เมียนมาในโจทย์ใหม่ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ฝุ่นตลบอบอวลยังคลุ้งอยู่ในห้องประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (informal) ระหว่างประเทศอาเซียนบางประเทศ ชาติมหาอำนาจบางชาติคือ จีนและอินเดียที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นที่เมืองพัทยา เมืองตากอากาศที่เต็มไปด้วยบาร์ คาราโอเกะ และแหล่งบันเทิงเริงรมณ์ของผู้คนหลายชาติ หลายภาษามากมาย

ไม่มีข่าวสักนิดว่า เหล่าตัวแทนซึ่งไม่มีใครรู้ว่าระดับไหนของประเทศต่างๆ ที่มาประชุมและหาทางออกเรื่องเคร่งเครียดระดับโลก จะออกมาจากที่ประชุมที่ร้อนรุ่มนั้นมานั่งดื่ม กิน ฟังเพลงไพเราะ เจ๊าะแจ๊ะกับสาวน้อยสาวใหญ่ช่างพูดจาน่ารักสักแค่ไหน

พวกเขาไม่รู้ว่า เรื่องประชุมที่ไม่มีคำตอบใดๆ นั้นจะนำไปสู่อะไรที่มากกว่า ยากกว่า ใหญ่กว่าที่พวกเขาจะจัดการได้โดยลำพัง

ผมกำลังพูดถึงเมียนมาครับ

 

เมียนมาในโจทย์ใหม่

ตั้งแต่ผู้นำทหารเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการต่างประเทศของเมียนมาถูกหันเหด้วยทิศทางแสนอันตราย

เมียนมาทั้งประเทศลุกเป็นไฟจากการต่อต้านด้วยอาวุธแล้วทอดยาวต่อมาไปสู่การเกิดใหม่ของสงครามกลางเมือง (renew Civil War)

ความขัดแย้งทางการเมืองเปลี่ยนไปและขยายตัวออกไปสู่การจลาจลต่อต้านรัฐบาลทหาร

ด้วยกองกำลังโปรประชาธิปไตยกลุ่มใหม่ต่อสู้เคียงคู่กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ได้ทำการต่อสู้กับผู้ปกครองส่วนกลางของเมียนมามายาวนานหลายทศวรรษ ท่ามกลางการคุมเชิงทางทหารและยุทธศาสตร์ซึ่งกันและกัน ทั้งฝ่ายทหารของรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านกลุ่มต่างๆ ถูกกำหนดให้สู้กันอย่างนี้ ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศได้พยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย

แต่สันติภาพด้วยการเจรจาก็ไม่เคยปรากฏออกมา

กว่า 2 ปีแล้ว วิกฤตการณ์ทางการเมืองเมียนมาได้รับความสนใจน้อยจากทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน แม้เป็นช่วงเวลาการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของความขัดแย้งภายในเมียนมา

จนความตึงเครียดดังกล่าวขยายตัวออกไปถึงชาติมหาอำนาจด้วยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจึงแสดงการสนับสนุนกลุ่มโปรประชาธิปไตยในเมียนมา

แต่ด้วยข้อพิจารณาต่างๆ เชิงภูมิรัฐศาสตร์ ได้จำกัดความเต็มใจของชาติมหาอำนาจในการใช้การกำลังต่อทหารเมียนมา แม้ว่าจีนชื่นชอบเผด็จการทหารเมียนมาในบางกรณี แต่จีนเลือกเฝ้ารอคอยและเฝ้ามอง (wait and see) ด้วย

แต่การยับยั้งช่างใจนี้ของชาติมหาอำนาจทั้งสอง ตอนนี้ใช้การไม่ได้แล้ว

การรับรู้ที่ผิดพลาดต่อพัฒนาการหลายๆ อย่าง เป็นตัวบ่งชี้ว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาคือ ตัวแทน (proxies) อเมริกัน

