รัฐปัตตานี กับกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี

หลังจากที่เส้นทางลำน้ำปัตตานีได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงหลัง พ.ศ.1900 ได้ทำให้ชัยภูมิของเมืองยะรัง ที่เป็นเมืองโบราณสำคัญ ในลุ่มน้ำปัตตานีเดิม ไม่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า และการเมืองการปกครองอีกต่อไป พร้อมกันกับที่ชุมชนในเขตปริมณฑลวัฒนธรรม และการเมืองของเมืองยะรังนั่นแหละนะครับ ที่ค่อยๆ ใหญ่โตขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่แทนที่ในที่สุด

ลักษณะในย่อหน้าข้างต้นสอดคล้องกับผลการสำรวจทางโบราณคดีที่ทำให้ทราบว่า บริเวณพื้นที่ตรงริมน้ำเก่าท้ายเมืองในเขตบ้านกรือเซะ (ซึ่งก็ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน คือ อ.ยะรัง แต่เมืองยะรังโบราณ ตั้งอยู่ในเขตบ้านจาเละ บ้านวัด และบ้านประแว) ไปออกทะเลที่บ้านปาเระนั้น มีร่องรอยของชุมชนโบราณริมฝั่งน้ำ และพบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา ที่มีอายุเก่าไปถึง พ.ศ.1900 ร่วมสมัยกับยุคต้นของกรุงอยุธยา

แสดงให้เห็นว่าลำน้ำปัตตานีตอนนั้น มาออกทะเลที่ในบริเวณนี้ โดยถือว่าเป็นลำน้ำที่สัมพันธ์กับปัตตานีในช่วงร่วมสมัยกับอยุธยาที่แท้จริง (ส่วนเมืองปัตตานีปัจจุบันที่ริมแม่น้ำปัตตานี และเมืองยะหริ่งริมแม่น้ำยะหริ่งนั้น เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในยุคร่วมสมัยกับกรุงรัตนโกสินทร์ลงมา)

และก็ลักษณะข้างต้นอีกเช่นกันนะครับ ที่สอดคล้องกับตำนานพื้นเมืองซึ่งอ้างว่า ได้มีการย้ายเมืองจากเมืองโบราณที่ชื่อ “โกตามัฮลีฆัย” มายัง “ปัตตานี” ในราวช่วงหลัง พ.ศ.1900 ซึ่งก็ดูจะเข้ากันได้ดีกับหลักฐานของโปรตุเกสที่อ้างว่า ปัตตานีสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1913

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่เมือง “โกตามัฮลีฆัย” ก็คืออีกชื่อมลายูของเมืองโบราณที่ยะรัง (ส่วนเอกสารต่างชาติมักเรียกยะรังด้วยชื่อสันสกฤตว่า “ลังกาสุกะ”) เพราะในเอกสารประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือของมลายูอย่าง ฮิกายัต ปาตานี (คือเอกสารพื้นเมืองที่ว่าด้วย ประวัติศาสตร์ปัตตานี) ได้กล่าวถึงเมืองนี้เอาไว้ด้ว

 

รัฐชายฝั่งแบบเมืองยะรังโบราณ หรืออีกหลายเมืองในวัฒนธรรมมลายู ทั้งที่เก่าแก่ไปถึงยุคศรีวิชัย และที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเมืองปัตตานีเก่า ที่บ้านกรือเซะนั้น มักเรียกในภาษาอังกฤษว่า “รัฐเปซิซีร์” (pesisir state, คำว่า “pesisir” เป็นภาษามลายู แปลว่า “ชายฝั่งทะเล” แต่ก็ใช้เรียกรัฐประเภทเดียวกันนอกโลกของความเป็นมลายู เช่น กลุ่มรัฐทางตอนเหนือของเกาะชวาก็ได้)

โดยปกติแล้วรัฐเปซิซีร์มักจะมีประชากรที่เบาบาง โดยส่วนใหญ่มักจะผลิตอาหารไม่พอหรือเกือบไม่พอ จึงต้องนำเข้าอาหารมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณี ทั้งจากต่างประเทศ หรือส่วนในของแผ่นดิน ซึ่งตนมีอำนาจควบคุมอยู่แต่เพียงในนามเท่านั้น

โดยในกรณีของปัตตานีนั้น ในยุคที่รุ่งเรืองจนมีชาวต่างชาติ และประชากรหนาแน่น ก็ต้องนำเข้าทั้งข้าวและเนื้อสัตว์ตากแห้งมาจากกรุงศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช เพื่อให้เพียงพอกับกำลังการบริโภคเลยทีเดียว

แต่รัฐเปซิซีร์เหล่านี้กลับมีเงื่อนไขสำคัญบางอย่าง ที่เคยทำให้ศรีวิชัยประสบความสำเร็จ เช่น การรักษาเส้นทางเดินเรือให้ปลอดภัยพอสมควรในระดับหนึ่ง การรวบรวมกำลังผู้คน ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่จะป้องกันตนเองจากการรุกราน หรือแทรงแซงจากมหาอำนาจภายนอก เป็นต้น

การที่เศรษฐกิจของรัฐชายฝั่งเหล่านี้ต้องอาศัยการค้าระหว่างภูมิภาคเป็นหลัก ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคที่การค้ารุ่งเรือง บางแห่งอาจจะประกอบขึ้นเป็นประชากรกว่าหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองทั้งหมด

แน่นอนว่านี่ย่อมหมายรวมถึง การเข้ามาของชาวจีน (ดังปรากฏมีร่องรอย เช่น ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กับมัสยิดกรือเซะ) และการนำเข้าวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ชนชาวมุสลิมที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญจนทำให้รัฐมลายูต่างๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก

เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “มลายู” ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองบนคาบสมุทรมลายูนั้น จึงไม่ต่างไปจากคำว่า “ไทย” เท่าไรนักหรอกนะครับ เพราะต่างก็ไม่ใช่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสมปนเปกันหลากชาติหลายภาษา เพียงแต่ดำรงชีวิตในกรอบเดียวกัน ที่เรียกรวมๆ ว่า วัฒนธรรมมลายู และหมายตนเองเป็นคนมลายูก็เท่านั้นเอง

 

ปัตตานีรุ่งเรืองทางด้านการค้าสูงสุดในช่วงระหว่าง พ.ศ.2000-2300 เช่นเดียวกับเมืองท่าอีกมากในอุษาคเนย์ ซึ่งก็ทำให้รัฐปัตตานีในช่วงระหว่าง พ.ศ.2100-2200 นั้น เข้มแข็งพอที่จะต้านการรุกรานของรัฐที่ใหญ่โตกว่าอย่าง “กรุงศรีอยุธยา” ได้เลยนะครับ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีประชากรต่างชาติต่างภาษาอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจีน ที่กลายมาเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่งในปัตตานี

และถึงแม้ว่า “ปัตตานี” กับ “อยุธยา” จะมีข้อพิพาทกันหลายครั้งในช่วงนี้ จนบางครั้งก็ถึงขั้นทำสงครามกัน โดยมีทั้งฝ่ายปัตตานีที่ยกทัพขึ้นไปตีอยุธยา และฝ่ายอยุธยาที่ลงไปตีปัตตานี แต่ที่จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายนั้นต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันในทางการค้าอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น ปัตตานีต้องการสินค้า อาหาร และของป่าจากอยุธยา เพื่อนำไปใช้เป็นสินค้าสำหรับตลาดจีน ในขณะที่อยุธยาก็ต้องการสินค้าจากเรือที่จอดแวะปัตตานี แต่ไม่ได้ขึ้นไปจอดแวะที่อยุธยาหรือมะริด (ปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า) โดยเฉพาะเรือจากอินเดีย และอาหรับ-เปอร์เซีย และเรือที่นำสินค้าเครื่องเทศจากหมู่เกาะต่างๆ ในเขตประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน เพราะการเป็นเมืองท่าที่สมบูรณ์แบบนั้น ย่อมต้องมีสินค้าที่หลากหลายจากแหล่งต่างๆ สำเภาเข้าจอดแวะแล้วสามารถรวบรวมสินค้าที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน

แน่นอนว่าทั้งอยุธยา และปัตตานี ต่างก็ต้องการเป็นเมืองท่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น การที่จึงต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอจึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรนัก

และในสถานะของการเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กกว่า ปัตตานีย่อมไม่สามารถคุกคามอยุธยาได้มากเท่ากับที่อยุธยาสามารถคุกคามตนเอง โดยเฉพาะเมื่ออยุธยาสามารถใช้กำลังในหัวเมืองฝ่ายใต้ นับตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปในการรบกวนปัตตานีได้นั้น

จึงทำให้ปัตตานีจำต้องเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์อยุธยาไว้มากกว่า เช่น มักจะส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง มาถวายหลังจากเสร็จสิ้นสงครามไปแล้ว

 

