฉพาะท่าทีของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคนที่ออกตัวไม่เอานายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายแก้ไขประมวลอาญามาตรา 112 พร้อมการันตีว่า “นายพิธา” จะวืดนั่งนายกฯ เพราะมีเสียงหนุนไม่ถึง 376 เสียง

และมองว่า “บิ๊กตู่” ตอบโจทย์ที่สุดที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป

 

หากมีสัญญาณว่าพร้อมไปต่อทางการเมือง โอกาสที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะส่งชื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ย่อมได้ และแนวโน้มที่จะได้รับเสียงหนุนจาก ส.ว.ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน

ยิ่งกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แตกต่างจากการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภา ซึ่งใช้เพียงเสียงข้างมาก แต่การจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องฝ่าด่าน คว้าเสียงของรัฐสภาทั้งจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันให้ถึง 376 เสียง จึงจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องเสร็จสิ้นภายในระยะเวลากี่วัน เพราะฉะนั้น จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะได้นายกรัฐมนตรีภายในวันที่เท่าใด จะจบได้ในการโหวตชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในครั้งแรกได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าหากขั้นตอนราบรื่น ไม่มีสะดุด กระบวนการทุกอย่างน่าจะจบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อจะเดินหน้าฟอร์ม ครม.ในขั้นตอนต่อไป

ฉะนั้น ยิ่งใกล้วันโหวตนายกรัฐมนตรีมากขึ้นเท่าใด สัญญาณการเมืองคงเข้มข้นอย่างแน่นอน และแม้โอกาสของ “บิ๊กตู่” คัมแบ๊กจะริบหรี่ แต่การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การรอ “ส้มหล่น” จึงยังไม่จบสิ้น