กบฏ 24 ชั่วโมง-จุดเริ่ม สู่อวสาน ‘ระบบปูติน’

ทุกคนที่ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซียอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ 23 มิถุนายนมาจนถึงขณะนี้ ล้วนมีความรู้สึกใกล้เคียงกันว่า ราวกับกำลังติดตามชมภาพยนตร์แอ๊กชั่น ผจญภัย ผสมผสานกับความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่กำกับการแสดงโดยผู้กำกับฯ ฝีมือดีเรื่องหนึ่ง

เว้นเสียแต่ว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องจริง และเป็นเหตุการณ์จริงที่เต็มไปด้วยปริศนา มีแต่คำถามเกิดขึ้นตามมามากกว่าคำตอบ

เรื่องเปิดฉากชนิดเซอร์ไพรส์ไปทั่วโลกเมื่อค่ำวันที่ 23 มิถุนายน เมื่อนักรบรับจ้างในสังกัด “วากเนอร์กรุ๊ป” จำนวนหนึ่งเคลื่อนกำลังเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ใจกลางเมืองรอสตอฟ ออน ดอน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียอย่างเงียบๆ

รอสตอฟ ออน ดอน เป็นเมืองใหญ่อันดับ 9 ของรัสเซีย มีประชากรเกินกว่า 1 ล้านคน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคใต้ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำศึกในยูเครนของรัสเซียทั้งหมด

วากเนอร์ไม่เพียงยึดใจกลางเมือง ยังเข้ายึดที่ทำการของกองบัญชาการกองทัพรัสเซียได้โดยสงบ ไม่เสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว

เยฟเกนี วิกโตโรวิช พริโกซิน หัวหน้าและผู้ก่อตั้งวากเนอร์ ปรากฏตัวขึ้นที่กองบัญชาการ เข้าเจรจาต่อรองกับผู้บัญชาการที่นั่น เรียกร้องให้เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม กับ พล.อ.วาเลอรี เกราซิมอฟ ประธานคณะเสนาธิการทหาร ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทหารที่สูงที่สุดของกองทัพรัสเซียมาพบ

ไม่เช่นนั้นจะ “ตบเท้า” ไปพบ เพื่อ “ทวงความเป็นธรรม” ถึงมอสโก

(มีหลายคนข้องใจถึงที่มาและการออกเสียงของชื่อ “วากเนอร์” เพราะไม่ใช่ภาษารัสเซีย ว่ากันว่า พริโกซินตั้งชื่อกลุ่มบริษัทของตัวเองซึ่งประกอบกิจการหลายด้าน ทั้งโรงแรม ภัตตาคาร บริการจัดเลี้ยง กิจการด้านไอที การแทรกแซง จารกรรม ทางไซเบอร์ และกองทหารรับจ้างว่า “วากเนอร์กรุ๊ป” ตามชื่อของสหายสนิทรายหนึ่ง ซึ่งใช้ “ชื่อจัดตั้ง” ว่า “วากเนอร์” ตามชื่อของคีตกวีและวาทยกรคนโปรดชาวเยอรมัน “ริชาร์ด วากเนอร์” ซึ่งเป็นคนที่เชิดชูอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นไอดอล)

 

ทุกฝ่าย แม้แต่กระทั่งพริโกซินเองรู้ดีว่าเงื่อนไขที่ยื่นออกมาของวากเนอร์นั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้น เช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน การกระทำที่เข้าข่ายการก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจรัฐด้วยอาวุธก็เริ่มต้นขึ้น

ขบวนทหารพร้อมอาวุธหนัก ยานลำเลียงพล ยานยนต์หุ้มเกราะและรถถังจำนวนหนึ่ง เคลื่อนขบวนขึ้นเหนือ มุ่งหน้าไปบนเส้นทางหลวง เอ็ม 4 เป้าหมายคือกรุงมอสโก ที่อยู่ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร

ที่น่าแปลกใจก็คือ กำลังพลราว 2,500 นายเคลื่อนที่รุดหน้าได้อย่างรวดเร็วโดยปราศจากการต่อต้านใดๆ จนกระทั่งลุถึงเมืองโวโรเนตช์ กว่าครึ่งทางของเส้นทางสู่มอสโก ขบวนของวากเนอร์จึงเผชิญหน้ากับการโจมตีทางอากาศ แต่ก็ยังสามารถเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมือง และเคลื่อนพลผ่านต่อไปได้

มีรายงานข่าว “อย่างไม่เป็นทางการ” ในภายหลังว่า การปะทะกันดังกล่าว รัสเซียสูญเสียเครื่องบินรบไปอย่างน้อย 7 ลำด้วยฝีมือของวากเนอร์ เป็นเฮลิคอปเตอร์ ชนิดเอ็มไอ-8 เอ็มทีพีอาร์ ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำสงครามจำนวน 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ประจัญบานแบบเคเอ-52 กับเอ็มไอ-35 อีก 2 ลำ และเครื่องบินลำเลียงพล เอ็มไอ-8 หนึ่งลำ กับเครื่องบินบัญชาการแบบอิลยูชิน-22 เอ็ม อีก 1 ลำ

