สราญรมย์

พิชัย แก้ววิชิต

สราญรมย์

 

จากจุดยืนที่ยังไม่ใช่จุดนัดพบ และกับการมาถึงก่อนกาลที่นัดหมายไว้เกือบ 1 ชั่วโมง การเผื่อเหลือเผื่อขาดของเวลา ทำให้ผมพอมีเวลาอยู่บ้าง ที่จะเดินชมนกชมไม้ กับสองข้างทางที่ละลานตาอยู่ด้วยดอกไม้สีสวยหลากหลายสายพันธุ์จากร้านค้าที่ตั้งอยู่ทั่วทั้งบริเวณ

สีสันชีวิตผู้คนในยามเช้าทำให้ “รู้สึกสราญรมย์” ย่านดงดอกไม้ ในนามที่คุ้นกันดีกับ “ปากคลองตลาด”

เมื่อสมควรแก่เวลา หมดแล้วกับการเดินออกนอกลู่นอกทาง กับจุดหมายปลายทางของความตั้งใจให้ได้ไปตามนัด ก้าวเดินจึงเปลี่ยนทิศ แล้วมุ่งหน้าไปตามเวลาเช้า 9 นาฟิกา กับหมุดหมายของจุดนัดพบที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก กับบริเวณ “ปฐมบรมราชานุสรณ์ บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า”

จุดนัดพบที่จะทำให้ได้เจอกับกิจกรรม “MIC Walking Trip ก่อนย่ำรุ่งประชาธิปไตย 24 มิถุนา” จากเครือมติชน

ที่นำเดินและบรรยายโดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เรื่องเล่าย้อนเรื่องราวหมุนเวลากลับไปยุคประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 กับงานฉลองพระนคร 150 ปี ช่วงเวลาที่มีการสร้างงานศิลปะและการสร้างสถาปัตยกรรมไว้ให้เป็นที่ระลึกในช่วงเวลาอันสำคัญ

และอีกราว 3 เดือนถัดมา โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” ได้เข้ายึดอำนาจ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย

“ปฐมบรมราชานุสรณ์” รัชกาลที่ 7 ทรงออกแบบให้พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 มีพระอิริยาบถประทับบนพระราชยาน ฉลองพระองค์เต็มยศตามโบราณราชประเพณี กุมพระแสงขรรค์ไว้บนพระเพลา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์รมดำจากประเทศอิตาลี โดยมี อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นช่างปั้น โดยในวันที่ 6 เมษายน 2475 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีปฐมบรมราชานุสรณ์ดังกล่าว

ในส่วนของ “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” อ.ชาตรีเล่าต่อให้ฟังว่า สาเหตุที่สร้างก็เพื่อประโยชน์ของราษฎรและความเจริญของบ้านเมือง แต่ในอีกแง่มุมกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ความอ่อนไหว ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ่งนี้จะช่วยทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงใส่ใจในชีวิตความอยู่ และเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง

ยังคงมีเรื่องเก่าที่เล่าต่อ อาจารย์เล่าให้รู้ถึงความมีความเป็นของถนนตรีเพชร จากจุดเดิมที่ยังยืนอยู่แนวถนนตรีเพชรมุ่งตรงเข้ากับถนนราชดำเนิน กับการมีอยู่ของสถาปัตยกรรมสำคัญๆ อย่างวัดราชบุรณะ วัดสุทัศน์ และ “ศาลาเฉลิมกรุง” ที่รัชกาลที่ 7 ทรงเลือกที่จะสร้างให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุด กับภาพลักษณ์ความศิวิไลซ์ของสยาม

ประวัติศาสตร์ทางการเมือง หรือเรื่องราวอื่นใด มักมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คงต้องเปิดใจให้กว้างในทุกแง่มุม สำหรับผม “ในประวัติศาสตร์ย่อมมีคำสอนเสมอ”

ใช้เวลาเพียงครู่กับถนนตรีเพชร เดินตามคณะไปยัง “สวนสราญรมย์” ที่เคยเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ และโดยภายหลัง 2475 จึงได้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง โดยมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีการแสดงของชาวบ้าน หนังกลางแปลง ออกร้านขายของ และยังมีการประกวดนางสาวสยามภายในสวนสราญรมย์ ที่เป็นดั่งพื้นที่ที่แสดงถึงความเท่าเทียมและเสรีภาพของประชาชน

ภายในสวนยังมีอาคารสำคัญ อาคารรูปแบบสมัยใหม่เรียบง่าย กับสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่มีชื่อว่า “อาคารสมาคมคณะราษฎร” เคยถูกใช้เป็นที่ทำการ “สมาคมคณะราษฎร” ด้านหน้าอาคารมีการสร้างแท่นไม้ขนาดใหญ่เทินพานรัฐธรรมนูญประดับด้วยกระจกสีอย่างสวยงาม

สุดท้ายก่อนจากกันไป หากขาดตกบกพร่องกับข้อมูลทางวิชาการประการใดผมคงต้องขออภัยมาใน ณ ที่นี้ ประวัติศาสตร์ทางการเมือง หรือเรื่องราวอื่นใด มักมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มนุษย์คงต้องเปิดใจให้กว้างในทุกแง่มุม สำหรับผม “ในประวัติศาสตร์ย่อมมีคำสอนเสมอ”

ขอบคุณมากครับ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ร่วมเดินทาง และพี่ๆ น้องๆ ทีมงาน MIC ในเครือมติชน

ขอบคุณมากมายนักอ่านทุกๆ ท่านด้วยเช่นกันครับ •

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต