กรณี ‘สนทนาไม่เป็นทางการ’ เรื่องพม่า ที่พัทยา จะสมานรอยร้าวในอาเซียนอย่างไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กรณีรัฐมนตรีต่างประเทศไทยจัดการ “สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ” เรื่องพม่าที่พัทยาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ที่ประหลาดในแวดวงการทูตแล้ว ความกังวลต่อจากนี้ไปก็คืออาเซียนจะแตกคอกันหนักขึ้นหรือไม่

ยิ่งเมื่อคุณดอน ปรมัตถ์วินัย บอกว่าที่รัฐมนตรีอินโดนีเซีย, มาเลเซียและสิงคโปร์ปฏิเสธมาร่วมและไม่ส่งตัวแทนมาด้วยว่า “ไม่เป็นไร ไม่มาก็ไม่มา” ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าเรากำลังมีปัญหากับเพื่อนเราในอาเซียน

เพราะการพูดทำนองว่า “ฉันไม่แคร์” นั้น ในแวดวงการทูตเขาย่อมจะไม่ใช้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างอาเซียนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันกว่า 50 ปีแล้ว

ผมกลับคิดว่านักการทูตอาวุโสอย่างคุณดอนน่าจะได้ใช้ภาษาการทูตแบบที่คนไทยมีความช่ำชองมายาวนานทำนองว่า

“เขาคงติดขัดอะไรบางอย่าง ไม่เป็นไร ผมจะสรุปให้เพื่อนเราที่ไม่ได้มาร่วมฟังหลังจากนี้ได้…”

เพราะคุณดอนบอกว่าที่ต้องจัดการพบปะอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ก็เพราะ “รั้งรอ” ไม่ได้

แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรคือ “ปัจจัยเร่งร้อน” เหล่านั้นคืออะไรกันแน่

ความจริง หากฟังคุณดอนอธิบายในเวลาต่อมากับสื่อไทยก็จะสังเกตได้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยคนนี้เห็นว่าเพื่อนเราที่ไม่มาร่วมสนทนานั้นไม่เข้าใจว่าประเทศไทยเดือดร้อนกว่าพวกเขาเพราะเขาไม่มีชายแดนติดกับพม่า 2,401 กิโลเมตรเหมือเรา

แต่นั่นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่คุณดอนไม่สามารถอธิบายให้รัฐมนตรีต่างประเทศของสามประเทศนี้เข้าใจความกังวลเร่งด่วนของไทยในเรื่องนี้ได้

ผมฟังน้ำเสียงบางประโยคฟังดูเหมือนว่าคุณดอนรู้สึกว่าอินโดนีเซียต้องการจะเล่นบทพระเอกในอาเซียนแต่ไม่สนใจไยดีกับความเดือดร้อนของไทย หรืออะไรทำนองนั้น

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็สะท้อนว่าเรามีปัญหาของการสื่อสารและทำความเข้าใจกับเพื่อนเรา

เพราะสามประเทศที่ยกประเด็นไม่เห็นด้วยกับการที่คุณดอนจัดงานครั้งนี้ก็เพราะจะไปผิดกับหลักการและมติของที่ประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนครั้งก่อนๆ ที่จะไม่สังฆกรรมกับผู้นำทหารพม่า

จนกว่าจะมีความคืบหน้าในการทำงานฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ซึ่งก็น่าจะเป็นหลักการเดียวกับที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอันแข็งขันของอาเซียนมาตั้งแต่ต้นจะต้องยึดถือเช่นกัน

แต่หากอ้างว่าไทยเราก็เคยจัดการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเช่นนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่เห็นมีเสียงคัดค้านเหมือนครั้งนี้ก็ต้องลงรายละเอียดต่อว่า

การจัดงานครั้งนี้ไม่ใช่การคุยกันอย่างไม่เป็นทางการแบบ Track 1.5 เหมือนสองครั้ง (ที่กรุงเทพฯ และอินเดีย)

เพราะครั้งนี้คุณดอนระบุว่าเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศเท่านั้น

ในจดหมายเชิญไม่ได้บอกว่าเป็นแบบ Track 1.5 อันหมายถึงการเชิญทางตัวแทนทางการและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

แต่อ่านจดหมายเชิญของคุณดอนให้ดีจะเห็นว่าเป็นการให้รัฐมนตรีต่างประเทศมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ (informal discussion) ที่ไม่มีนักวิชาการหรือคนนอกรัฐบาลมาร่วมคุยด้วย

มิหนำซ้ำ ในจดหมายยังบอกด้วยว่าหากการพบปะครั้งนี้ได้ผลออกมาที่เป็นสาระที่มีนัยสำคัญก็จะขอจัดประชุมผู้นำอาเซียนต่อเนื่องไปเลย

จึงเป็นคนละเรื่องกับการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างไม่เป็นทางการเหมือนสองครั้งก่อนแน่นอน

คําตอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากอินโดนีเซียและสิงคโปร์ครั้งนี้ควรจะได้อ่านให้ละเอียดเพื่อเข้าใจว่าความขัดแย้งระหว่างคุณดอนกับเพื่อนรัฐมนตรีต่างประเทศสองประเทศนี้อยู่ที่ประเด็นไหน

เพราะมิฉะนั้น หากฟังคำชี้แจงของคุณดอนอย่างเดียวจะหลงประเด็น จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่ไหนมาสามวาสองศอก

อย่างน้อยมีสองรัฐมนตรีอาเซียนคือรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย Retno Marsudi และรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ Vivian Balakrishnan ที่ตอบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่มาร่วมวงเสวนาที่คุณดอนจัด

