ศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ คนที่ 9 การต่อสู้ครั้งสำคัญในรอบ 77 ปี อภิสิทธิ์-กรณ์-เดชอิศม์-2 มาดาม

ศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ คนที่ 9 สู้ วิกฤต Disrupt ก้าวไกล การต่อสู้ครั้งสำคัญในรอบ 77 ปี อภิสิทธิ์-กรณ์-เดชอิศม์-2 มาดาม

 

หลังเลือกตั้งผ่านช่วง 45 วันมาแล้ว พรรคขนาดใหญ่-กลาง ต่างสรุปบทเรียน เตรียมทรานฟอร์มพรรคเพื่อสู้การเลือกตั้งครั้งใหม่

หลายพรรคมีข้อค้นพบบทเรียนตรงกัน คือสไตล์การเมืองแบบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คือภัยคุกคามและ Disrupt พรรคการเมืองแบบเก่าไปอย่างราบคาบ

พรรคประชาธิปัตย์ เป็น 1 ในพรรคที่ถือว่าแพ้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แพ้มากที่สุดในรอบ 16 ปี เทียบกับที่เคยชนะสูงสุดได้คะแนนระบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง 2550 ที่กวาดคะแนนมาได้ 12 ล้านกว่าเสียง ยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กุมบังเหียนเป็นหัวหน้าพรรค

แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่มาจากทั่วประเทศ ติดมือในผลการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ไม่ถึง 1 ล้านเสียง นับคะแนนได้เพียง 925,349 เสียง ส่ง ส.ส. 3 ลำดับ-ระดับอดีตหัวหน้าพรรค-ประธานที่ปรึกษา เข้าสภาผู้แทนราษฎร คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน

สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีหลังเลือกตั้งคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคลาออก แสดงความรับผิดชอบที่นำพรรคพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง

จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เกมการชิงหัวหน้าพรรคคนที่ 9 เกิดขึ้นทันทีในพรรคเก่าแก่อีก 23 ปีจะเข้าสู่พรรคในตำนาน 100 ปี

 

ชื่อแรก ที่สมาชิกทั้งใน-นอกพรรคนึกถึง ทั้งระดับฐานรากหมู่บ้านชานเมืองจนถึงระดับหัวแถวอนุรักษนิยม-ไฮโซไซตี้ในใจกลางกรุงเทพฯ เปิดหน้าชงชื่อขึ้นมา คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7

แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้แบ่งรับ-แบ่งสู้ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็เว้นวรรค ไม่ได้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้โครงสร้างอำนาจในพรรคเกิดความกระเพื่อมไหว ได้แต่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกพรรคที่มีบารมี ร่วมเดินสายหาเสียงในจุดฐานที่มั่นเสียงประชาธิปัตย์เหนียวแน่น

ท่ามกลางความเงียบ-นิ่งของนายอภิสิทธิ์ มีแต่เสียงเชียร์ที่ก้องจากนอกพรรค ทั้งเสียงและภาพที่ถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก และสื่อโซเชียล โดยอดีตทีมงานคนสำคัญของพรรค อย่างนายศิริโชค โสภา และนายชวน หลีกภัย และผู้ให้การสนับสนุนกระสุน-กระแสของพรรค ก็ผุดอุบัติขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ

สูตรทีมหัวหน้าพรรคและการบริหารพรรคใหม่ถูกโยนขึ้นเป็นข่าวกลางอากาศ อาทิ สูตรแรกแบบใหม่-แบบสับ ชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค คู่กับนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค เคลื่อนไปกับนายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค

สูตรที่สอง แบบเรียกเนื้อ-เรียกปลา หาทุนใหม่ทดแทนต้นทุนการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ส่งนายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้ครอบครอง ส.ส.เสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 17-18 คน ขึ้นคุมหัวหน้าพรรค คู่กับนายชัยชนะ เดชเดโช เป็นเลขาธิการพรรค ลุ้นนำทีมนักเตะแข้งการเมืองเข้าสู่สนามฝ่ายรัฐบาล

สูตรอื่นๆ ที่หวังเอาใจเยาวชนประชาธิปัตย์และนายทุนน้อย ที่ยังอลวนลอยอยู่ในพรรค เช่น การโยนชื่อมาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี วัย 38 ปี อายุสมาชิกพรรคไม่ถึง 1 ปี ยังขาดคุณสมบัติเบื้องต้น-ด่านแรก ที่จะลงชิงตำแหน่งหัวหน้า

ชื่อที่มาแรงในโค้งแรก คือ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ วัย 57 ปี ผู้หญิงที่มีเพาเวอร์เกมเป็นของตัวเอง ทั้งในสนามกีฬา และสนามแม่เหล็กของกลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่เพียงเป็นทายาทสืบสายเลือดการเมืองประชาธิปัตย์แท้ๆ เป็นลูกสาวอดีตรองหัวหน้าพรรค นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ตั้งแต่วันที่เธอเข้าพรรควันแรก ในฐานะสมาชิกพรรค ก็พ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง “ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค” เมื่อ 7 ปีก่อน

