‘รัฐสภา’ ที่ควรเป็น

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘รัฐสภา’ ที่ควรเป็น

 

หลังเลือกตั้ง ความขัดแย้งหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ที่ประชาชนแสดงเจตจำนงผ่านผลการเลือกตั้งให้มาร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อนำประเทศก้าวผ่านการสืบทอดอำนาจของ “คณาธิปไทย” ซึ่งวางแผนแช่แข็งประเทศผ่านการทำรัฐประหาร และออกแบบสบลายพลัง “ประชาธิปไตย” กลับมาขัดแย้งกันเอง

จนเกิดภาพเปิดศึกแย่งเก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่ต้องทำหน้าที่ “ประธานรัฐสภา”

การแตกคอระหว่าง “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่หากมองในภาพรวมดูละเป็นผลเสียต่อประชาธิปไตยเพราะสร้างความอึดอัดให้กับประชาชนที่ร่วมแสดงเจตจำนง

เลยไปถึงการก่อให้เกิดความขัดแย้งที่เสี่ยงต่อการก้าวข้ามการสืบทอดอำนาจไม่สำเร็จ

แต่มองอีกด้านความเห็นต่างในเรื่องใคร หรือคนจากพรรคไหนควรจะเป็นประธานสภา กลับทำให้ได้รับรู้ถึงความเข้าใจในบทบาท “รัฐสภา” ของคนไทย ว่าเข้าใจแค่ไหนถูกทางหรือไม่ในความคิด ทั้งของนักการเมืองเอง และประชาชนทั่วไป

ยิ่งดูจากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2566” ในคำถาม “ประธานสภาผู้แทนราษฎรควรมีลักษณ์อย่างไร” โดยเลือกได้หลายคำตอบ

 

ความเห็นที่มากที่สุด ร้อยละ 76.72 สามารถทำงานให้กับทุกพรรคการเมืองด้วยความเป็นกลางได้, ร้อยละ 28.63 มีประสบการณ์ในฐานะ ส.ส.หลายสมัย, ร้อยละ 26.34 ต้องจบกฎหมาย, ร้อยละ 24.89 ต้องเป็นที่ยอมรับของ ส.ส., ร้อยละ 16.41 ต้องมาจากพรรคที่เป็นรัฐบาลเท่านั้น, ร้อยละ 16.41 ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคเดียวกับนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 15.65 ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่งก็ได้, ร้อยละ 14.05 มาจากพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านก็ได้, ร้อยละ 13.36 ต้องเป็นจากพรรคอันดับหนึ่งในสภาเท่านั้น, ร้อยละ 13.05 ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในฐานะ ส.ส.หลายสมัย, ร้อยละ 10.92 ไม่จำเป็นต้องจบกฎหมาย, ร้อยละ 7.10 ต้องมาจากพรรคเดียวกับนายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 6.65 เป็น ส.ส.คนไหนก็ได้, ร้อยละ 2.09 สามารถผลักดันร่างกฎหมายของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดได้, ร้อยละ 0.46 ต้องมาจากพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

ก่อนหน้านั้นมีการให้เหตุผลในคุณสมบัติของประธานสภาที่แตกต่างกัน

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรเน้นที่การยอมรับของ ส.ส.ในภาพรวม มีภาพความเป็นกลาง เป็นศักดิ์ศรีของพรรค และอื่นๆ ที่พร้อมทำหน้าที่อย่างที่เคยเป็นมาอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่อีกฝ่ายชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนบทบาทของการทำหน้าที่ของ “ประธานสภา” เพื่อให้บทบาทของ “รัฐสภา” เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธาได้ในหมู่ประชาชน ไม่ปล่อยสมาชิกมีภาพเหลวไหล ทั้งข้อกล่าวหา “งูเห่า” และ “กินกล้วย” เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองมากกว่า พร้อมกับการแสดงให้เห็นถึงการไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำหน้าที่จนการประชุมสภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องทำให้ “รัฐสภา” กลับมาทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

โดยผู้นำหน้าที่ “ประธาน” อันถือว่า “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” จะต้องรับผิดชอบบริหารให้เกิดการตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิก ให้ทำงานโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมนทุกช่องทางที่เป็นไปได้

 

เมื่อเทียบกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ดูเหมือนว่าความเข้าใจของประชาชน ยังอยู่ดีภาพที่ “ฝ่ายแรก” ให้มากกว่า คือเป็นกลาง มีประสบการณ์ อันเป็นมุมมองแบบเก่ามากกว่า

แต่คำถามคือว่า ประสิทธิภาพการสร้างกฎหมายให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ อันเป็นหน้าที่หลักของรัฐสภานั้น จะถูกทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างไรว่าคือความจำเป็น หากหวังให้เกิดการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรือง

จะก้าวข้ามการทำหน้าที่แบบเดิมได้อย่างไร

การอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจว่า จำเป็นต้องปรับบทบาทของรัฐสภา ให้หวังได้ในคุณภาพในการทำหน้าที่ของสมาชิก โดยอาศัย “ประธาน” ที่มีความเข้าใจความจำเป็นต้องเปลี่ยนได้อย่างไร

ดูเหมือนว่าความคุ้นชิน จนกลายเป็นยอมรับในความผิดปกติ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนักการเมืองที่ได้ประโยชน์เท่านั้น แม้แต่ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง กลับดูเหมือนว่าถูกความคุ้นชินนั้นชักนำความเข้าใจไปในทางยอมรับความผิดปกติ ไม่ต่างกัน