มิพักต้องพูดถึงบางประโยคที่เขาตอบมาแล้วทำให้เรา “หน้าแตก” อีกด้วย

สัปดาห์ก่อนผมเล่าให้ฟังแล้วว่าจดหมายเชิญคุณดอน (ที่เร่งรีบอย่างเห็นได้ชัดคือลงวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ให้มาประชุมที่กรุงเทพฯ 18 มิถุนายน) แล้วว่ามีเนื้อหาที่อ่านแล้วสร้างความงุนงงไม่น้อย

ผมเอาเนื้อหาของจดหมายตอบจากมาร์ซูดีที่เป็นการสวนด้วยหมัดตรงที่แสกหน้าของคุณดอนเลยทีเดียว

เวลานักการทูตเขียนด้วยภาษาที่เจาะตรงไปที่เนื้อหาที่สวนกับจดหมายที่ส่งไป ความหมายคือการแสดงความไม่พอใจอย่างออกนอกหน้า

เพราะความจริงคุณดอนก็ควรจะต้องยกหูไปคุยกับเธอเพื่อปรึกษากันก่อนในฐานะที่อินโดฯ เป็นประธานอาเซียน

และเธอก็คงจะแลกเปลี่ยนความคิดอ่านกับคุณดอนแบบตรงๆ ส่วนตัวโดยไม่ต้องปรากฏเป็นตัวหนังสือซึ่งจะเป็นหลักฐานทางการทูตตลอดไป

 

รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ คุณวิเวียนก็เป็นนักการทูตแบบตรงไปตรงมาเหมือนกัน

นอกจากจะขอตัวไม่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ แล้ว (เพราะนัดกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเกน ที่วอชิงตันในช่วงจังหวะเดียวกัน) เขายังฝากจดหมายตอบมาด้วยเนื้อหาย้อนแย้งกับคุณดอนอย่างเปิดเผยด้วย

เปิดฉากมา วิเวียนก็บอกเลยว่า

“คุณดอนที่รัก…ผมงุนงงต่อคำกล่าวของคุณที่ว่าไม่มีเสียงคัดค้านอย่างชัดเจนต่อข้อเสนอที่สมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่งเสนอในที่ประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 เมื่อเดือนที่แล้วให้มีการกลับไปมีปฏิสัมพันธ์เต็มรูปแบบกับเมียนมาในระดับผู้นำ

“ความจริงแล้ว ณ ที่ประชุมสุดยอดนั้น ผู้นำหลายท่านรวมถึงนายกรัฐมนตรีของผม (หมายถึงนายกฯ หลี่ เสี่ยนหลง ของสิงคโปร์) ได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อข้อเสนอที่จะมีกลับไปมีความพัวพันกับ SAC (State Administration Council หรือรัฐบาลทหารพม่า) ในภาวะที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญเรื่องฉันทามติ 5 ข้อ”

วิเวียนบอกว่ามติของผู้นำอาเซียนในการประชุมครั้งนั้นคือการยืนยันตามมติของผู้นำอาเซียนตั้งที่ 40/41 ของเดือนพฤศจิกายนปีก่อน

มตินั้นคือการระงับการให้รัฐบาลทหารพม่ามาร่วมกิจกรรมการเมืองในการประชุมผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศ

รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ย้ำกับคุณดอนว่า

“การประชุมใดๆ ภายใต้อาเซียนไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการควรจะต้องยืนยันและปฏิบัติตามมติของผู้นำอาเซียนอย่างเคร่งครัด…”

วิเวียนย้ำตอนท้ายของจดหมายตอบคุณดอนว่า

“จุดยืนของอาเซียนต่อพม่ายังคงอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติ 5 ข้อ และการกระทำใดๆ ที่เราจะดำเนินการควรจะต้องอยู่ในครรลองของหลักการนี้…”

 

อ่านข้อความนี้แล้วไม่ต้องสงสัยว่าสิงคโปร์ออกมาต่อต้านการที่คุณดอนเรียกประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรื่องเมียนมาที่กรุงเทพฯ แน่นอน

เพราะวิเวียนยืนยันว่าตามมติของผู้นำอาเซียนนั้นไม่ว่าการพบปะจะเป็นแบบ “ทางการ” หรือ “ไม่เป็นทางการ” ว่าด้วยเรื่องพม่าก็ผิดกับมติหลักทั้งสิ้น

ดังนั้น ก็เกิดคำถามว่าคุณดอนกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดฯ และสิงคโปร์ (และคงมีคนอื่นๆ ในอาเซียนอีก) เข้าใจเรื่องพม่านี้แตกต่างกันได้อย่างไร?

ในเมื่อเข้าร่วมประชุมเหมือนกัน, อ่านเอกสารชุดเดียวกัน และมีความคุ้นเคยกันมายาวนาน

ทำไมคุณดอนไม่ถามไถ่ให้แน่ใจ ไม่ซาวเสียงก่อนที่จะเดินหน้าจัดการประชุมให้รัฐมนตรีต่างประเทศจากรัฐบาลทหารพม่า

ทั้งๆ ที่รู้ว่าเพื่อนๆ ในอาเซียนหลายประเทศมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้

คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือรัฐบาลใหม่จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับเพื่อนเราในอาเซียนเพื่อไม่ให้เรื่องราวครั้งนี้กลายเป็น “ก้อนกรวดในรองเท้า” ของอาเซียนได้อย่างไร