บุษบาลุยไฟ

วัชระ แวววุฒินันท์

บุษบาลุยไฟ

 

หากใครเป็นคนที่ชอบละครแนวประวัติศาสตร์ที่นำมาจากข้อมูลจริง อาจจะเคยผ่านตากับละครของสถานีไทยพีบีเอสบ้าง เพราะสถานีนี้ได้สร้างความแตกต่างจากสถานีอื่นตรงที่ละครหรือซีรีส์ที่เจ้านี้ผลิตจะไม่ใช่แนวรื่นรมย์ทั่วไป แต่จะแฝงด้วยสาระความรู้ที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้ชม

ซึ่งไม่ใช่แต่แนวประวัติศาสตร์ เรื่องราวของชีวิตในสังคมปัจจุบันก็เคยผลิต สำหรับผลงานที่เป็นแนวประวัติศาสตร์ที่เคยทำมาก็เช่น “บุญผ่อง” เรื่องจริงของเด็กหญิงชาวไทยที่ได้แอบช่วยเหลือเชลยศึกที่เป็นทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เรื่องราวความรักระหว่างคนในสองยุคและสองแผ่นดิน คือสยามและเมียนมา, “ปลายจวัก” เรื่องของอาหารไทยในสมัยรัชกาลที่ห้า

และเรื่องล่าสุดที่กำลังออกอากาศอยู่นี้คือเรื่อง “บุษบาลุยไฟ” เป็นผลงานสร้างของบริษัท จูเวไนล์ จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เจ เอส แอล เคยฝากผลงานดีๆ อย่างซีรีส์ “Mother เรียกฉันว่าแม่” และ “พรุ่งนี้จะไม่มีแม่แล้ว” มาก่อน

“บุษบาลุยไฟ” เป็นเรื่องราวที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องราวในสมัยนี้คนทั่วไปอาจจะรู้อยู่น้อย จริงๆ แล้วในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้สยามมีความเจริญในด้านต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ที่สยามเฟื่องฟูขนาดมีเรือสำเภาขนสินค้าไปค้าขายกับเมืองจีน จนทำเงินเข้าประเทศได้อย่างมาก และเงินเหล่านี้ได้กลายเป็นทุนของแผ่นดินให้กับรัชกาลต่อๆ มาได้เอาไว้พัฒนาประเทศ และสู้กับการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันออก

ส่วนที่ “บุษบาลุยไฟ” จับมาเสนอนั้น เป็นความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรมในสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งละครนอก การแสดงวงปี่พาทย์มโหรี การเล่นเพลงยาว การเทศน์มหาชาติ บทกลอนกวีที่ไพเราะ และบุคคลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องก็คือ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์

ละครเริ่มเล่าในตอน พ.ศ.2373 หลังจากรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ได้ 6 ปี เป็นเรื่องราวชีวิตของหญิงสาวที่ชื่อ “ลำจวน” ซึ่งละครได้โปรยนิยามไว้ว่าเป็น “สตรีผู้มาก่อนกาล ข้ามผ่านอุปสรรคแห่งยุคสมัย ท้าทายขนบ”

ที่ว่ามาก่อนกาล และท้าทายขนบ ก็เพราะสตรีในยุคนั้นจะอยู่ใต้การบงการชีวิตของผู้ชาย ที่เป็นใหญ่ในครอบครัว และในสังคม ลูกชายจะถูกส่งเสริมให้เรียนหนังสือ ทำการค้า หรือเป็นช่างฝีมือในศิษย์ครูต่างๆ

ส่วนลูกผู้หญิงจะสอนให้หัดรำละคร ขับร้องเพลง ทำอาหาร และบำรุงตนให้งาม เพื่อที่จะได้มีสามี ซึ่งสามีที่ว่านี้ก็มักจะเป็นคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง และแน่นอนที่ไม่ใช่มีเมียเดียว

พี่สาวต่างมารดาของลำจวนก็เดินตามขนบนั้น ในขณะที่ลำจวนมองโลกต่างไปอีกอย่างตั้งแต่เด็กๆ คือ หนีการรำ แต่แอบไปเรียนหนังสือ ท่องจำคำกลอน โดยมีความฝันว่าอยากเป็นนายโรงละครนอกกับเขาบ้าง ซึ่งไม่มีสตรีที่ไหนเขาคิดกัน โดยเฉพาะการริเรียนหนังสือ จนถูกพี่ชายต่างมารดาปรามาสไว้ว่า

“นางผู้หญิงคนนี้ จะต้องทำให้พ่อแม่อับอายขายขี้หน้า ทำให้วงศ์ตระกูลพินาศย่อยยับเป็นแน่”

ซึ่งเรื่องการเล่าเรียนนี้ ลำจวนได้เคยพูดอย่างน้อยใจไว้ว่า

“เกิดเป็นชาย โง่เง่าเต่าตุ่นเพียงใด ก็ได้บวชได้เรียนเขียนอ่าน เกิดเป็นหญิง ถึงจะฉลาดเฉลียวเพียงใด ก็ไม่มีโอกาสบวชเรียนเขียนอ่านได้ดอก”