จำนวนทหารที่เสียชีวิตจากการนี้มีอย่างน้อย 16 นาย

 

วากเนอร์เคลื่อนขบวนผ่านลิเพทสก์ ขยับเข้าไปเหลือระยะทางอีกแค่ราว 200 กิโลเมตรจะลุถึงมอสโก พริโกซินกลับออกคำสั่งยุติปฏิบัติการ ประกาศสลายกำลังกลับคืนสู่ที่ตั้ง หลังผ่านการเจรจาต่อรองที่มีอเล็กซานเดอร์ กริกอเรวิช ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เป็นตัวกลาง

เงื่อนไขที่ตกลงกันในเวลานั้นก็คือ รัสเซียจะไม่เอาผิดทางอาญาใดๆ กับนักรบวากเนอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้ แต่ดมิตรี เพสคอฟ โฆษกของทางการเครมลิน ระบุว่า พริโกซินต้องออกจากรัสเซียไปลี้ภัยในเบลารุส โดยจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

พริโกซินอ้างว่า ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวเพราะไม่ต้องการให้เกิดการ “นองเลือด” ขึ้นระหว่างรัสเซียด้วยกันเอง และ “เป้าหมายสำคัญ” ของการแสดงออกครั้งนี้ “ได้ผลน่าพอใจแล้ว”

การก่อกบฏสั้นๆ ในชั่วระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง สิ้นสุดลงอย่างรวบรัดและอึมครึมเช่นนี้ แต่ทิ้งคำถามเอาไว้มากมาย

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะทำอย่างไรต่อไปกับวากเนอร์และพริโกซิน รวมทั้งกับคู่ขัดแย้งของพริโกซินที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนอย่าง ชอยกู และเกราซิมอฟ?

ทำไมพริโกซินถึงยอมยุติปฏิบัติการลงอย่างรวบรัด อะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังความตกลงของทั้งสองฝ่าย จนทำให้ปฏิบัติการแบบ “มีไปไม่มีกลับ” ของวากเนอร์ต้องยุติลง?

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปฏิบัติการของวากเนอร์ ไม่ใช่เรื่องของการปะทุอารมณ์ชั่ววูบ แต่ผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบ รัดกุมมาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถยกกำลังและอาวุธหนักอย่างรถถังข้ามแดนกลับมารุกคืบอย่างราบรื่นจนเกือบถึงมอสโกได้

ข้อเท็จจริงที่ว่า ซีไอเอระแคะระคายถึงปฏิบัติการกบฏครั้งนี้ตั้งแต่ 21 มิถุนายน แต่หน่วยงานข่าวกรองของรัสเซียทั้งหมดไม่รู้ หรือไม่รายงาน ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของหน่วยงานการข่าวทั้งระบบของรัสเซีย

แต่แสดงให้เห็นได้เช่นกันว่า มี “ใครสักคน” หรือ “เครือข่าย” ภายในรัสเซียที่ร่วมอยู่ในขบวนการก่อกบฏครั้งนี้

ใครคือคนหรือเครือข่ายที่ว่านั้น และจะยุติการดำเนินการทั้งหมดลงหลังเหตุก่อกบกฏครั้งนี้หรือไม่?

 

นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ระบบที่ปูตินวางไว้สำหรับเป็นฐานอำนาจของตนเองมีข้อบกพร่องหรือช่องโหว่อย่างร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว และไม่น่าจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

ตลอดระยะเวลาสั้นๆ ที่ก่อการ พริโกซินไม่เพียงพาดพิงถึงความไร้ประสิทธิภาพของชอยกูและกองทัพ ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของสงครามยูเครน ที่เขาชี้ว่า เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุปัจจัยคุกคามที่แท้จริง แต่เป็นไปเพื่อ “สนองความต้องการ” เป็นวีรบุรุษสงครามของคนบางคนเท่านั้น แถมยังด้อยประสิทธิภาพจนกลายเป็นศึกยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้

นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจของชาวรัสเซียและทหารในกองทัพเป็นจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่สั่นคลอนสถานะของปูตินในรัสเซียอย่างรุนแรง

นักวิเคราะห์กิจการรัสเซียไม่น้อยลงความเห็นว่า กบฏ 24 ชั่วโมงของพริโกซิน เป็นเพียงจุดเริ่มเล็กๆ ที่จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ในรัสเซีย

ซึ่งเมื่อปะทุขึ้นมา ผู้นำอย่างปูตินจะหลงเหลือฐานอำนาจสำหรับรับมืออยู่อีกหรือไม่

ไม่มีใครแน่ใจในประเด็นนี้อีกต่อไปแล้ว