บ้านพักหลวง ลับ-ลวง-โลภ | เหยี่ยวถลาลม

การอยู่อาศัยที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ยาวนานกว่า 40 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต ผบ.ทบ. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานองคมนตรี นั้นดูจะกลายเป็น “ตัวแบบ” ที่ทำให้ “ผบ.ทบ.” คนหลังๆ หลายต่อหลายคนใช้เป็น “ข้ออ้าง” ที่จะพักอาศัยอยู่ใน “บ้านหลวง” ต่อไปแม้จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้วก็ตาม

ถ้าจะเทียบกับสมัยแต่ก่อน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายจะมีความละอายมากกว่ายุคสมัยนี้ อะไรต่อมิอะไรที่เป็น “ของหลวง” ล้วนแต่เป็นสิ่ง “ต้องห้าม” หรือต้องระวังเป็นพิเศษ

จึงมีคำพูด “เงินหลวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” เปรียบเปรยเป็นที่เข้าใจกันว่า ทรัพย์สินของทางราชการทั้งหลายอันมาจาก “ภาษีอากร” ของประชาชนนั้น ไม่ว่ามากหรือน้อย แม้มูลค่าแค่พันบาทหมื่นบาทก็เคยมีมากมายที่ศาลพิพากษาให้จำคุกฐานทุจริต

แต่สมัยนี้ข้าราชการไทยจำนวนไม่น้อย กลับรู้สึกเป็นเจ้าของสมบัติหลวง ครอบครอง ใช้งาน และบ่อยครั้งทีเดียวที่ถึงขั้น “ผลาญงบ” ฉ้อฉลด้วยสารพัดวิธี เช่น จัดสัมมนา พากันไปดูงานต่างประเทศแฝงท่องเที่ยว ตลอดจนจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ นั่นก็เพียงเพื่อได้ค่าคอมมิสชั่น

แล้วถ้าหากกลไกที่มีไว้เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล มีพฤติกรรมเดียวกัน ถามว่าน้ำหน้าอย่างนั้นจะไปตรวจสอบและถ่วงดุลผู้ใด

ปัจจุบัน “ของหลวง” จึงกลายเป็น “ขุมทรัพย์” ที่มีให้ตักตวงไม่วันสิ้นสุด!

 

ลองตั้งคำถามกับหน่วยราชการสักแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับเงินหลวงของหลวงก็จะได้รับคำตอบตรงกันว่า มีกฎหมาย มีระเบียบ ควบคุมกำกับแน่นหนา

เมื่อปี 2563 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์ชี้ว่า “รัฐพึงจัดบ้านพักให้ผู้นำ เพื่อสร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกาย-ใจ ในการปฏิบัติภารกิจ” และ “ประยุทธ์” ไม่ขาดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีจากกรณีที่พักอาศัย “บ้านพักข้าราชการทหาร” แม้จะเกษียณไปแล้ว 6 ปี จำได้ว่าก่อนหน้านั้น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้เคยออกมาเปรี้ยวว่า “ขีดเส้นตาย” ภายในกุมภาพันธ์นี้ (2563) ผู้เกษียณอายุราชการแล้วและยังพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ทหาร หรือย้ายออกจากกองทัพบกแล้ว ต้องย้ายออกจาก “บ้านพักหลวง”

พร้อมทิ้งท้ายด้วยสำนวน “จะเอาจริงกับผู้ที่เอาเปรียบหลวง”

เหล่าทัพอื่นไม่ยอมน้อยหน้า

ในเวลาอันใกล้เคียงกันนั้น พล.อ.อ.มานัตย์ วงศ์วาทย์ ผบ.ทอ. ออกมาพูดเท่ทีเดียวว่า

“ทอ.มีวัฒนธรรมมายาวนาน ปูพื้นฐานจากรุ่นพี่ในยุคก่อนๆ ว่าจะไม่อยู่บ้านหลวงยาวนาน หรืออยู่แบบถาวร กำลังพล ทอ.เคารพในวัฒนธรรมนี้ ก่อนเกษียณราชการ 7 วัน ทุกคนจะย้ายออกไปทันที”

ชวนให้สงสัยจริงๆ ว่า “ทอ.” สังกัดกระทรวงกลาโหมไทยหรือไม่

พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์การันตี …ตามระเบียบราชการเมื่อเกษียณอายุแล้วก็ต้องคืนบ้านพัก ไม่สามารถอยู่ต่อเนื่องในระยะเวลานานได้ เป็นระเบียบปฏิบัติเดียวกันทุกเหล่าทัพ

ควรจะสิ้นสงสัยกันเสียทีใช่หรือไม่ ภายใต้กระทรวงเดียวกัน กฎหมาย และระเบียบหลักๆ ก็ต้องเหมือนกัน

 

แต่ “อดีต ผบ.ทบ.” หลายคนชอบยกเอากรณี พล.อ.เปรมขึ้นมาเป็น “ข้ออ้าง” เพราะ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” นั้นก็เป็น “ของหลวง” อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการทหารบก

พล.อ.เปรมก็พักอาศัยอยู่บ้านสี่เสาเทเวศร์มาตั้งแต่ครั้งยังเป็น “ผบ.ทบ.”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัย “บ้านพักหลวง” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ “ร.1 รอ.” หรือปัจจุบัน ” ร.1 ทม.รอ.” ถนนวิถาวดีรังสิตนั้นก็นับตั้งแต่เป็น “ผบ.ทบ.”