เมื่อลำจวนเติบโตเป็นสาวอายุ 17-18 ซึ่งแสดงโดย “เฌอปราง BNK48” ก็ถูกพ่อบังคับนำตัวไปมอบให้แก่ท่านเจ้าคุณที่ต้องใจในตัวลำจวน แต่เธอได้โดดหนีจากเรือ และหลบมาอาศัยอยู่กับกวีหญิงคนหนึ่งของสยามชื่อ “คุณพุ่ม” ที่นี่คุณพุ่มจับลำจวนแต่งเป็นชายเพื่อพรางสายตาจากผู้อื่น และได้หัดเพลงยาวและสักวาให้กับลำจวน สมกับที่เธอต้องการ

นี่เป็นตัวละครหลักที่เป็นหญิงที่แหกขนบและต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ผู้ชาย”

มีตัวละครหลักฝ่ายชายอีกหนึ่งคนที่ต้องต่อสู้กับอำนาจที่กดทับเช่นกัน นั่นคือหนุ่มเชื้อสายจีนชื่อว่า “ฮุน” แสดงโดย “โทนี่ รากแก่น”

ด้วยความเป็นคนจีนของฮุน เขาจึงถูกมองว่าเป็นคนชั้นล่าง เป็นเจ๊กชั้นต่ำ ที่ควรจะทำงานรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป แต่ฮุนเป็นคนพิเศษ เขาชื่นชมกับความวิจิตรของภาพเขียนบนผนังโบสถ์และวิหารอย่างมาก และใฝ่ฝันที่จะเป็นช่างเขียนให้ได้

แน่นอนที่มันต้องเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ โดยเฉพาะกับความเชื่อและค่านิยมของคนที่มีอำนาจทางชนชั้นในสังคม

ฮุนเคยได้พบกับลำจวนสมัยที่ลำจวนยังเด็ก เธอได้สอนให้เขาพูดภาษาไทยให้ชัด ซึ่งนั่นเป็นความประทับใจแรกระหว่างคนสองคน และทั้งคู่ได้มาเจอกันอีกในคราบผู้ชายของลำจวน แต่ถึงสุดท้ายความต้องใจกันของหนุ่มสาวคู่นี้ก็เกิดขึ้น

อุปสรรคของความรักก็ต้องผจญ อุปสรรคของการแหกขนบก็ต้องสู้ไปให้ได้ หากใครอยากเอาใจเชียร์พวกเขาทั้งสอง ติดตามชมได้ในวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทางช่องไทยพีบีเอส หมายเลข 3 หรือทาง www.VIPA.me

สําหรับผู้กำกับฯ เรื่องนี้คือ พ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต ที่แม้จะอายุ 85 ปีแล้ว แต่ก็แข็งแรงและมีพลังพอที่จะสร้างสรรค์ละครให้ออกมาได้อย่างน่าติดตาม ซึ่งความเป็นศิลปินที่เก่งรอบด้าน โดยเฉพาะกับศิลปะการแสดงของไทยในอดีตที่พ่ออี๊ดมี จึงช่วยได้มากกับการกำกับละครเรื่องนี้

ผู้เขียนบทคือ “ปราณประมูล” หรือแอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ ที่ต้องลุยไปกับกองข้อมูลเชิงลึกของประวัติศาสตร์ไทย รวมทั้งศิลปะการแสดงแบบต่างๆ นับว่าเป็นงานหินชิ้นหนึ่งทีเดียว ซึ่งไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้

เบื้องหลังของเรื่องนี้ พี่แอ๊นได้เคยแต่งเป็นกลอนเอาไว้ ขออนุญาตนำบางส่วนจากเพจของคุณรักษ์ ศรัทธาทิพย์ ผู้น้องชายมาให้อ่านกัน

“เขียนอะไร ง่ายกว่านี้ มีบ้างไหม

ฝันอะไร ให้หน้ากอง ต้องเดินเอ๋อ

สักวา ที่ท่าน้ำ ทำคนเบลอ

พี่อี๊ดเธอ ซ้อมสองวัน ถ่ายสองวัน

เทศน์มหาชาติ ละครนอก รำอิเหนา

ทั้งศาลเจ้า โคมเขียว ซ่อง ไม่ต้องหวั่น

เขียนฝาโบสถ์ คิวบู๊ สู้รบกัน

ทำนากัน ทำสวน และต่อเรือ

ทั้งฉากรัก ก็แอบมี โรแมนติก

ต้องสร้างสรรค์ แพลงพลิก ไม่ยอมเฝือ

ฉากฟินๆ ฉากฝันๆ อันเหลือเฟือ

ขอให้เชื่อ ท่านลึกซึ้ง ถึงหัวใจ

สุประวัติ ทำละคร ประวัติศาสตร์

เรื่องของชาติ ของคน ของยุคสมัย

จิตรกรรม วรรณกรรม นาฏกรรมไทย

ไม่มีใคร ครบครัน เช่นท่านเอย”

เป็นไงครับ ยิ่งอ่านยิ่งอยากดูใช่ไหมล่ะ เชิญชวนให้ชมกันนะครับ ภาพสวย ดนตรีประกอบไพเราะ นักแสดงทุ่มเทกันสุดฝีมือ ตอนที่มติชนสุดสัปดาห์นี้ตีพิมพ์ น่าจะออกอากาศไปได้แล้ว 6 ตอน ยังตามเรื่องได้ทันครับ หรือดูย้อนหลังตามช่องทางที่แจ้งไว้ก็ได้เช่นกัน

ของดีจึงชี้ชวนสั้นๆ ได้ใจความ สวัสดีครับ •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์