ปักกิ่งกำลังมุ่งมั่นเพิ่มขึ้น ค้ำยันรัฐบาลทหารเมียนมา ผลอันนี้พวกฝรั่งเรียกว่า กระบวนการเป็นสงครามเย็น (Cold War-ization)1 คือ สงครามกลางเมืองกำลังเป็นที่สนใจจากภายนอก สอดแทรกด้วยการแข่งขันของอภิมหาอำนาจ แต่ละฝ่ายต่างหวาดกลัวว่า ความเฉื่อยชาจะเป็นประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่ง

นี่ทำให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศในอาเซียนยุ่งยาก

หนึ่งในหลักการสำคัญของอาเซียนคือ อาเซียนไม่ควรถูกบังคับให้เลือกระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คุณค่าหลักของกลุ่มคือ รักษาความสัมพันธ์อันดีต่อทั้งสองชาติมหาอำนาจ แต่สงครามกลางเมืองเมียนมาเป็นแง่มุมของความขัดแย้งตัวแทนสงครามเย็น แล้วสถานการณ์ที่นำโดยความไม่ตั้งใจของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในตอนแรก

ในไม่ช้าประเทศเพื่อนบ้านอาจเผชิญหน้าทางเลือกที่ถูกต้องแน่ชัดว่า มันไม่ใช่แค่ระหว่างทหารกับฝ่ายต่อต้านที่นิยมประชาธิปไตย แต่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

สำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร การปกป้องด้วยขุดหลุมล้อมรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นภาพลางๆ ให้เห็น อิทธิพลจีนลดลงและมีความไร้เสถียรภาพอย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ใหญ่กว่าสงครามกลางเมืองเมียนมา

ความเป็นจริงแล้ว การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนกำลังปรับเปลี่ยนสงครามการเมืองเมียนมา สู่อีกมิติหนึ่งที่ใหญ่และมีผลอย่างมากต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก

มีการตั้งคำถามว่า เมียนมาอาจกลายเป็น ด่านหน้าสงครามเย็นใหม่ หรือไม่

สหรัฐอเมริกาต่อต้านทหารเมียนมา แต่ก็ยังเป็นห่วงกับความแปลกแยกของพันธมิตรในภูมิภาค พวกเขาบางประเทศยังคงรักษาความผูกพันกับทหารเมียนมาหลังการทำรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงอเมริกันได้พบปะบรรดาผู้นำกลุ่มฝ่ายค้านต่อต้านชาวเมียนมา และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทำการแซงก์ชั่นเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเมียนมา

แต่การแซงก์ชั่นนั้นๆ ปราศจากการแตะต้องสินทรัพย์ล้ำค่าที่สุดของทหารเมียนมา ได้แก่ รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา บริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของที่ทำรายได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และสนองความต้องการยิ่งของรัฐบาลทหารในการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ

รัฐบาลอเมริกันแซงก์ชั่นอีกโดยการแซงก์ชั่นครั้งที่สอง 21 มิถุนายน 20232 กระทรวงการคลังสหรัฐแซงก์ชั่น Myanmar Oil and Gas Enterprise-MOGE และ Myanmar Foreign Trade Bank-MFTB3 และกับใครที่ทำธุรกิจกับทหารเมียนมา เช่น บริษัทพลังงานของไทยและบริษัทการเงินสิงคโปร์

การยับยั้งทหารเมียนมาของสหรัฐอเมริกาเหมือนหมายให้ประเทศอื่นในภูมิภาคสงบลง โดยเฉพาะประเทศไทย ที่รัฐบาลซึ่งมีอำนาจโดยทำรัฐประหารปี 2014 ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาและรักษาความผูกพันทางเศรษฐกิจใกล้ชิด

พันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาและหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิกได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่นได้พูดถึง ความกังวลของพวกเขาต่อวิกฤตการณ์เมียนมา แต่กลัวว่า การกดดันมากๆ จะเปิดทางให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้น ผลคือ พวกเขารักษา หรือในกรณีอินเดียขยายความผูกพันทางเศรษฐกิจและการทูตกับทหารเมียนมา และไม่ได้ให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านชาวเมียนมา

ไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกา จีนมองความวุ่นวายในเมียนมาด้วยความกำกวม ปักกิ่งสนุกกับความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ก่อนถูกโค่นล้ม จากการรับรู้ของจีน ประตูถัดไปที่จะเกิดขึ้นรุนแรงและทันทีจากสงครามกลางเมืองในเมียนมาคือจีน จีนมีพรมแดนร่วมกันกับเมียนมา 1,300 ไมล์ อันเป็นข่าวร้ายต่อเสถียรภาพภูมิภาคและสำหรับการลงทุนของจีนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในเมียนมาภายใต้ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) จีนเป็นและยังคงเป็นผู้ขายอาวุธอันดับ 1 ให้เมียนมา

แต่จีนก็ไม่ไว้วางใจทีเดียวผู้นำทหารเมียนมา ซึ่งจีนมองว่า คาดการณ์ไม่ได้อย่างมากด้วย

ปักกิ่งได้สนับสนุนบางกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธเมียนมา รวมทั้งยอมตามการค้าอาวุธใต้ดินตามแนวชายแดน

ด้วยเหตุผลนี้และเหตุผลอื่นๆ บรรดาผู้นำที่ปักกิ่งเลือกโอบล้อมสิ่งที่เสี่ยงไว้ในเมียนมาหลังรัฐประหาร แม้ปักกิ่งไม่เคยประณามทหารหรือเรียกร้องชัดๆ ให้เมียนมากลับสู่การปกครองโดยพลเรือน

พวกเขาเปิดช่องกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกดดันไม่ให้ยุบพรรคการเมืองที่นำโดยออง ซาน ซูจี4

เมื่อมีการต่อสู้กันระหว่างทหารกับกลุ่มชนกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธ แล้วนำไปสู่อุบัติเหตุต่อเมืองชายแดนจีน ปักกิ่งออกเตือนทหารว่า หากมีอุบัติเหตุอีกครั้งจะได้รับการตอบสนองที่จำเป็น5

มีรายงานว่า เมื่อ หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศเยือนเมียนมาช่วงฤดูร้อนปี 2022 เขาปฏิเสธเข้าพบกับมิน อ่อง ลาย ผู้นำทหารเมียนมา การเคลื่อนไหวถูกมองในเวลาว่า ดูแคลนทางการทูตครั้งสำคัญ

พรมแดน ชายแดน ผลประโยชน์ต่างๆ นานาที่ชอบอ้างกันภายใต้โจทย์ สงครามกลางเมือง รัฐบาลไทยมีพละกำลังและความสามารถปกป้องได้หรือ ยิ่งเมียนมาเองกำลังถูกการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนปรับเปลี่ยนเป็น ด่านหน้าสงครามเย็นใหม่ ที่ใหญ่กว่า กระทบมากกว่าเสียอีก

 


1ฝรั่งที่วิเคราะห์เช่นนี้คือ YE MYO HEIN เขาเป็น Visiting Scholar แห่ง the United State Institute of Peace และ LUCAS MYERS เขาเป็น Senior Associate ของ the Southeast Asia ที่ the Wilson Center สถาบันวิจัยด้านเอเชียศึกษา สหรัฐอเมริกา

2“Treasury Sanctions Burma’s Ministry of Defense and Regime Controlled Financial Institutions” Treasury News Press Release 21 June 2023

3กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวหาว่า กระทรวงกลาโหมเมียนมานำเข้าสินค้าและวัสดุมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่รัฐประหาร 2021

4ชื่อ the National League for Democracy

5ผู้เขียนได้ช้อมูลจากนักวิชาการจีนที่ร่วมไปภาคสนานชายแดนจีน-เมียนมาก่อนเกิดโควิด-19 ผู้นำจีนอ่อนไหวกับชายแดนด้านนี้ในหลายเหตุผล และไม่พอใจการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชาติพันธ์ติดอาวุธ และโกรธมากหากการสู้รบนั้นๆ เลยมาถึงหมู่บ้านคนจีนชายแดน และมักใช้กำลังทหารและอาวุธตอบโต้รุนแรง