ทฤษฎี (ส.ส.-ส.ว.) หน่วยสุดท้าย | ดาวพลูโต

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราอาจเคยได้ยิน “ทฤษฎีหน่วยสุดท้าย” หรือ “Marginality Theory” ซึ่งหน่วยสุดท้ายของสินค้าเหล่านั้น กลายเป็นสิ่งกำหนดราคาของสินค้านั้นทั้งหมดทุกหน่วยในท้องตลาด

ยกตัวอย่าง สมมุติว่าสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งมีราคาอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน ตลาดมีความต้องการสินค้านี้อยู่ที่ 50 ล้านตัน แต่ปีนี้เกษตรกรสามารถผลิตได้ 55 ล้านตัน มีจำนวนเกินความต้องการอยู่ 5 ล้านตัน จำนวน 5 ล้านตันที่เกินมานี้ จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรนี้ทั้ง 55 ล้านตันตกลงไปทั้งหมด มิใช่ตกแค่เฉพาะ 5 ล้านตันที่เกินความต้องการ

ในทางกลับกันเช่นเดียวกัน หากความต้องการสินค้าเกษตรชนิดนี้อยู่ที่ 50 ล้านตันเช่นเดิม แต่ปีนี้เกษตรกรผลิตได้เพียง 45 ล้านตัน ขาดตลาดไป 5 ล้านตัน จำนวน 5 ล้านตันที่ขาดหายไปก็จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรนี้ ทั้ง 45 ล้านตัน พรุ่งขึ้นทั้งตลาด

กลายเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย เป็นตัวกำหนดราคาของทั้งตลาด แทน 90-95 เปอร์เซ็นต์แรก

เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์แต่บางครั้งก็มักจะหลงลืมจนมองข้ามหลักทฤษฎีนี้

 

เรื่องทฤษฎีหน่วยสุดท้ายสามารถปรับเข้ากับบริบทของรัฐสภาไทย ในหลายยุคหลายสมัย เช่น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีท่านที่ 16 ของไทยและรัฐบุรุษ ปี 2530 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าชื่อกันเพื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งขณะนั้นนับเสียงในสภาแล้วโหวตไว้วางใจผ่านฉลุยอย่างแน่นอน

แต่ฝ่ายที่เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อสีสันทางการเมืองมากกว่าต้องการโค่นล้มรัฐบาล จึงเกิดการล็อบบี้ให้ ส.ส.ที่เข้าชื่อขอเปิดอภิปราย ให้มาถอนชื่อออกจากญัตติไม่ไว้วางใจ

ปรากฏว่าก่อนถึงวันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทส.ของท่านนายกรัฐมนตรีสามารถล่าลายชื่อได้ 14 คน ยังขาด 1 คนสุดท้ายอยู่

เมื่อนับขณะที่ยังขาด 1 คนสุดท้ายที่จะถอนรายชื่อออกจากญัตติ จึงเข้ากับบริบททฤษฎีหน่วยสุดท้าย (แม้จะผิดฝาผิดตัวไปบ้าง)

ท่านสุดท้ายที่ถอนรายชื่อออกจากญัตติก็มิใช่ใครอื่นไกล คือ คุณชัย ชิดชอบ บิดาของคุณเนวิน ชิดชอบ นั่นเอง ซึ่งกว่าจะได้รายชื่อสุดท้ายมาได้นั้น ทีม ทส.ของท่านนายกฯ ต้องใช้เวลาเจรจามากกว่า 14 ท่านแรกที่ยอมถอนรายชื่อ ต้องใช้เวลาเจรจาอยู่นานจนท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เปิดประชุมสภาช้ากว่ากำหนดเพื่อรอเอกสารถอนชื่อใบสุดท้ายเลยทีเดียว มาทันเวลาสุดท้ายอย่างฉิวเฉียดพอดิบพอดี

ส่งผลให้ญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจมีจำนวน ส.ส.ผู้รับรองไม่ถึง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติต่อไปได้

ตลอด 8 ปี 5 เดือน ของ พล.อ.เปรม จึงไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่ครั้งเดียว สมกับฉายา “รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ”

หรือในสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดตั้งรัฐบาล ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กลับกลายเป็นเก้าอี้ของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.ในพรรคน้อยกว่า

 

ปัจจุบัน แม้ประเทศไทยมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม แต่ยังคงอยู่ในช่วงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ตามบทเฉพาะกาลเป็นระยะเวลา 5 ปี

บทเฉพาะกาลนี้เป็นมรดกตกทอดจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2521 ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นครั้งที่ 2

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในปี 2562 นั้น แม้พรรคเพื่อไทยครองเสียงมากเป็นอันดับ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว. ได้ครบ 376 เสียง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยคะแนนเสียงของ ส.ว.ที่ร่วมกันแต่งตั้งขึ้นมาด้วยตนเอง รวมเข้ากับพรรคเล็กพรรคน้อย จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ยากลำบากนัก และครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 4 ปีเต็ม โดยไม่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเลย

เนื่องจากฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ขาดจำนวนเสียงเป็นจำนวนมากเพื่อให้ถึง 376 เสียง แม้จะโน้มน้าวให้พรรคขนาดเล็กทั้งหมดมารวมกันก็ยังไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะขาดเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ลากตั้งทั้งหลาย

ตลอด 4 ปีเต็มที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ต้องออกแรงเจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลเลยสักครั้ง ทำให้การเมืองนิ่งสงบเหมือนหลับใหลอยู่ตลอด 4 ปี

 

ซึ่งหากย้อนมองกลับมาในมุมพรรคเพื่อไทย ณ ขณะนั้น ที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 หากจะรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายต้นทุนทางการเมือง โดยการยอมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่นแทน นับเป็นรายจ่ายทางการเมืองที่แพงมาก แม้กระนั้นก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

แตกต่างกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 หรือการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนทั่วทุกสารทิศอย่างถล่มทลาย จนฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจได้

แต่การจัดตั้งรัฐบาลของฟากประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 มีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน แตกต่างกันไม่มาก เมื่อรวมกับพรรคอื่นๆ คะแนนเสียงยังไม่เพียงพอที่จะฝ่าด่าน 376 คะแนนเสียงได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการต่อรองกันอย่างหนัก แต่มิใช่จากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 และอันดับ 2 แต่เป็นการต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น และกลุ่ม ส.ว.ที่มีท่านบิ๊กป้อมเป็นหัวหน้าก๊วน

เข้าตามทฤษฎีหน่วยสุดท้าย ไม่ว่าจะเดินหน้า หรือถอยหลัง ไปทางซ้าย หรือมาทางขวา ล้วนมีราคาทางการเมืองที่ต้องจ่าย ล้วนแพงทั้งสิ้น

และไม่ว่าพรรคใดจัดตั้งรัฐบาล คงต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายค้านโหวตให้ ร่วมกับ ส.ว.บางส่วนยกมือให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนี้ ส.ว.เพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของ 376 เสียง กลายเป็นผู้กำหนดชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย มิใช่ 90-95 เปอร์เซ็นต์แรก

หากไม่เชื่อลองดูตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวอย่างได้