เลือกตั้งกัมพูชา เกมสืบทอดอำนาจ ‘ฮุน เซน’ สู่ ‘ฮุน มาเนต’

เหลือเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกัมพูชาราว 9.7 ล้านคน จากประชากรในประเทศทั้งสิ้นกว่า 16 ล้านคน ก็จะได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งมีที่นั่งในรัฐสภาให้ชิงชัยกันทั้งสิ้นจำนวน 125 ที่นั่ง

เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นำทัพผู้สมัครจากพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของเขา ลั่นกลองเปิดการรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการ

ซึ่งหนึ่งในบรรดาผู้สมัครของพรรคซีพีพี ที่ลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้มี พล.อ.ฮุน มาเนต วัย 45 ปี บุตรชายคนโตหัวแก้วหัวแหวนของฮุน เซน ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 70 ของกองทัพกัมพูชารวมอยู่ด้วย ที่ก็ได้เปิดตัวกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาไปเป็นที่เรียบร้อย

ประโยคหนึ่งที่ฮุน เซน กล่าวในระหว่างการปราศรัยหาเสียงในวันนั้นบอกว่า เขาคาดว่าจะสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งและต้องการให้ลูกชายคนโตสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา

 

เป็นการตอกย้ำถึงแผนการสืบทอดอำนาจที่ฮุน เซน ผู้กุมอำนาจในกัมพูชาไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จมายาวนานถึง 38 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่อยู่ตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลกคนหนึ่ง ได้วางเอาไว้และส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ถึงการจะถ่ายโอนอำนาจในมือให้กับลูกชายคนโตของเขาได้ควบคุมเอาไว้อย่างแข็งแกร่งเช่นเดียวกับตนเองสืบไป

ที่ผ่านมาฮุน เซน ดำเนินกุศโลบายแยบยลหลากหลายวิธี โดยเฉพาะการใช้กลไกอำนาจรัฐ เป็นเครื่องมือในการแผ้วถางทางเพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้และยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้ต่อไปในการวางฐานอำนาจที่เข้มแข็งให้กับบุตรชายผู้สืบทอดอำนาจของตนเอง

โดยก่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาจะเปิดฉากขึ้น เราได้เห็นการเดินเกมขจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองของฮุน เซน อันหลากหลาย

เริ่มจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาประกาศตัดสิทธิพรรคแสงเทียน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักเพียงพรรคเดียวที่จะสามารถท้าทายพรรคซีพีพีของฮุน เซน ได้ ออกจากสนามเลือกตั้ง ด้วยการอ้างว่าพรรคแสงเทียนไม่ได้ยื่นเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมายเลือกตั้งของกัมพูชาที่มีการแก้ไขใหม่ได้ทันเงื่อนเวลาที่กำหนด

เมื่อพรรคแสงเทียนยื่นอุทธรณ์คัดค้านการตัดสิทธิ์ดังกล่าว ก็ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลฮุน เซน เช่นกัน ปัดตกคำร้องไป

ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีพรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งมีรวมทั้งสิ้น 18 พรรค นอกจากพรรคซีพีพีที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งแล้ว ที่เหลือก็เป็นเพียงพรรคเล็กๆ เท่านั้น

 

ก่อนหน้านั้น สถานีวิทยุเสียงประชาธิปไตย (Voice of Democracy radio) หนึ่งในสื่ออิสระของกัมพูชา ต้องยุติการดำเนินงานลง หลังจากถูกทางการกัมพูชายึดคืนใบอนุญาตออกอากาศ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าองค์กรสื่อแห่งนี้นำเสนอรายงานที่กล่าวหาว่า พล.อ.ฮุน มาเนต ทำเกินอำนาจหน้าที่ ในประเด็นปัญหาหนึ่ง

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลกัมพูชามีคำตัดสินโทษจำคุกนายเขม โสกา อดีตหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว เป็นเวลา 27 ปี ในฐานความผิดร้ายแรงที่เขาถูกกล่าวหาว่าสมคบต่างชาติมุ่งโค่นล้มรัฐบาลฮุน เซน เป็นอุบายที่ขจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองสำคัญของฮุน เซน ไปได้อีกหนึ่ง

ไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐสภากัมพูชายังเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดบทลงโทษให้ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคต หากบุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวของรัฐสภากัมพูชา ถูกตีตราว่ามีเป้าหมายที่จะใช้ทำลายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลฮุน เซน ที่เรียกร้องให้บอยคอตต์การเลือกตั้งครั้งนี้

 

กลอุบายเหล่านี้เหมือนเป็นการฉายซ้ำภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในปี 2018 ที่ฮุน เซน ใช้ขจัดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ท้าทายตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

หรือการที่ศาลกัมพูชาสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ไม่กี่เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่าพรรคซีเอ็นอาร์พีสมคบกับกองกำลังต่างชาติเพื่อมุ่งโค่นล้มอำนาจฮุน เซน จนทำให้สมาชิกพรรคซีเอ็นอาร์พีแตกกระเจิง หลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อหนีการถูกจับกุมดำเนินคดีจากการถูกตั้งข้อหาร้ายแรงดังกล่าว

และนั่นเป็นผลให้พรรคซีพีพีกวาดที่นั่งในรัฐสภามาครอบครองได้ทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนั้น

การประกาศวางตัว ฮุน มาเนต ให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อจากตนเองของฮุน เซน ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยฮุน มาเนต ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกลางของพรรคซีพีพีให้เป็นผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอย่างเป็นเอกฉันท์

ทำให้มีการจับตาถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวของฮุน มาเนต ว่าอย่างเร็วที่สุด ก็อาจจะเป็นในเดือนกันยายนที่จะถึง เมื่อรัฐบาลชุดใหม่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว หรือไม่อย่างช้าที่สุดก็อาจจะเป็นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2028

แต่เชื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ฮุน เซน ก็จะยังคงเป็นเงาอำนาจที่ครอบงำอยู่เบื้องหลังลูกชายตนเองอยู่ดี