 

ไม่ควรลืมว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ มีการ “งดใช้ข้อบังคับพรรค” บางข้อ เพื่อเปิดทางให้การเลือกหัวหน้าพรรคจาก “คนนอก” และคนที่ขาดคุณสมบัติ ได้เข้าลู่แข่งขันได้

เสียงโฆษกพรรคส่งสัญญาณว่า “เนื่องจากนายจุรินทร์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบยกเว้นข้อบังคับข้อที่ 32 การหยั่งเสียงเบื้องต้น (ไพรมารีโหวต) ในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีกลไกระดับตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและตัวแทนพรรคประจำสาขาพรรคในการเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญพรรค”

ดังนั้น องค์ประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะมาจากตำแหน่ง ส.ส. 25 คน มีน้ำหนักในการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่สัดส่วน 70% ส่วนองค์ประชุมอื่นๆ อีก 18 กลุ่มจาก 19 กลุ่ม ยังมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่มีน้ำหนักในสัดส่วน 30%

คณิตศาสตร์การเมือง ตัวเลขที่เป็นฐานตัวตั้ง ในการชี้ขาดตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงอยู่ในมือ ส.ส.ตัวเป็นๆ 25 คน แต่ดุลอำนาจการตัดสินใจอีกส่วนก็มาจากการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค ว่าจะนำพาพรรคกลับสู่ชัยชนะ และปักธงเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยญาณวิถีใด ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ด้วยความเป็นพรรคที่มีตำนานผ่านมาแล้วทุกรูปแบบการเมือง-การปกครอง ความติดกรอบ-ติดขนบ จึงยังหนึบอยู่ในทุกห้องประชุม การประชุมใหญ่วิสามัญ สรรหาหัวหน้าพรรคนคนที่ 9 วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ก็เช่นกัน

ระบบเสียงข้างมากที่จะลงคะแนนให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มาจากโหวตเตอร์ในองค์ประชุม จำนวน 374 คน ตามข้อบังคับพรรค

ประกอบด้วย กรรมการบริหารชุดรักษาการที่เคยเป็นหัวหน้า หรือเคยเป็นเลขาธิการ 1 คน ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อดีต ส.ส. 85 คน สมาชิกที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน อดีตรัฐมนตรี 19 คน นายก อบจ. 1 คน สมาชิก อบจ. 1 คน สาขาพรรค 20 คน ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 172 คน อื่นๆ 20 คน

 

กลุ่มอำนาจในส่วน 70% ที่มาจาก 25 ส.ส. ที่สามารถชี้เป็น-ชี้ตายในการเลือกหัวหน้ามากที่สุด แบ่งเสียงออกเป็น 3 ส่วน กลุ่มแรก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

กลุ่มที่สอง ส.ส.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสายภาคเหนือ-ภาคอีสาน คุมทีมในจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน นายวุฒิพงษ์ นามบุตร จังหวัดสกลนคร 1 คน นายชาตรี หล้าพรหม แม่ฮ่องสอน 1 คน นายสมบัติ ยะสินธุ์

กลุ่มที่สาม ส.ส.เขตภาคใต้ 17 คน ที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายชัยชนะ เดชเดโช คุมกำลังหลัก ประกอบด้วย 2 ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช

ร่วมกับเสียง ส.ส.จาก จ.สงขลา 6 คน (ไม่รวมสายของนายนิพนธ์ บุญญามณี) ได้แก่ นายสรรเพชร บุญญามณี นายสมยศ พลายด้วง นายเดชอิศม์ ขาวทอง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง

ส.ส.นครศรีธรรมราช 6 คน ได้แก่ นายราชิต สุดพุ่ม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ นายชัยชนะ เดชเดโช และนางอวยศรี เชาวลิต

ส.ส.พัทลุง 2 คน ได้แก่ นางสุพัชรี ธรรมเพชร นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ตรัง 2 คน ได้แก่ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายกาญจน์ ตั้งปอง ปัตตานี 1 คน คือ นายยูนัยดี วาบา

 

เมื่อโจทย์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ คือสู้การ Disrupt ในภูมิทัศน์การเมืองการเมืองใหม่ ที่มีพรรคก้าวไกล-เพื่อไทยครองแชมป์

ชื่อว่าที่หัวหน้าพรรค ที่จะขึ้นเวทีชิงชัย จึงยังไม่มีชื่อไหนถอนออกจากลู่แข่งได้ และชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเป็นต้นทางของการตัดสินใจเดินทางต่อของนักการเมืองคนสำคัญอีกหลายคน

ชื่อ-ชั้น หัวหน้าประชาธิปัตย์ คนที่ 9 จึงถูกจับตาจากทุกขั้วอำนาจ