แต่เมื่อราวหลัง พ.ศ.2300 ที่ทำให้ตลาดการค้าของภูมิภาคหดแคบลงนั้น ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันก็หมดไป การค้าขายในปัตตานีก็เริ่มเกิดการเสื่อมโทรม ประชากรจำนวนไม่น้อยอพยพไปหาแหล่งทำกินที่อื่นจนจำนวนประชากรลดจ่ำลง เช่นเดียวกับมหาอำนาจอื่นในคาบสมุทรมลายูตอนล่างที่ก็อ่อนกำลังลงพร้อมกันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกสที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแห่งนี้ บริษัทฮอลันดา อะเจะห์ หรือยะโฮร์ จนทำให้ปัตตานีไม่สามารถหาอำนาจอื่นมาคานกับมหาอำนาจที่คุกคามตนได้สะดวก รัฐไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงเข้าสู่รัฐมลายูทางตอนเหนือได้ไม่ยาก จนสามารถยึดครองปัตตานีได้เป็นครั้งแรกในที่สุด

ลักษณะข้างต้น ทำให้วิธีปฏิบัติของรัตนโกสินทร์ต่อปัตตานีก็แตกต่างไปจากอยุธยาโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยทางการค้าเหมือนกับอยุธยา

ดังนั้น จึงทำให้จากความต้องการเพียงอำนาจกำกับอยู่ห่างๆ เช่นที่เป็นมาในช่วงก่อนหน้านี้ กลับกลายมาเป็นความพยายามที่จะควบคุมอย่างใกล้ชิดขึ้นแทน โดยมอบหมายให้เมืองสงขลาซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่เข้าควบคุมปัตตานี และแบ่งแยกปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เพื่อลดทอนกำลังของชนชั้นนำปัตตานีลง

จึงมีการมอบหมายให้ขุนนางทั้งไทย และมลายู ที่ไว้วางใจ ได้แบ่งกันปกครองแต่ละเมือง และมอบให้สุลต่านปัตตานี ได้ครองเมืองปัตตานีซึ่งเหลืออาณาบริเวณเล็กลง และมีฐานะเหมือนเจ้าเมืองอาวุโสสูงสุด แต่เพียงในนามเท่านั้น

พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช หรือ ตวนกู อับดุล กาเดร์ กามารุดดิน (Sultan Tengku Abdul Kadir Kamaruddin)

ต่อมาอังกฤษได้เริ่มแผ่อำนาจเข้ามาในมลายูบางพื้นที่ คือ ไทรบุรี มะละกา และสิงคโปร์ ทำให้ทางกรุงเทพฯ รู้สึกกังวล เพราะตามประเพณีทางการเมืองของรัฐมลายูเหล่านี้ จะสร้างความสัมพันธ์เชิงบรรณาการกับรัฐที่ใหญ่กว่า เพื่อให้เกิดดุลอำนาจขึ้นในรัฐของตนเอง

ลักษณะอย่างนี้ทำให้กรุงเทพฯ ต้องยิ่งเพิ่มมาตรการควบคุมหัวเมืองมลายูอย่างเข้มงวดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ขยายอิทธิพลออกไปในรัฐมลายูที่อยู่ใต้ลงไปจนถึงปะหัง เพื่อกันอังกฤษออกให้ห่างที่สุดเท่าที่จะทำได้

จนกระทั่งในเรือน พ.ศ.2445 รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ต้องการให้สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีและเจ้าเมืองอื่นๆ ของหัวเมืองมลายูพ้นออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งข้าหลวงไปปกครองแทน เจ้าเมืองส่วนใหญ่ยินยอม แต่สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีคือ ตวนกู อับดุล กาเดร์ กามารุดดิน (Sultan Tengku Abdul Kadir Kamaruddin) ไม่ยอมรับข้อเสนอ จึงได้ตั้งข้อหาเป็นกบฏ และถูกส่งตัวไปจองจำที่พิษณุโลก หลังจากได้รับการปล่อยตัวก็อพยพครอบครัวไปอยู่ที่กลันตัน อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของราชวงศ์กลันตัน ซึ่งครองปัตตานีมาตั้งแต่ พ.ศ.2231 และไม่กลับมาอีกเลย

แต่ในระยะนั้นยังเรียกได้ว่า ปัตตานียังอยู่ในสถานะพิเศษ เพราะไม่ถูกผนวกเข้าไปในระบบเทศาภิบาลอย่างเต็มที่นะครับ แต่ต้องรอจนกระทั่ง พ.ศ.2449 กรุงเทพฯ จึงค่อยตั้ง “มณฑลปัตตานี” ขึ้นมา โดยแบ่งออกเป็น 4 จังหวัด เท่ากับว่า ปัตตานี ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม ที่เพิ่งปฏิรูปเข้าสู่การเป็นชาติสมัยใหม่เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ แล้ว

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการยุบมณฑลปัตตานี แล้วรวมข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช เพื่อประหยัดงบประมาณ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ยกเลิกระบบเทศาภิบาล โดยยกเลิกมณฑล และให้จังหวัดทั้งหมดขึ้นตรงต่อรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพฯ โดยตรง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จึงล้วนแต่กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้นั่นเอง •