เพียงแต่ “บ้านพักหลวง” หลังเดิมมีเนื้อที่แค่ 2 ไร่ เล็กไป

ต่อมาเมื่ออดีต ผบ.ทบ.รุ่นพี่ถูกให้ออกจากบ้านพักอีกหลังหนึ่งซึ่งมีพื้นที่ติดกัน บ้านของอดีต ผบ.ทบ.หลังนั้นจึงถูกทุบและยุบรวมพื้นที่เป็น 3 ไร่

ใช้งบฯ หลวง เงินหลวงเนรมิต “บ้านพักหลวง” หลังใหม่ให้กับ “ประยุทธ์” ตั้งอยู่ในใจกลางเหมือน “ไข่แดง” โอ่อ่า อบอุ่น ปลอดภัย

“ประยุทธ์” ก็อยู่อาศัยมาตั้งแต่ “ผบ.ทบ.” เฉกเช่นเดียวกันกับ พล.อ.เปรม

ต่างกันตรงที่ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี แล้วบอกว่า “พอ” ไม่เอาแล้ว เดินลงจากเก้าอี้ด้วยความยินดี

ส่วน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั้นไม่

ต้องอาศัยการตีความจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า “ประยุทธ์” ยังเป็นนายกรัฐมนตรีมาไม่ครบ 8 ปี

เพราะยังไม่พอ คิดอยู่ต่อ ไปต่อ จึงนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในศึก “มติมหาชน” เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

พอแพ้เลือกตั้ง และหลังจากนี้ต้องก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็มีคำถามเรื่อง “บ้านพักหลวง” อีกครั้ง

แต่ดูเหมือน “ประยุทธ์” ไม่ค่อยจะเข้าถึง จึงว่า

“วันนี้ผมต้องอยู่ ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผมด้วย เข้าใจไหม บ้านผมก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันไม่ปลอดภัย”

ประยุทธ์ไปทำอะไรเอาไว้กับใครมากมายนักหรือถึงได้กลัวจะไม่ปลอดภัย

 

ในทันที “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตย้อนคลิปที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเตือนให้ต่อม “หิริ-โอตตัปปะ” ทำงาน

“หลังเป็น ผบ.ทบ.ย้ายมาอยู่บ้านพักในค่าย ก่อนจะขยายใหญ่โตจนกลายเป็นคฤหาสน์ริมบึงเต็มพื้นที่ 3 ไร่ ก่อนทำรัฐประหารไม่นาน กะอยู่ยาว สร้างเสร็จก่อนทำรัฐประหารไม่นาน ใช้เป็นที่ประชุมวางแผนสำคัญ เตรียมอยู่ยาว และคงไม่ย้ายออกตลอดชีวิต”

ฟังแล้วก็คล้ายกับว่า “ผบ.ทบ.” เป็น “ชนชั้นพิเศษ” ที่ “รัฐ” พึงใช้ทรัพยากรอันได้มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนชุบเลี้ยงดูแลเป็นพิเศษ

นึกถึงหนังสือที่ชวนอ่านของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ที่ “มติชน” จัดพิมพ์ชื่อว่า “Transform or Die – ปฏิรูปกองทัพไทย”

ในตอนหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นชัดๆ สอดคล้องกับคำอภิปรายไม่ไว้วางใจของอดีต ส.ส. “อมรัตน์”

“รัฐประหารในการเมืองไทยจึงมิใช่เพียงเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลทหาร เพื่อการควบคุมทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองทหาร ที่ผู้นำกองทัพจะเข้ามาเป็นผู้ควบคุม และใช้ทรัพยากรของประเทศตามที่พวกเขาต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ”

“บ้านพักหลวง” เป็นแค่ “หนึ่งในร้อย” นะครับ

ในบ้านเมืองของเรามีเรื่องที่ควรสร้างบรรทัดฐานกันให้จริงจังมากมาย แต่ไม่มีใครกล้าทำ

บทถนัดคือ “รับใบสั่ง” มาสร้างเงื่อนไข หาเหตุข้างๆ คูๆ มากลั่นแกล้งทำลายฝ่ายตรงกันข้ามกับ “ชนชั้นพิเศษ” อย่าให้ได้ลืมตาอ้าปาก!?!!